xs
xsm
sm
md
lg

ชมรมศิลปินพื้นบ้านพัทลุงร่วมยินดี “หนังก้องฟ้า” หนังตะลุงรับถ้วยพระราชทาน “สมเด็จพระเทพฯ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พัทลุง - สมาชิกชมรมศิลปินพื้นบ้าน จ.พัทลุง พร้อมประชาชน และเพื่อนหนังตะลุง ร่วมแสดงความยินดีกับ นายสมหมาย ทองหนู หรือหนังก้องฟ้า ดาราศิลป์ ที่บ้าน เนื่องโอกาสชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ ในงานประชันหนังตะลุง จ.นครศรีฯ ปี 2556 พร้อมจัดตั้งเวทีให้สมาชิกชมรมได้ผลัดแสดงหนังตะลุงให้ชาวบ้านได้ชม
 
วันนี้ (11 พ.ย.) ที่บ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 8 ต.ลำสินธ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง นายสมนึก คำเกลี้ยง หรือนายหนังขุนทอง น้องประเสริฐ ประธานชมรมศิลปินพื้นบ้านจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วยสมาชิกชมรมประมาณ 50 คน เดินทางไปร่วมแสดงความยินดีกับ นายสมหมาย ทองหนู หรือหนังก้องฟ้า ดาราศิลป์ เนื่องในโอกาสได้สมัครเข้าประชันหนังตะลุง ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานประชันหนังตะลุง งานประเพณีเทศกาลบุญเดือนสิบ ฉลองพระบรมธาตุสู่มรดกโลก และงานกาชาด จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำปี 2556 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยวันนี้ นายหนังก้องฟ้า ได้เชิญถ้วยพระราชทานฯ ออกมาวางนอกบ้าน และจัดสถานที่สวยงามเหมาะสมเพื่อให้ประชาชน และเพื่อนหนังตะลุงได้ชื่นชมแสดงความยินดี พร้อมทั้งจัดตั้งเวทีให้สมาชิกชมรมศิลปินพื้นบ้านได้ผลัดเปลี่ยนกันแสดงหนังตะลุงให้ชาวบ้านได้ชมอีกด้วย
 
นายสมนึก หรือหนังขุนทอง น้องประเสริฐ กล่าวว่า จังหวัดพัทลุง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองหนังตะลุงจังหวัดเดียวของภาคใต้ และปัจจุบัน ก็ยังมีคณะหนังตะลุงที่ทำการแสดงอยู่ตามงานต่างๆ กว่า 100 คณะ เป็นหนังตะลุงที่มีชื่อเสียง และยังคงอนุรักษ์รูปแบบของการแสดงหนังตะลุงเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงก็ยังก็ยังใช้ดนตรี 5 ชิ้น เป็นหลัก การเดินเรื่องสอดแทรกให้ความรู้แก่ผู้ชม การเชิดรูปหนังตะลุง และการสร้างความบันเทิง
 
ประธานชมรมศิลปินพื้นบ้านจังหวัดพัทลุง กล่าวอีกว่า คณะหนังตะลุงที่มีอยู่ในจังหวัดก็เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์การแสดงหนังตะลุง หลายคณะก็ได้ผ่านการประชันหนังตะลุงคว้ารางวัลชนะเลิศมาหลายสนาม แต่ที่ถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดของหนังตะลุงนั้น เป็นรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเจ้าภาพจัดประชันหนังตะลุงเป็นประจำทุกปี สำหรับปีนี้ มีหนังตะลุงจากจังหวัดพัทลุง และหลายจังหวัดในภาคใต้ เข้าประชันแสดงหนังตะลุงชิงถ้วยพระราชทานฯ ผลการประชันรอบชิงชนะเลิศ หนังก้องฟ้า ดาราศิลป์ หนังตะลุงชื่อดังของจังหวัดพัทลุง ก็ชนะเลิศครองถ้วยพระราชทานฯ ประจำปี 2556 และเป็นรางวัลถ้วยพระราชทานฯ ใบที่ 5 ของหนังตะลุงในจังหวัดพัทลุง ถ้วยพระราชทานฯ ใบแรก นายทวี ย้อยแก้ว หนังทวี พรเทพ ชนะเลิศที่จังหวัดตรังเมื่อปี พ.ศ.2535 ใบที่ 2 นายผวน เส้งนนท์ หนังผวน สำนวนทอง ประชันชนะเลิศที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2538 ใบที่ 3 หนังจูเลี่ยม เสียงเสน่ย์ ชนะเลิศ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2553 ใบที่ 4 นายวิเชียร เกื้อมา หนังวิเชียร ตลุงเสียงทอง ชนะเลิศ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.2554 และปีนี้ นายสมหมาย ทองหนู หนังก้องฟ้า ดาราศิลป์ ชนะเลิศถ้วยพระราชทานฯ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งคณะหนังได้สร้างผลงาน และนำความภาคภูมิใจมาสู่ชาวจังหวัดพัทลุง
 
