xs
xsm
sm
md
lg

ดับไฟใต้ฝากความหวังไว้ไม่ได้กับ “รัฐบาลเป็ดง่อย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชงยงค์ มณีพิลึก
 
สถานการณ์ความไม่ปกติทางการเมืองที่เกิดขึ้น ณ กรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทยระหว่าง มวลมหาประชาชนหรือ “กองทัพนกหวีด ภายใต้การนำของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่อยู่ระหว่างการขับเคี่ยวกับพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ จนนำไปสู่การยุบสภาและการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ซึ่งยังไม่มีผู้ใดสามารถยืนยันได้ว่า จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และยังไม่มีใครบอกได้ว่ากองทัพนกหวีดจะเดินทางกลับบ้าน ณ วันไหน หรือจะ เคลื่อนไหวยืดเยื้อนานอีกเท่าไหร่สงครามของมวลมหาประชาชนจึงจะจบสิ้น
 
ดังนั้นการ “ไม่จบ ของกองทัพนกหวีด ณ คาบนี้จึงมีความ “คาบเกี่ยว กับสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน หรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
ประการแรก ความเป็นรัฐบาลรักษาการของ ครม.ชุดนี้ได้ทำให้การ “ขับเคลื่อนเพื่อการแก้ปัญหาทั้ง “ภายใน” และ “ภายนอกเกิดอาการ “ติดขัดมากบ้างน้อยบ้างตามแต่กรณี
 
เช่นการ “พูดคุยสันติภาพ ระหว่าง สมช.กับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งต้องหยุดชะงักงันไม่มีความก้าวหน้า เนื่องจาก ณ เวลานี้ของ สมช.โดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร คือการแก้ปัญหาความมั่นคงของรัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และความมั่นคงของพรรคเพื่อไทย มากกว่าความมั่นคงของประเทศชาติและประชาชน โดยเฉพาะคนบนแผ่นดินปลายด้ามขวาน
 
การเกิดความไม่มั่นคงทางการเมืองที่ “ส่วนกลาง” ย่อมสร้างความ “ฮึกเหิม” ให้กับกลุ่มผู้ที่เห็นต่างในพื้นที่ ในการกำหนดแนวทางเพื่อสร้างสถานการณ์ก่อเหตุความรุนแรงให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่เห็นชัดเจนคือการที่ “แนวร่วม แขวนป้ายผ้าในพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อสร้างสถานการณ์เยาะเย้ยรัฐไทยได้อย่างง่ายดาย
 
และความไม่มั่นคงของการเมืองในส่วนกลางย่อมส่งผลให้เกิดระบบ “เกียร์ว่างขึ้นในมวลหมู่ของ “ข้าราชการทุกฝ่าย เพราะไม่มั่นใจว่าในที่สุดแล้วฝ่ายไหนจะได้รับชัยชนะ และได้เป็น รัฐบาลในอนาคต ซึ่งลักษณะนี้คือ “วัฒนธรรมขององค์กรทุกแห่งในประเทศนี้
 
ดังนั้น บริบททั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นจึงส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการ “ยุติ สถานการณ์ ความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสิ้น
 
สิ่งที่ต้องจับตามองต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ที่แผ่นดินปลายด้ามขวานคือ การออกมา เคลื่อนไหวของ “เครือข่ายชาวไทยพุทธ จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ออกมาเรียกร้องไปยังรัฐบาลและฝ่ายผู้เห็นต่างจำนวน 4 ข้อด้วยกัน ดังนี้
 
1. ขอให้กองกำลังติดอาวุธทุกฝ่ายยุติความรุนแรงต่อพี่น้องผู้บริสุทธิ์ 2. ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการก่อเหตุรายวันในพื้นที่ 3. ในช่วงที่เป็นสุญญากาศทางการเมือง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นพิเศษ 4. เครือข่ายยืนยันการสนับสนุนการพูดคุยเพื่อสันติภาพต่อไป โดยเชื่อว่ายังเป็นทางออกสำคัญในการลดและยุติความรุนแรง และ 5. ขอเรียกร้องให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นฯ และกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ รับข้อเสนอของประเทศไทย โดยให้ออกเป็นมติของสภาบีอาร์เอ็นฯ ว่าจะไม่ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ และมีความพยายามสูงสุดที่จะควบคุมกองกำลังของตนเองไม่ให้ก่อเหตุความรุนแรงแก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์อีกต่อไป
 
