โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
จบลงไปหมาดๆ ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังถูกเติมเชื้อไฟให้ระอุเดือดขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือภารกิจของ “คณะเดินเท้าด้วยรัก..พิทักษ์สองฝั่งทะเล” ที่พวกเขาตั้งใจลุกขึ้นมาประกาศสร้างปรากฏการณ์ใหม่เชื่อมฝั่งทะเลอันดามันถึงอ่าวไทย ด้วยจิตวิญญาณแห่ง “สะพานมนุษย์” ของชุมชนสองฟากฝั่ง เพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่ง “แหล่งอาหาร” ของผู้คนในสังคม “แหล่งทำมาหากิน” ของคนในท้องถิ่น รวมถึง “ผืนแผ่นดิน” อันสวยงามที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายและมากมายของคนไทย
ทั้งนี้ก็เพื่อทดแทนสิ่งไม่พึงประสงค์ที่อำนาจรัฐภายใต้บงการของทุนสามานย์กำลังผลักดันให้สร้าง “สะพานเศรษฐกิจ” อันจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดแหล่ง “อุตสาหกรรมหนัก” ขนาดมหึมาขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะ “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ที่มีเป้าหมายขยับขยายฐานที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออก โดยเฉพาะที่มาบตาพุดใน จ.ระยอง ที่ได้ทำกันจนเต็มพื้นที่ไปแล้วกว่า 3 หมื่นไร่รวม 3 เฟส เวลานี้ไม่สามารถขยายได้อีก จึงต้องการให้โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อรองรับการขยับขยายตั้งแต่เฟสที่ 4 เป็นต้นไป ให้ไหลลงมากองรวมกันอยู่บนผืนแผ่นดินของภาคใต้
คณะเดินเท้าออกจากจุดสตาร์ทช่วงเช้าของวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ ฝั่งทะเลอันดามันบริเวณชายหาดบ้านปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล จุดที่ถูกกำหนดให้เป็นที่ก่อสร้าง “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” แล้วเดินเท้าไปตามถนนที่กำลังถูกขยายให้เป็นกึ่ง“มอเตอร์เวย์” อันตีเส้นเชิงขนานไปกับ “เส้นทางรถไฟรางคู่” ที่จะใช้ขนส่งสินค้า รวมถึง “ท่อน้ำมัน” และ “ท่อก๊าซ” ซึ่งทั้งหมดก็คือโครงสร้างหลักๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) ส่วนจุดหมายปลายทางกำหนดถึงช่วงค่ำวันที่ 28 ต.ค.ที่ฝั่งทะเลอ่าวไทย ณ ชายหาดบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา จุดที่ถูกกำหนดให้สร้าง “ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2”รวมระยะทางกว่า 120 ก.ม. จากนั้นเช้าวันที่ 29 ต.ค.มีกิจกรรมปิดโครงการ ณ ชายหาดบ้านสวนกง
โดยคณะเดินเท้าได้จัดทำเอกสารและนำข้อมูลต่างๆ อย่างเพียบพร้อมหอบหิ้วไปใช้บอกเล่าเรื่องราวที่กำลังจะเกิดขึ้นบนแผนดิน จ.สตูล และ จ.สงขลา ให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ตามรายทาง หรือที่ได้มีโอกาสประสบพบเจอให้ได้รับรู้ด้วย โดยเฉพาะในชุมชนที่คณะกำหนดไปพักค้างแรมได้จัดให้มีการล้อมวงพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันและกันตลอดเส้นทางการเดินเท้า
ด้วยวาดหวังเมื่อประชาชนจำนวนมากมีความเข้าใจว่า กำลังจะมีอะไรเกิดขึ้นบนแผ่นดินภาคใต้ จากนี้ไปจะได้ร่วมด้วยช่วยกันลุกขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการปกป้องผืนแผ่นดินถิ่นใต้แห่งนี้ให้รอดพ้นจากมหันตภัยที่จะตามมากับโครงการก่อสร้าง “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล”
