ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-“มีอยู่วันหนึ่งผมเอนหลังนอนบนรถ 191 จากนั้นได้ยินเสียงตูมดังสนั่น พอสะดุ้งตื่นขึ้นมาก็รีบคลำตามร่างกายว่าอยู่ครบหรือเปล่า ปรากฏว่าโชคดีที่แค่ฝันไป” ร.ต.ต.แชน วรงคไพสิฐ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ดาบแชน” บอกเล่าถึงฝันร้ายผ่าน “อาทิตย์ เคนมี” ผู้ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราว “ชีวิตนักกู้ระเบิดแดนใต้ เกมวัดใจ ‘ผู้ถอดสลัก’ กับ ‘คนจุดชนวน’” ตีพิมพ์ในวารสาร deepsouth bookazine Vol.3, 2551 หรือเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่เขาจะสิ้นลมหายใจหลังสิ้นเสียงระเบิดเมื่อเช้าวันที่ 28 ต.ค.56 ที่ผ่านมา
“ดาบแชน" และเพื่อนร่วมทีมรู้ดีว่า นักกู้ระเบิดนั้นมีชีวิตแขวนอยู่กับความตายทุกลมหายใจ แม้จะไม่เคยประมาทและระมัดระวังอย่างยิ่งในทุกฝีก้าว แต่ในที่สุดผู้ถอดสลักก็ตกเป็นเหยื่อคนจุดชนวน เมื่อเสียงระเบิดดังสนั่น ริมทางหลวงสาย 42 บ้านส้มป่อย ม.4 ต.กาเยาะมาตรี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ปลิดชีพ "ดาบแชน" และเพื่อนร่วมงานอีก 2 คน คือ ร.ต.ต.จรูญ เมตเรือง และ จ.ส.ต.นิมิต ดีวงศ์ ตำรวจหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด หรือ ‘อีโอดี’ (Explosive Ordnance Disposal) นราธิวาส
นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของของหน่วยอีโอดี และเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าสลดให้แก่คนไทยทั้งประเทศ
ร.ต.ต.แชน หัวหน้าชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง 60 รับผิดชอบการตรวจสอบและเก็บกู้วัตถุระเบิด หรืออีโอดี ประจำกองบังคับการตำรวจภูธรจ.นราธิวาส ซึ่งทำงานเสี่ยงตายในพื้นที่อย่างยาวนาน โดยเขาเริ่มจับงานด้านเก็บกู้วัตถุระเบิดตั้งแต่ปี 2531 และนับจากความรุนแรงของไฟใต้คุโชนตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เมื่อเหตุการณ์ลอบวางระเบิดถี่มากขึ้น “ดาบแชน” ต้องเสี่ยงชีวิตมากขึ้นแต่เขาก็ยังยืนหยัดมั่นคง
อย่างไรก็ตาม การทำงานที่เสี่ยงต่อชีวิตเช่นนี้ ทำให้กำลังเจ้าหน้าที่ชุดอีโอดีไม่เพียงพอกับเหตุร้ายรายวันที่เกิดขึ้นพร้อมกันหลายจุด “.....ไม่มีใครอยากมาเสี่ยงตายกับงานนี้ ทั้งลูกเมียและคนที่อยู่ข้างหลังก็ไม่สบายใจ และงานแบบนี้ก็ไม่มีผลประโยชน์อย่างอื่นมาเกี่ยวข้อง นอกจากเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงที่มากกว่าหน่วยงานทั่วไปแค่ไม่กี่พันบาท” “ดาบแชน” เคยให้สัมภาษณ์กับ "deepsouthฯ"
เขายังวิเคราะห์ถึง "ผู้จุดชนวน" ด้วยว่ามีการพัฒนาศักยภาพมากขึ้นมาลำดับ จากยุคแรกที่ใช้แบบขว้างหรือระเบิดน้อยหน่า มาเป็นระเบิดแสวงเครื่อง จุดชนวนด้วยนาฬิกาอะนาล็อก จากนั้นเป็นนาฬิกาดิจิตัล และสัญญาณโทรศัพท์มือถือ กระทั่งหันมาใช้สัญญาณรีโมทคอนโทรลที่แม่นยำกว่า ถึงขั้นใช้ "คาร์บอมบ์" และยังพบมีการใช้กับระเบิดชนิดเหยียบและกับระเบิดแบบลวดสะดุด ซึ่งแสดงถึงคนร้ายคิดค้นและประยุกต์วิธีการใหม่มาใช้อย่างหลากหลายต่อเนื่องจนเจ้าหน้าที่รัฐไล่ตามแทบไม่ทัน
“ขณะนี้ถนนแทบทุกสายมีการเจาะถนนฝังระเบิดไว้หมดแล้ว โดยเฉพาะเส้นทางสายย่อยในหมู่บ้าน เพียงแต่เราจะหาเจอหรือไม่เท่านั้น” ดาบแชน ประเมินเมื่อ 5 ปีมาแล้ว ถึงวันนี้จะมีถนนอยู่กี่สายที่ปลอดระเบิด นั่นทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ แม้แต่ประชาชนทั่วไป มีโอกาสเสี่ยงที่จะบาดเจ็บล้มตาย
