xs
xsm
sm
md
lg

พบ “สนิม” ปลียอดทองคำองค์พระธาตุฯ นคร ไหลเยิ้มรอบสอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช -พบสนิมทองคำพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ไหลเยิ้มรอบสอง เจ้าอาวาสเร่งกรมศิลป์แก้ปัญหา ก่อนถึงมาฆบูชา
 

วันนี้ (12 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พุทธศาสนิกชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช ต่างกังวลกับคราบสนิมที่ปรากฏอีกครั้งบนปล้องไฉนใต้กลีบบัวคว่ำบัวหงายทองคำ ที่รองรับปลียอดทองคำองค์พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ทั้งที่เพิ่งผ่านการตรวจสอบปลียอดทองคำ รวมทั้งทำความสะอาดแผ่นทองคำ รวมทั้งบูรณะปล้องไฉนที่คราบสนิมจับจนเห็นได้ในระยะไกล โดยพบสาเหตุคือ โครงเหล็กติดตั้งรอกที่ถูกติดตั้งภายหลัง รัดปลียอดทองคำอยู่ในสภาพสนิมเกรอะกรัง ทำให้ช่างสิบหมู่เชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญของคราบสนิมที่ไหลเยิ้มรอบปล้องไฉนอย่างรุนแรงในครั้งนั้น และเมื่อมีคราบสนิมเกิดขึ้นอีกครั้งยิ่งทำให้เกิดกังวล และข้อสงสัยถึงสาเหตุที่ทำให้คราบสนิมเกิดขึ้นอีกรอบ

ด้านพระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร รองเจ้าคณะภาค 16, 17, 18 (ธรรมยุติ) เปิดเผยว่า ครั้งแรกที่ทางช่าง 10 หมู่ ขึ้นไปล้างพบว่ายังล้างไม่หมดฟังที่ช่างชี้แจงได้ความว่า หากรื้อเกรงว่าแผ่นทองจะพังออกมา เมื่อสนิมไม่หมดพอฝนตกจึงไหลเยิ้มออกมาอีก ซึ่งได้หารือกับทางกรมศิลป์พบว่าต้องล้างอีก แต่ยังไม่ลงในรายละเอียดทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของช่าง 10 หมู่ ที่จะต้องมาดำเนินการ และจะต้องหาทุนในการสร้างนั่งร้านขึ้นไป ซึ่งต้องใช้งบประมาณ แต่จะต้องสำเร็จก่อนที่จะถึงวันมาฆบูชา 14 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อจะได้นำผ้าขึ้นผ้าห่มองค์ระฆัง

แม้ในทางเทคนิควิทยาศาสตร์โบราณคดี จะเชื่อว่ายังมีสนิมที่ตกค้างอยู่ใต้แผ่นทองคำที่ซ้อนทับเป็นชั้นๆ ประกอบเป็นปลียอดทองคำ ซึ่งต้องบูรณะครั้งใหญ่อีกครั้งเช่นเดียวกับเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ภาระใหญ่ข้างหน้าของทุกฝ่ายที่มีการเตรียมการ คือ การผลักดันพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เป็นมรดกโลก โดยมีบริบทการสืบทอดประเพณีที่ยังมีชีวิตมายาวนาน ในวันมาฆบูชาช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 จะเป็นแรงขับดันสำคัญในการเข้าเป็นมรดกโลก

ขณะเดียวกัน นายปัญญา พูลศิริ หัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า สาเหตุหลักที่เกิดสนิมนั้นเกิดจากความชื้น ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเด็นคือ น้ำฝนที่ตกชะล้างลงมาไปซึมร่องรอยตกค้างของสนิมเดิม และปริมาณน้ำที่ทำปฏิกิริยากับสารเคมีทำให้เกิดร่องรอย ขณะนี้ได้ประสานกับกลุ่มวิทยาศาสตร์โบราณคดีของศิลปากรมาตรวจสอบหาข้อมูลเพื่อนำไปสู่การป้องกันในขณะนี้

นายปัญญา กล่าวต่อว่า จุดที่มีปัญหามากที่สุดคือ รอยต่อแต่ละช่วงของปลีทองคำเพราะความชื้นจะไปตกค้างอยู่ที่นั่น การแก้ไขจะต้องหาไปตามร่องรอยทางเข้าของความชื้น หลังจากนั้นจะหาวิธีการบล็อกป้องกันให้มากขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าส่วนที่สำคัญที่จะต้องมาประกอบกันนอกเหนือจากความสมบูรณ์พร้อมของโบราณสถานที่จะเป็นมรดกโลกแล้ว คือ เอกสารที่จะต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก ล่าสุด มีความคืบหน้าไปแล้วตามลำดับ และเตรียมสรุปจัดทำเป็นรูปเล่มโดยจะต้องผ่านการสังเคราะห์จากนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้น ในเดือนมิถุนายน 2557 จะรู้ผลว่า พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช จะเป็นมรดกโลกได้หรือไม่
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น