ความที่โครงการเดินเท้าครั้งนี้มีจุดเริ่มจากการปรึกษาหารือระหว่างกันของ 2 เครือข่ายที่จะได้รับผลกระทบหลักคือ เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล กับ เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สงขลา ซึ่งเครือข่ายหลังนี้ผ่านประสบการณ์ลุกขึ้นคัดค้านโรงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย รวมถึงการจะเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมาก่อน ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายนักวิชาการมหาวิทยาลัยในภาคใต้ มูลนิธิอันดามัน สมาคมรักษ์ทะเลไทย และหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ อีกมากมาย
โดยเฉพาะมี อ.ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย ผู้สร้างปรากฏการณ์เดินเท้าต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์จาก จ.นครสวรรค์สู่กรุงเทพฯ จนเป็นที่ฮือฮาและรับรู้ของผู้คนในสังคมมาแล้ว เขาได้เข้าร่วมเดินเท้าพิทักษ์สองฝั่งทะเลในบางช่วงสำคัญครั้งนี้ด้วย ส่งผลให้ตลอดระยะทางได้รับการตอบรับและต้อนรับอย่างอบอุ่น
จากการติดตามคณะเดินเท้าของ “ASTVจัดการภาคใต้” พบว่า ตอนออกจากจุดสตาร์ทในวันแรกมีการจัดกิจกรรมตักทรายชายหาดปากบาราใส่ขวดโหลนำพาไปด้วย โดยมีชาวสตูลมาร่วมเดินเท้าส่งคณะวันนั้นกว่า 200 คน จากนั้นคณะที่ร่วมเดินกันมาตลอดก็มีทั้งคนในพื้นที่ นักพัฒนา นักกิจกรรมและนักศึกษา หลายคนเดินทางมาจากต่างถิ่น บางคนมาไกลจากกรุงเทพฯ หรือภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งรวมกันแล้วไม่เคยต่ำกว่า 40-50 คน บางช่วงก็มีคนในพื้นที่เข้าร่วมเดินสบทบด้วย
แต่ที่ถือเป็นไฮไลท์ของกิจกรรมเดินเท้าเที่ยวนี้คือ การบอกเล่าเรื่องราวให้กับคนในหัวเมืองหลักของภาคใต้ตอนล่างได้รับรู้ โดยตลอดบ่ายวันที่ 26 ต.ค.ช่วงที่คณะเดินเท้าถึงเมืองหาดใหญ่ นอกจากจะมีคนสงขลามารอรับอย่างอบอุ่น และร่วมขบวนเดินเท้าเข้าจากชานเมืองเข้าสู่ตัวเมืองท่ามกลางสายฝนกว่า 300 คนแล้ว ช่วงเย็นมีการล้อมวงพูดคุยพร้อมบันทึกรายการวาระประเทศไทยไปเสนอทางช่องไทยพีบีเอส ต่อช่วงค่ำด้วยการจัดเวทีปราศรัยใหญ่ ณ ลานประวัติศาสตร์หน้าสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่อย่างคึกคัก
สำหรับวิทยากรที่ไปให้ข้อมูลทั้งในช่วงล้อมวงพูดคุยและขึ้นบนเวทีปราศรัยกลางเมืองหาดใหญ่ ประกอบด้วย อ.ศศิน เฉลิมลาภ นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหาที่ยืนเคียงข้างประชาชนมาต่อเนื่อง อ.ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย นายปิยะโชติ อินทรนิวาส สื่อมวลชนที่จับตาการพัฒนาภาคใต้มากว่า 20 ปี นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี และนายสมบูรณ์ คำแหง 2 แกนนำเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล
นอกจากนี้แล้ว บนเวที ณ ลานประวัติศาสตร์หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ยังมีศิลปินเพลงขึ้นขับกล่อมให้ความครึกครื้นนำโดย น้าซูและวงซูซู แสง ธรรมดา วงภูเล วงทรายเล และ วงกอและแฟมิลี่ สลับกับการอ่านบทกวีนำโดย มนตรี ศรียงค์ กวีซีไรต์ และ ปิยะโชติ อินทรนิวาส ซึ่งทั้งสองตั้งใจรจนาบทกวีชิ้นใหม่เพื่อมอบให้เป็นกำลังใจกับคณะเดินเท้าสองฝั่งทะเลโดยเฉพาะ