ยิ่งทีมเก็บกู้ระเบิดที่ “ดาบแชน” เป็นหัวหน้าด้วยแล้ว ยิ่งมีความเสี่ยงกว่าหน่วยอื่น เพราะต้องเป็นหัวหอกนำหน้าเสมอ แต่เขาก็แสดงความกล้าหาญที่ยากจะหาใครเสมอเหมือน “ดาบแชน” เคยให้สัมภาษณ์ว่า "ลักษณะงานแบบนี้ ถ้าคนหนึ่งถ่วงมันจะตายกันหมด ส่วนตัวพี่จะเสี่ยงหรือเป็นอะไร พี่ต้องเป็นก่อน ถ้าส่วนที่ไม่ปลอดภัย พี่จะทำเองหมด อันไหนไม่อันตรายแล้วก็ให้ลูกทีมทำ ถ้าเราพลาด เราก็ตายคนเดียว ยังไงคนอื่นต้องปลอดภัย"
ความมุ่งมั่นทุ่มเทของดาบแชน ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบโล่เชิดชูเกียรติ ในปี พ.ศ. 2551 อีกทั้งได้รับคัดเลือกเป็นตำรวจดีเด่นต้นแบบจากมูลนิธิบุณยะจินดา ในปีเดียวกัน และในปี 52 ก็ได้รับการพิจารณาจาก นายธนน เวชกรกานนท์ ผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาส ให้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ดีเด่นของจังหวัดนราธิวาส รวมทั้งได้รับคัดเลือกเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจดีเด่นในโครงการนำทางแทนคุณแผ่นดิน ของบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
"ดาบแชน" ยังเคยเป็นคนต้นเรื่องในรายการ "คนค้นฅน" ตอน "ดาบแชน คนกู้ระเบิด" ของบริษัท ทีวีบูรพา ออกอากาศเมื่อปี 53 และยังขึ้นปกนิตยสาร ฅ.คน ในปีเดียวกันพาดหัวว่า "ชีวิตบนเส้นชนวนแห่งความตาย" และเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 54 ได้รับรางวัล "คนดีของแผ่นดิน"
หลังการเสียชีวิตของทีมเก็บกู้ระเบิด พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ได้ลงนามปูนบำเหน็จความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษ 8 ขั้น โดย ร.ต.ต.แชน เลื่อนยศเป็นพลตำรวจโท พร้อมมอบเงินเยียวยาแก่ทายาท 3.9 ล้านบาท และเตรียมขอพระราชทานเหรียญกล้าหาญอีกด้วย ส่วน ร.ต.ต.จรูญ เลื่อนยศเป็นพลตำรวจตรี และ จ.ส.ต.นิมิต เลื่อนยศเป็นพันตำรวจโท โดยรับเงินเยียวยารายละ 2.9 ล้านบาท
ประวัติชีวิต "ดาบแชน"
ร.ต.ต.แชน เกิดเมื่อปี 2506 จ.นราธิวาส พ่อแม่รับจ้างทำนาและกรีดยาง เป็นลูกชายคนที่ 2 จากทั้งหมด 4 คน
ปี 2526 เรียนจบวิทยาลัยเกษตร
ปี 2527 สอบเข้าโรงเรียนตำรวจภูธรภาค 9 จ.ยะลา กระทั่งเข้ารับราชการตำรวจที่ จ.ยะลา
ปี 2528 เข้าอบรมหลักสูตรนักเรียนพลตำรวจ รุ่นที่ 36 โรงเรียนตำรวจภูธร 9 จ.ยะลา
ปี 2529 รับราชการหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) ตำรวจภูธรจ.นราธิวาส
ปี 2532 ผ่านการอบรมหลักสูตรอบรมเก็บกู้ระเบิดที่สหรัฐอเมริกาเบื้องต้น 15 วัน
ปี 2533 ถูกซุ่มยิงได้รับบาดเจ็บ ต้องรักษาตัวนานปีเศษ จึงขอย้ายจาก จ.ยะลากลับมา จ.นราธิวาส บ้านเกิด
ปี 2542 ย้ายไป จ.พระนครศรีอยุธยา แต่เพียงปีเดียวก็ขอย้ายกลับมาจ.นราธิวาสอีกครั้ง ในช่วงเริ่มต้นของ "ยุทธการใบไม้ร่วง" ซึ่งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในขณะนั้น ประกาศจะลอบสังหารเจ้าหน้าที่รัฐ
ปี 2547 เป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงชายแดนภาคใต้
ปี 2549 ถูกเสนอชื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเลื่อนยศเป็นนายตำรวจสัญญาบัตร
ปี 2554 ได้ติดยศ ร้อยตำรวจตรี
ปี 2556 ปิดฉากชีวิต 'ดาบแชน'