โดย...บุญเสริม แก้วพรหม
๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
ในสถานการณ์การเคลื่อนไหวของประชาชนที่คัดค้านการกระทำของรัฐ และบริวารที่ไม่ชอบธรรม บ่อนทำลายความมั่นคง และบรรทัดฐานทางศีลธรรมของบ้านเมือง รวมถึงพฤติกรรมแอบอ้างเอาคำว่าประชาธิปไตยเสียงข้างมากในรัฐสภา กระทำการโดยไม่ชอบมาพากลนานัปการ ทั้งนี้โดยเป้าหมายสุดท้ายของประชาชนอยู่ที่การปฏิรูปประชาธิปไตย และปฏิรูปประเทศไทยนั้น
มีกระแสเรียกร้องให้ “ครูอาจารย์” ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับประชาชนอย่างหนาหู...แม้ว่าครูอาจารย์ส่วนใหญ่จะเห็นด้วย แต่โดยกรอบระเบียบวินัยของความเป็นข้าราชการทำให้ไม่อาจ (หาญพอที่จะ) ออกมาเคลื่อนไหวอย่างชัดแจ้งดังกล่าวได้มากนัก
เมื่อครูอาจารย์เป็น “ข้าราชการ” เป็นข้าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีภาระหน้าที่สนองงานตามพระราชปณิธานของพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ดังนั้น การเข้าร่วมขับเคลื่อนให้บ้านเมืองเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องดีงาม เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง และประโยชน์สุขของประชาชน จึงถือเป็นภาระหน้าที่ที่พึงกระทำ และเป็นสิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ
คำถามว่า...“ในความเป็นครูอาจารย์สามารถจะขับเคลื่อนให้สมฐานะ และสอดคล้องได้อย่างไรบ้าง?”
คำตอบว่า...มีหลากหลายช่องทาง แต่ช่องทางหนึ่งที่ทำได้ทันทีคือ “ห้องเรียนประชาธิปไตย”
เพราะว่าเป็นการดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ของครูอาจารย์ผู้สอนตามที่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดไว้แล้ว กล่าวคือ…
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ได้กำหนด “จุดหมาย” ในการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนบรรลุไว้ ๕ ข้อ ดังนี้
๑.มีคุณธรรมจริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัย และปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาที่ตนนับถือ ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
๒.มีความรู้อันเป็นสากล และมีความสามารถในการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี และมีทักษะชีวิต
๓.มีสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี มีสุขนิสัย และรักการออกกำลังกาย
๔.มีความรักชาติ มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทย และพลเมืองโลก ยึดมั่นในวิถีชีวิต และการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
๕.มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรม และภูมิปัญญาไทย การอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม มีจิตสาธารณะที่มุ่งทำประโยชน์ และสร้างสิ่งดีงามในสังคม และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข
ลองไล่ดูใน “จุดหมายของหลักสูตร” ทั้ง ๕ ข้อแล้ว ไม่มีข้อใดที่ขัดแย้งกับ “ห้องเรียนประชาธิปไตย” ที่ว่าเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ ๑ ข้อ ๔ และข้อ ๕ เป็นจุดหมายที่ตรงตัว ชัดเจนและต้องดำเนินการ!
ในภาวะการเรียนการสอนปกตินั้น เนื้อหาว่าด้วย “ประชาธิปไตย” จะกำหนดไว้เป็นหลักอยู่ในกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โดยเฉพาะสาระที่ ๒ หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตในสังคม ซึ่งกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ไว้อย่างชัดเจน ๒ ข้อคือ
๑.เข้าใจ และปฏิบัติตนตามหน้าที่ของการเป็นพลเมืองดี มีค่านิยมที่ดีงาม ธำรงรักษาประเพณีและวัฒนธรรมไทยดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมไทย และสังคมโลกอย่างสันติสุข
๒.เข้าใจระบบการเมืองการปกครองในสังคมปัจจุบัน ยึดมั่น ศรัทธา และธำรงรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
แต่ในภาวะวิกฤตของบ้านเมือง และต้อง “ปฏิรูปประเทศไทย” นั้น “ห้องเรียนประชาธิปไตย” จำเป็นต้องอยู่ในทุกชั่วโมง และทุกกลุ่มสาระ โดยอาศัยกรอบการดำเนินการของหลักสูตรที่กำหนดให้ทุกกลุ่มสาระต้องพัฒนานักเรียนให้บรรลุ “คุณลักษณะอันพึงประสงค์” ๘ ประการ ดังนี้
๑.รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
๒.ซื่อสัตย์สุจริต
๓.มีวินัย
๔.ใฝ่เรียนรู้
๕.อยู่อย่างพอเพียง
๖.มุ่งมั่นในการทำงาน
๗.รักความเป็นไทย
๘.มีจิตสาธารณะ
“ห้องเรียนประชาธิปไตย” ที่ว่านั้นเป็นฉันใด?
