xs
xsm
sm
md
lg

EOD ที่ชายแดนใต้ “นักรบ” ที่รัฐเมิน?! / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจาก httpwww.isranews.org
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
เรื่องความสูญเสีย เรื่องสถานการณ์ความรุนแรง ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขียนเมื่อไหร่ก็ไม่สาย เช่นเดียวกับเรื่องความสูญเสียของชุดเก็บกู้ระเบิด “เห่าดง” ของ จ.นราธิวาส ที่มี “ดาบแชน” หรือ ร.ต.ต.แชน วรงคไพสิฐ เป็นหัวหน้าชุด ที่ต้องกลายเป็นเครื่อง “บัดพลี” ให้แก่กลุ่มก่อการร้ายรวม 3 ศพด้วยกัน ซึ่งนับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และของ ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นเดียวกับความสูญเสีย พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา หรือ “จ่าเพียร” ตำรวจ “นักสู้แห่งบันนังสตา” เมื่อหลายปีก่อน
 
เหตุผลคือ ร.ต.ต.แชน วรงคไพสิฐ เป็นตำรวจชุดเก็บกู้ระเบิดในสนามรบของจังหวัดชายแดนภาคใต้มายาวนาน มีประสบการณ์ เชี่ยวชาญในการเก็บกู้วัตถุระเบิด และเป็นผู้ที่ “เสียสละ” เอา “ชีวิต” เข้าแลกกับการลดความสูญเสียของเจ้าหน้าที่ และประชาชนมาโดยตลอด ในชีวิตของการ “คลุกคลี” อยู่กับ “กับระเบิด” ผ่านการเก็บกู้ระเบิดมาแล้วกว่า 200 ครั้ง ก่อนที่จะพบกับความสูญเสียพร้อมกับเพื่อนร่วมทีมอีก 2 คน
 
ที่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเขียน เพื่อที่จะสะท้อนให้สังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้  เห็นถึงความขาดแคลนบุคลากร เครื่องมือ ยุทโธปกรณ์ที่ต้องใช้ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อลด “ความเสี่ยง” และป้องกันความสูญเสียของบุคลากร
 
โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ระเบิด เป็นบุคลากรที่มีคุณค่า และกว่าจะสร้างขึ้นมาได้แต่ละคน กว่าจะได้ผู้ที่ยอม “พลีชีพ” ต่อการปฏิบัติหน้าที่เก็บกู้ระเบิดได้ มิใช่จะได้มาง่ายๆ
 
ยิ่งในขณะนี้การประกอบระเบิดของกลุ่มก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยิ่งสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ระเบิดลูกเดียวอาจจะมีการต่อวงจรเพื่อบังคับการระเบิดถึง 3 ชนิด เช่น จุดระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ จุดระเบิดด้วยการตั้งเวลากับนาฬิกา และจุดระเบิดด้วยรีโมตคอนโทรล รวมทั้งยังมีกับระเบิดชนิดต่างๆ ทั้งที่ใช้การจุดด้วยแบตเตอรี่อย่างที่ทำให้ นายอิศรา ทองธวัช  รอง ผวจ.ยะลา เสียชีวิตในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อหลายเดือนก่อน และยังมีรูปแบบอื่นๆ ของการทำระเบิดแสวงเครื่องอีกหลายรูปแบบ
 
ที่สำคัญการวางกับระเบิดของกลุ่มผู้ก่อการร้ายในปัจจุบัน ไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนตายตัวว่าจะวางไว้กี่ลูก ในบริเวณที่พบระเบิด โดยเฉพาะระเบิดลูกที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็น “กับดัก” เจ้าหน้าที่ ซึ่งเข้าไปตรวจสอบเหตุการณ์ เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ และเข้าไปเพื่อ “เก็บกู้” ล้วนแต่เป็นการต้องอาศัยประสบการณ์ การคาดคะเน ซึ่งต้องอาศัยความ “เชี่ยวชาญ” ของเจ้าหน้าที่ในชุดเก็บกู้ระเบิดทั้งสิ้น
 
