ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สปต.จี้ กอ.รมน. เอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกรับ “ส่วย” จากขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน เผยรัฐเสียหาย 18,000 ล้านบาทต่อปี ชี้เป็นท่อน้ำเลียงกลุ่มก่อความไม่สงบมาสร้างความเสียหายแก่ประเทศ และประชาชนในพื้นที่
วันนี้ (12 ต.ค.) ที่ห้องประชุมเอนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ.เมือง จ.ยะลา ได้มีการประชุมสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) โดยมีนายอาซิส เบ็ญหาวัน เป็นประธานในที่ประชุม มีหัวหน้าหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม อาทิ พล.ต.ปราการ ชลยุทธ รองแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ต.ต.งามศักดิ์ เกื้อจรูญ ผบก.ศส.จชต และ ผอ.สำนักต่างๆ ของ ศอ.บต.
ซึ่งในที่ประชุม นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล ได้ยื่นกระทู้ถาม กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถึงเรื่องการปราบปรามน้ำมันเถื่อน และยาเสพติด ซึ่งเป็นภัยแทรกซ้อนที่มีการส่งเม็ดเงินสนับสนุนการก่อการร้าย และขอทราบการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนหนึ่ง ตั้งแต่ระดับ ผอ.กอง, ผบก. จนถึงระดับสารวัตร ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อที่ชุดปฏิบัติการภัยแทรกซ้อนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยึดได้จากนายทุนผู้ค้าน้ำมันเถื่อนรายใหญ่ที่ จ.ปัตตานี
ด้าน พ.อ.จตุพร กลัมพะสุต หัวหน้าชุดปฏิบัติการภัยแทรกซ้อน เปิดเผยว่า มีหลักฐานเชื่อมโยงที่ชัดเจนว่ากลุ่มผู้ค้าน้ำมันเถื่อนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด มีการเชื่อมโยงกับขบวนการก่อการร้าย นอกจากให้เงินสนับสนุนแล้ว ยังเป็นธุระในการจัดหาอาวุธ ยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้กับกลุ่มก่อการร้าย โดยเฉพาะในเรื่องน้ำมันเถื่อน มีการปราบปรามจับกุมอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางบก และทางทะเล มีการประสานงานกับหน่วยงานของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าแต่ละปีรัฐเสียหายจากเรื่องน้ำมันเถื่อนในชายแดนภาคใต้ถึง 18,000 ล้านบาท ส่วนปัญหาและอุปสรรคคือ ต้องพึ่งหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ เช่น ตำรวจ ศุลกากร และอื่นๆ ทำให้การทำยังไม่ราบรื่น และมีข่าวรั่ว โดยชุดปราบปรามภัยแทรกซ้อนจะมุ่งจับกุมผู้ค้ารายใหญ่ เพราะหากจับกุมผู้ค้ารายย่อย อาจจะทำให้เสียมวลชน ส่วนเรื่องรายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ชุดปฏิบัติการภัยแทรกซ้อนยึดได้ นั้น กอ.รมน.ได้ ดำเนินการส่งให้ต้นสังกัดแต่ละหน่วยงานที่มีรายชื่อทำการดำเนินการอยู่
ในขณะที่นายไชยยงค์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การค้าน้ำมันเถื่อน นอกจาก ขบวนการก่อการร้ายได้เม็ดเงินเพื่อใช้ในการทำลายประเทศชาติ และประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนหนึ่งได้รับผลประโยชน์จากการเรียกเก็บ “ส่วย” จากผู้ค้าน้ำมันเถื่อนด้วย ซึ่งจากการสอบถามจากผู้ค้าน้ำมันเถื่อนได้ข้อมูลว่า ต้องจ่าย “ส่วย” ให้แก่หน่วยงานในพื้นที่ ตั้งแต่ศุลกากร สรรพสามิต ตำรวจท้องที่ และตำรวจชุดปราบปรามน้ำมันเถื่อน ทั้งในท้องที่ และส่วนกลางอีก 7 ชุด ทำให้ไม่ถูกจับกุมจากหน่วยอื่นๆ ยกเว้นชุดปราบปรามภัยแทรกซ้อน
โดยนายไชยยงค์ เสนอว่า การแก้ปัญหาที่ชุดภัยแทรกซ้อนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยเฉพาะการปราบปรามน้ำมันเถื่อน เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ คือการไล่จับกุม แต่ไม่มีการแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ คือการเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ปล่อยให้มีการนำเข้าน้ำมันเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะต้นเหตุมาจากเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้ามาเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ทำผิดกฎหมาย จึงขอให้ กรมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แก้ปัญหาให้ตรงจุด คือแก้ที่ต้นน้ำ