การเดินเท้าด้วยรักพิทักษ์สองฝั่งทะเลในครั้งนี้ เหตุที่เครือข่ายประชาชนใน 2 จังหวัดคือ สงขลาและสตูล ออกมาร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้นก็เพื่อต้องการแสดง “สัญลักษณ์” ต่อต้าน “ก๊วนนักการเมือง” ที่ประสานมือกับ “กลุ่มทุนสามานย์” จ้องสวาปามงบประมาณ ผลประโยชน์และทรัพยากรของคนไทยทั้งประเทศมาตลอด โดยผูกไว้กับการทำโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ
ตลอดกิจกรรมของคณะเดินเท้าข้ามสองฟากฝั่งทะเลในภาคใต้ จึงมีการให้ข้อมูลชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ว่า การก่อสร้างแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ซึ่งประกอบไปด้วยท่าเรือน้ำลึกหัวท้าย 2 แห่งทั้งในฝั่งอันดามันและอ่าวไทย แล้วเชื่อมต่อกันด้วยถนนมอเตอร์เวย์และรถไฟรางคู่ไว้ขนส่งสินค้า รวมถึงท่อน้ำมันและท่อก๊าซนั้น
เม็ดเงินที่จะใช้ในการก่อสร้างโครงการหลักๆ ดังกล่าวเกือบทั้งหมดได้ถูกซุกไว้ใน “พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท” ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของสภาฯ ในวาระที่ 3 ไปเมื่อไม่นาน
ในเวลานี้คนเกือบทั้งประเทศจะรับรู้แต่เพียงว่า เงินกู้ 2 ล้านล้านที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หุ่นเชิดของนักโทษหนีคุกทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกระสันด้วยการทำทุกวิถีทางให้ได้เงินกู้ก้อนนี้มา เม็ดเงินส่วนใหญ่จะถูกนำไปสร้างรถไปความเร็วสูงเชื่อมอีสานและเหนือต่อลงมาแค่ภาคกลาง โดยมาไม่ถึงภาคใต้ รวมถึงขยายเส้นทางรถไฟในระบบเก่าให้เป็นรางคู่เท่านั้น
โดยผู้คนแทบจะไม่ทราบข้อมูลกันเลยว่า แท้จริงแล้ววงเงินกู้ 2 ล้านล้านดังกล่าวได้มีการซุกเอา 4 รายการอันเป็นโครงสร้างหลักของโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูลไว้ด้วย ได้แก่ การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารามูลค่า 12,000 ล้านบาท, การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 มูลค่า 6,700 ล้านบาท, การก่อสร้างรถไฟรางคู่เชื่อมท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ฝั่งมูลค่า 46,000 ล้านบาท และสุดท้ายใช้เป็นงบสำหรับการประชาสัมพันธ์โครงการทั้งหมด 175 ล้านบาท
เหล่านี้ยังไม่นับงบประมาณปกติที่ได้นำไปทำโครงการอื่นๆ และใช้ในการศึกษาไปแล้วมากมาย ทั้งในส่วนของโครงการที่เป็นส่วนประกอบของแลนด์บริดจ์ และโครงการที่นอกเหนือจากแลนด์บริดจ์ แต่ทั้งหมดทั้งปวงล้วนแต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะหนุนเนื่องให้เกิดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ ตามมา อาทิ ใช้ศึกษาท่าเรือปากบารา ท่าเรือสงขลา การขุดเจาะอุโมงค์สตูล-เปอร์ลิส การตั้งคลังน้ำมัน การหาพื้นที่ทำนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองฝั่งทะเลหลายแสนไร่ การสร้างเขื่อนเพื่อหาน้ำป้องอุตสาหกรรม รวมถึงการสร้างท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซ อีกทั้งโรงไฟฟ้าจากพลังงานก๊าซที่สำเร็จไปแล้วถึง 2 แห่งใน อ.จะนะ จ.สงขลา และกำลังจะตามมาคือ โรงไฟฟ้าชีวะมวล 3 แห่ง ซึ่งมีการถมเม็ดเงินไปแล้วหลายแสนล้านบาท