และที่สำคัญกว่านั้นคือ นับตั้งแต่ต้นปี 2556 เป็นต้นมา เป้าหมายของ “แนวร่วม” ก่อการร้ายคือ ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดทุกชุดในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี 2556 มีชุดเก็บกู้ระเบิดถูกโจมตีในรูปแบบการซุ่มยิง และการใช้ระเบิดแสวงเครื่องเป็น “กับดัก” อย่างน้อย 7 ครั้งด้วยกัน
 
เหตุผลที่ชุดเก็บกู้ระเบิดกลายเป็น “เป้าหมาย” ของกลุ่มก่อการร้าย เนื่องจากในระยะหลังระเบิดแสวงเครื่องที่กลุ่มก่อการร้ายนำไปวางเพื่อสังหารเป้าหมาย ได้มีการตรวจพบ และกู้ได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ประสิทธิภาพของกลุ่มก่อการร้ายลดทอนลง เพราะระเบิดถูกพบ และถูกกู้ได้ก่อนที่จะได้ทำหน้าที่ “สังหาร” เจ้าหน้าที่รัฐ
 
ดังนั้น ชุดเก็บกู้ระเบิดจึงถูก “สั่งตาย” เพื่อมิให้เป็น “ขวากหนาม” ของการวางกับระเบิดของกลุ่มก่อการร้าย?!
 
จากปี 2547 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร และเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ระเบิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนแต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางความ “ขาดแคลน” เช่นในหลายพื้นที่ถนนบางสายมีรอยการวางระเบิดทุกกิโลเมตร แต่ตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบไม่มีแม้แต่เครื่องตรวจสอบเพื่อตรวจหาระเบิดแม้แต่เครื่องเดียว
 
ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีอะไรที่เหนือกว่า พิเศษกว่ากองบัญชาการอื่นๆ ที่มีอยู่ในประเทศนี้ ซึ่งไม่มีปัญหาการก่อการร้าย แต่ ศชต.ไม่มีแม้แต่ “พนักงานสอบสวน” ที่เชี่ยวชาญในการสอบสวนทำคดีความมั่นคง เพื่อให้งานสอบสวนมีประสิทธิภาพในการคลี่คลายคดี เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ประชาชน และเพื่อนำผู้ร้ายส่งฟ้องศาลเพื่อให้ศาลลงโทษ
 
คดีจำนวนกว่า 70% ที่ศาลสั่งไม่ฟ้อง หรือหลักฐานไม่พอฟ้อง ล้วนมาจากการไม่มีประสิทธิภาพของพนักงานสอบสวนทั้งสิ้น!!
 
ชุด “เห่าดง” ของ ร.ต.ต.แชน วรงคไพสิฐ คือตัวอย่างที่ดีที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลาง “ความขาดแคลน” เครื่องมือ เครื่องใช้ แต่มีงานที่ “ล้นมือ” ให้ทำ บางวันต้องเก็บกู้ระเบิด ต้องพิสูจน์ทราบถึง 3-4 เหตุการณ์ ในขณะที่เครื่องมือในการตัดสัญญาณโทรศัพท์ เครื่องตรวจหาระเบิดมีไม่เพียงพอ “หุ่นยนต์” สำหรับใช้ปฏิบัติงานเพื่อลดความสูญเสียกำลังพลไม่มี รองเท้าและชุดกันแรงระเบิดมีไม่พอต่อกำลังพล
 
สิ่งเหล่านี้ เป็นเสมือนว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับหน่วยงานสำคัญอย่าง “ชุดเก็บกู้ระเบิด” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้!!
 
ในอดีต พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา หรือ “จ่าเพียร” ต้องใช้ “มีดสั้น” เพียงเล่มเดียวในการคุ้ยแคะพื้นดินเพื่อเก็บกู้ระเบิด เช่นเดียวกับในปัจจุบันที่สภาพเช่นนั้นยังคงมีอยู่ และคงไม่ใช่เพียงชุด “เห่าดง” ของ ร.ต.ต.แชน วรงคไพสิฐ เท่านั้นที่ต้องทำหน้าที่ท่ามกลางความขาดแคลน แต่ชุดเก็บกู้ระเบิดชุดอื่นๆ อีกหลายชุดก็อยู่ในสภาพเดียวกัน
 