โดยตัวแทนเครือข่ายชาวไทยพุทธยังกล่าวด้วยว่า เข้าใจดีว่าหนทางของขบวนการสันติภาพต้องใช้เวลาและความอดทน มีแรงเสียดทาน มีปัญหาอุปสรรคและมีความท้าทายต่างๆ นานา จึงขอให้กำลังใจแก่คณะเจรจาทั้งสองฝ่าย
 
การออกมาเคลื่อนไหวของคนไทยพุทธ ซึ่งเป็นสังคมเล็กในสังคมใหญ่ของสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้เห็นเกิดขึ้นบ่อยนัก ซึ่งสาเหตุขอการออกมาเรียกร้องเชื่อว่าเป็นเพราะความ “สุดทนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
 
เนื่องจากในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้มีคนไทยพุทธเสียชีวิตเพิ่มขึ้น และเห็นชัดเจนว่าเหยื่อขอ สถานการณ์กำลังกลับเข้าสู่รูปแบบในอดีต นั่นคือเหตุการณ์ฆ่าชาวไทยพุทธ 5 ศพที่ ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เนื่องจากแนวร่วมต้องการที่จะ “เอาคืนและ แก้แค้นต่อกรณีที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ปฏิบัติการต่อแนวร่วมในพื้นที่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแนวร่วมยกเลิก “พันธสัญญาที่เคยให้ไว้กับ สมช.ในการพูดคุยสันติภาพที่ ประเทศมาเลเซียว่า จะ ไม่ทำร้ายเป้าหมายที่ “อ่อนแอคือภาคประชาชน
ณ เดือนสุดท้ายของปี 2556 สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ปลายด้ามขวานกำลังกลับเข้าสู้ “สภาพเดิม” นั่นคือ การโจมตีเจ้าหน้าที่ด้วยระเบิดแสวงเครื่องและอาวุธปืน รวมถึงการ “เล็ง เป้าหมายไปยังไทยพุทธที่กลายเป็น “ตัวประกัน เช่นถ้าเจ้าหน้าที่รัฐปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมแนวร่วมเกิดขึ้น แนวร่วมในพื้นที่ก็จะ “เอาคืน กับประชาชนผู้บริสุทธิ์ในทันที
 
ดังนั้นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และขออย่าให้เกิดขึ้นอีกคือการเล็งเป้าหมายไปที่กลุ่ม “ครู” “โรงเรียน” “วัด” และ “พระภิกษุ” อย่างที่เคยตกเป็นเป้าของการก่อเหตุเพื่อเป็นการ “ตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหลายฝ่ายยังไม่แน่ใจว่าแนวร่วมยังเชื่อฟังแกนนำบีอาร์เอ็นฯ ที่เคยรับปาก สมช.ได้นานขนาดไหน
 
เพราะการที่เวทีการพูดคุยที่ไม่มีการ “ขับเคลื่อนอาจจะทำให้ “พันธสัญญาด้วย “วาจาหมดความ ขลังและความ “ชอบธรรมในที่สุด
 
สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสนใจคือ การออกมาเรียกร้องของกลุ่มคนเล็กๆ ในสังคมใหญ่ของชายแดนใต้คือ ชาวไทยพุทธที่เคยมีอยู่ 20% หรือประมาณ 200,000 คน ที่ขณะนี้อาจจะเหลืออยู่ที่ราว 60,000 คน หรืออาจจะน้อยกว่านั้น เพราะสถานการณ์ที่คนกลุ่มเล็กๆ ได้กลายเป็นเหยื่อ กลายเป็นตัวประกัน ในสถานการณ์ของ “สงครามประชาชนได้ทำให้เกิดการ “อพยพ หลบหนีจนหลายชุมชน หลายหมู่บ้านของชาวไทยพุทธกลายเป็น “อดีต และอาจจะไม่หวนคืนมาอีกเลยก็ได้ถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นอยู่อย่างที่เห็น
 
เมื่อ “รัฐบาลรักษาการณ์เป็นได้เพียง “เป็ดง่อย ในขณะที่ข้าราชการประจำตกอยู่ในสภาพของ “เกียร์ว่างจึงเหลือเพียง กองทัพ” ที่มี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เท่านั้นที่ต้อง “เป็นหลักให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่เป็นเป้าหมาย “อ่อนแอ โดยเฉพาะกับชาวไทยพุทธที่เป็นคนใน “สังคมเล็กที่จะต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกับคนใน “สังคมใหญ่
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น