ห้องเรียนประชาธิปไตย เป็นการบูรณาการการเรียนการสอนในทุกกลุ่มสาระ โดยสอดแทรกจุดประสงค์ และเนื้อหาสาระการเรียนรู้เรื่องคุณธรรมจริยธรรม ค่านิยมอันพึงประสงค์ จิตสำนึกความรักชาติ รักความเป็นไทย ตระหนักในสิทธิ และหน้าที่ของพลเมือง ตลอดจนวิถีประชาธิปไตย โดยมีหลักการ และประเด็นสาระที่สำคัญ เช่น
๑.ประชาธิปไตยแบบไทยที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย และเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น
๒.ประชาธิปไตย ต้องมุ่งเน้นทั้งรูปแบบและเนื้อหา
- ประชาธิปไตยโดยรูปแบบ คือ การใช้สิทธิเลือกตั้ง แนวทางของประชาธิปไตยในสภา และประชาธิปไตยนอกสภา
- กระบวนการประชาชน และประชาธิปไตยนอกสภา เป็นสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ
- ประชาธิปไตยโดยเนื้อหา คือ การสร้างวิถีชีวิตประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสำนึกในจิตวิญญาณของนักประชาธิปไตย ๓ ประการ คือ คารวธรรม ปัญญาธรรม และสามัคคีธรรม
๓.ประชาธิปไตยในระบบการเลือกตั้ง
- สิทธิและหน้าที่ในการออกเสียงเลือกตั้ง
- ภัยร้ายต่อชาติบ้านเมืองที่มาจากการปล่อยให้เกิดการซื้อเสียงขายสิทธิ
- นักการเมืองมีหน้าที่จะต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติ และประชาชนเท่านั้น ไม่มีสิทธิที่จะใช้อำนาจที่ได้รับจากประชาชนไปรับใช้กลุ่มผลประโยชน์ใดเป็นการส่วนตัว
- ประชาธิปไตยไม่ใช่การใช้เสียงข้างมากลากไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว และพวกพ้อง
- ประชาธิปไตยเสียงข้างมากต้องรับฟังคำทักท้วงของเสียงข้างน้อย และประชาชน มิฉะนั้นก็จะเป็น “เผด็จการรัฐสภา” ซึ่งเลวร้ายยิ่งกว่าเผด็จการใดๆ
- อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และประชาชนยังคงถือสิทธิในอำนาจนั้นได้โดยตลอด มิใช่เฉพาะหน้าหีบการเลือกตั้งเท่านั้น
- ฯลฯ
ผลที่คาดหวังจาก “ห้องเรียนประชาธิปไตย” จะเป็นทางรอดของบ้านเมืองได้อย่างไร?
ถ้าหากครูอาจารย์ได้ช่วยกันอย่างเต็มแรงในบทบาทหน้าที่ของความเป็นครู เปิด “ห้องเรียนประชาธิปไตย” ขึ้นในโรงเรียน ก็จะเป็นการสร้างทางรอดให้แก่บ้านเมือง นำบ้านเมืองสู่การปฏิรูปประเทศได้อย่างมั่นคงยั่งยืน เพราะว่า...
- ได้สร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่เป็น “ต้นกล้าประชาธิปไตย” ที่มีความรู้ และจิตสำนึกประชาธิปไตยตามที่คาดหวัง และได้ทำหน้าที่แบกรับภาระของบ้านเมืองในอนาคต
- เป็นต้นแบบให้ประชาชน และสังคมได้ศึกษาเรียนรู้ ตื่นรู้ และรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกงของนักการเมือง
- เป็นการร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ และยืนยันในสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนที่จะทำหน้าที่เพื่อปกป้องบ้านเมืองให้พ้นจากภัยร้ายนานา
- เป็นกระแสที่จะกำหนดพฤติกรรมของนักการเมืองให้อยู่ในกรอบกติกา และตระหนักในการทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเท่านั้น
- ฯลฯ
จึงฝากเชิญชวนถึงพี่น้องเพื่อนครูอาจารย์ทุกท่าน ได้ร่วมมือร่วมใจกันเปิด “ห้องเรียนประชาธิปไตย” ในห้องเรียนที่ท่านสอนอยู่ตั้งแต่วันนี้นะครับ...เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสู่การปฏิรูปประชาธิปไตย และปฏิรูปประเทศไทย
รวมถึงการก้าวข้ามวาจาสามหาวของ “ลูกศิษย์อกตัญญู” ที่จาบจ้วงว่า “ครูอาจารย์โง่ๆ” ไปในคราวเดียวกัน!