ดังนั้น สิ่งสำคัญสำหรับวันนี้คือ หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเร่งดำเนินการ ทั้งในเรื่องการเพิ่มบุคลากรในการเก็บกู้ระเบิดให้พอต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีเครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทันสมัย เพื่อลดความสูญเสียบุคลากร ไม่ว่าเป็นเครื่องตัดสัญญาณ เครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด เครื่องแบบป้องกันการถูกระเบิดเพื่อลดความรุนแรง และหุ่นยนต์ที่ใช้ในการเก็บกู้ระเบิด เพราะหุ่นยนต์พังแล้วซ่อมได้ แต่ชีวิตของเจ้าหน้าที่ “ตายแล้วไม่ฟื้น”
 
ที่สำคัญอย่าเชื่อว่า การเปิดเวที “พูดคุย” กับ “ผู้เห็นต่าง” ที่ประเทศมาเลเซียเป็นผู้ประสานงาน จะทำให้ปฏิบัติการรุนแรงของกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่ลดลงจน “หน่วยเหนือ” ไม่ให้ความสำคัญกับการจัดซื้อจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ให้แก่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ชุดเก็บกู้ระเบิด เพราะเชื่อว่า “สงครามประชาชน” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังเดินเข้าสู่จุดหมายของคำว่า “สันติวิธี” หรือกำลังจะเกิด “สันติภาพ” ที่ปลายด้ามขวาน
 
เนื่องเพราะเรื่องการเปิดเวทีพูดคุยเป็นเพียง “ช่องทางหนึ่ง” ในการลดความรุนแรงเท่านั้น และยังไม่มีใคร “การันตี” ว่าการพูดคุยที่เกิดขึ้นจะเป็น “ยาวิเศษ” ที่ “หยุดเลือด” ที่ไหลนองในพื้นที่ปลายด้ามขวานอย่างแท้จริง?!
 
ดังนั้น การสร้างหน่วยงานเก็บกู้วัตถุระเบิดให้เข้มแข็ง ให้ทันสมัย จึงเป็นวิธีเดียวที่จะลดความสูญเสียของเจ้าหน้าที่ และประชาชนลงได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ในขณะนี้ที่เจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็น “เป้า” ของกลุ่มก่อการร้ายมากกว่าประชาชน!!
 
โดยยุทธวิธีของกลุ่มก่อการร้ายมีเพียง 2 ยุทธวิธี คือ 1.การซุ่มโจมตีด้วยอาวุธปืน และ 2.คือ การวางกับระเบิดในพื้นที่ต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ต้องใช้ในการลาดตระเวน หรือผ่านไปมา
 
ดังนั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการ “ถอดสลักแห่งความตาย” คือ “เจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด” ถ้าหน่วยงานนี้มีประสิทธิภาพ หมายถึงการลดความสูญเสียของเจ้าหน้าที่ และประชาชนลงได้!!
 
อย่าได้กล่าวว่างบประมาณไม่มี หรือต้องรองบประมาณในการจัดซื้อ จัดจ้างสำหรับเครื่องมือเครื่องใช้ของชุดเก็บกู้ระเบิด เพราะมีงบประมาณเป็นจำนวนมากที่ถูกใช้อย่าง “อีลุ่ยฉุยแฉก” โดยไม่ได้ก่อเกิดมรรคผลใดๆ กับความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
นำเอางบประมาณเหล่านั้นมาจัดสรรให้เกิดประโยชน์ในการสร้าง “หน่วยงานเก็บกู้ระเบิด” ที่มีอยู่ ซึ่งมีบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ และเสียสละอยู่แล้ว เพียงเพิ่มเครื่องมือเครื่องใช้ให้เขาเท่านั้น เพราะเขาไม่ได้เรียกร้องยศ ตำแหน่ง หรือรางวัลใดๆ ในการเก็บกู้ระเบิด เขาไม่ได้เรียกร้องขอแม้แต่ “ชีวิต” แต่เขาเรียกร้องขอเครื่องมือเครื่องใช้ในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น!!
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น