สำหรับหนังก้องฟ้า ดาราศิลป์ อายุ 59 ปี เป็นหนังตะลุงที่มีชื่อเสียง มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ด้านการแสดงหนังตะลุงมาแล้วกว่า 30 ปี และรับรางวัลชนะเลิศการประชันหนังตะลุงมาแล้วหลายรางวัล ก่อนหน้านี้ ก็ได้รับการคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้เป็นหนังตะลุงดีเด่น ประจำปี 2554 มาปีนี้ชนะเลิศถ้วยรางวัลพระราชทานฯ ก็เป็นรางวัลสูงสุดของหนังตะลุง
 
ทางด้าน นายวิเชียร หรือหนังวิเชียร ตลุงเสียงทอง หนังตะลุงถ้วยพระราชทานฯ กล่าวว่า ถ้วยรางวัลพระราชทานฯ หนังตะลุง ก็เป็นรางวัลสูงสุดของชีวิต แต่กว่าจะผ่านการคัดเลือกให้ได้สิทธิเข้าประชันก็มีอยู่หลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ส่งแผ่นซีดีเข้าคัดเลือก มีการแสดงประชันในรอบแรก นำผู้ชนะเลิศแต่ละคืนมาสู่รอบชิงชนะเลิศ และกติกาการตัดสินของคณะกรรมการก็ละเอียดอ่อน และจะไม่ให้ความสำคัญกับผู้ชมที่นั่งชมอยู่หน้าโรง เพราะคะแนนผู้ชมมีเพียง 10 คะแนนเท่านั้น อีก 90 คะแนน ก็อยู่ที่การแสดงที่ถูกต้องตามรูปแบบของหนังตะลุง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีประกอบการแสดง การโหมโรง การเดินเรื่อง การเชิดรูป นวนิยายที่นำมาแสดง จะต้องสอดแทรก ให้ความรู้ เป็นคติเตือนใจ และที่สำคัญ หนังตะลุงจะต้องสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ชม เพราะฉะนั้นหนังตะลุงที่จะผ่านเข้าไปประชันชิงถ้วยพระราชทานฯ จะต้องศึกษาหาความรู้ ทันต่อเหตุการณ์ และเป็นผู้ที่ทันสมัยและจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการแสดงหนังตะลุงโดยแท้จริง
 
นายสมหมาย ทองหนู หรือหนังก้องฟ้า ดาราศิลป์ แชมท์หนังตะลุงถ้วยพระราชทานฯ กล่าวว่า การแสดงหนังตะลุงก็ชื่นชอบ และอยู่ในสายเลือดมาก่อนแล้ว เพราะเชื้อสายก็เป็นหนังตะลุง โดยเฉพาะคุณตาก็เป็นหนังตะลุงที่มีชื่อเสียง เมื่อมีโอกาสก็ได้เรียนรู้ และได้เข้าฝึกหนังตะลุงกับอาจารย์หนังประดับศิลป์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 และก็ได้ทำการแสดงหนังตะลุงมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับรางวัลประชันหนังตะลุงนั้น ชนะเลิศถ้วยรางวัลมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดพัทลุง สุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2547 ได้รับการคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา ให้รับรางวัลศิลปินดีเด่น สาขาหนังตะลุง มาปีนี้ชนะเลิศรางวัลถ้วยพระราชทานฯ ก็จะพยายามศึกษาเรียนรู้และพัฒนาการแสดงให้ดียิ่งขึ้น โดยจะอนุรักษ์การแสดงของหนังตะลุงให้เป็นไปตามรูปแบบของหนังตะลุงโดยแท้จริง เพื่อลูกหลานจะได้ศึกษาและเรียนรู้สืบไป




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น