นี่ยังไม่รวมเอาเมกะโปรเจกต์อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดแหล่งอุตสาหกรรมขนาดมหึมาอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวเนื่องกับแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูลอย่างแยกไม่ออก ที่ล้วนถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาภาคใต้มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 5 แห่งในภาคใต้ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา อ.ท่าศาลา กับ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช อ.กันตัง จ.ตรัง และที่ จ.กระบี่ พร้อมด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หลายแห่ง ท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช โรงถลุงเหล็กที่ อ.ระโนด จ.สงขลา รวมทั้งถนนแลนด์บริดจ์เชื่อมกระบี่-นครศรีธรรมราช ซึ่งได้มีการหว่านเม็ดเงินก่อสร้างไปแล้วหลายหมื่นล้านแบบไม่คุ้มทุน เป็นต้น
จากข้อมูลดังกล่าวในระหว่างเดินเท้าข้ามสองฝั่งทะเลก็ได้มีการชี้ชัดในภาพรวมให้เห็นว่า แท้จริงแล้วการผลักดันสร้างแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล เป็นแรงขับดันมาจาก “กลุ่มทุนพลังงานข้ามโลก” ไม่ว่าจะสัญชาติอเมริกัน ยุโรป ตะวันออกกลาง จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ ที่เห็นโอกาสใช้ไทยเป็นฐานในการกลั่นน้ำมัน และเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อนำไปสู่การกอบโกยได้อย่างยาวนาน ส่วนด้านการขนส่งเชื่อมโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ถือเป็นเพียงยุทธศาสตร์ประกอบให้ดูดีเท่านั้น
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่กลุ่มทุนสามานย์ข้ามโลกทั้งหลาย จะสามารถต่อสายเชื่อมผลประโยชน์ได้ถึงกลุ่มทุนสามานย์และบรรดานักการเมืองสัญชาติไทย
เมื่อการเดินเท้าด้วยรักพิทักษ์สองฝั่งทะเลเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ บทส่งท้ายในวันที่ 29 ต.ค.จึงถูกสร้างกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการทำ “สัญญาทราย” โดยนอกจากจะให้ 2 เครือข่ายติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล และ จ.สงขลา นำทรายจากชายหาดที่จะเป็นจุดก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกมารวมกันแล้ว ยังมีการเชิญเครือข่ายประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ของภาคใต้ที่ถูกกำหนดให้เป็นจุดสร้างโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายต้านโรงไฟฟ้าท่าศาลา หัวไทร กันตังและกระบี่ เป็นต้น ให้นำทรายจากผืนแผ่นดินนั้นๆ มาผสมรวมเข้าด้วยกัน แล้วแบ่งปันกันนำกลับไปเก็บไว้ให้เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกได้เสมอว่า...
ไม่ว่าเครือข่ายประชาชนในจุดไหนของภาคใต้ หากจะต้องลุกขึ้นสู้กับการกระทำย่ำยีของอำนาจรัฐและอำนาจทุน ทุกเครือข่ายที่เหลือก็พร้อมจะรวมหัวจมท้ายเข้าร่วมต่อสู้ด้วยให้เป็นดั่งเม็ดทรายที่หลอมรวมอยู่ในโหลเดียวกัน
นี่เองจึงเป็นการสื่อให้ทั้งนักการเมืองและทุนสามานย์ไทยได้รับรู้ว่า ทุกเครือข่ายภาคประชาชนในภาคใต้พร้อมที่จะลุกขึ้นต่อสู้แล้ว หากฝ่ายกุมอำนาจรัฐยังดันทุรังที่จะเดินหน้าสร้างเมกะโปรเจกต์ทำลายชุมชน ทำลายแหล่งทำกิน และทำลายแผ่นดินอันเป็นที่รักของพวกเขา โดยเฉพาะในท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังจะลุกเป็นไฟจากน้ำมือบรรดากลุ่มก๊วนการเมืองภายใต้บงการของทุนสามานย์ในระบอบทักษิณเวลานี้.