คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
ผมไม่ได้เขียนถึงเรื่อง “น้ำมันเถื่อน” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นเวลาหลายเดือน เหตุผลที่ไม่เขียนถึงไม่ได้หมายความว่า น้ำมันเถื่อนในพื้นที่ไม่มีหรือถูกปราบปรามจนเบาบางลงแล้ว แต่เป็นเพราะมีเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องความไม่สงบที่สำคัญและเร่งด่วนกว่าให้เขียนถึง
และข้อสำคัญผมใช้เวลากว่า 3 เดือนในการติดตามการแก้ปัญหาน้ำมันเถื่อนของเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 3 หน่วยงาน เพื่อที่จะได้ข้อมูลมาให้รับรู้ว่า ทำไม ประเทศนี้จึงปราบน้ำมันเถื่อนไม่ได้ผล??
สิ่งที่เชื่อได้ว่า เรื่องการปราบปรามน้ำมันเถื่อนเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญและเร่งด่วนของหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ วันนี้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.สงขลา และ จ.สตูล ซึ่งเป็นพื้นที่อันไม่มีปัญหาเรื่องการก่อเหตุการณ์ไม่สงบ
แต่กลับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในชื่อว่า “นปม.” หรือ “หน่วยปราบน้ำมันเถื่อน” ทั้งที่มาจากส่วนกลางคือ “กองบัญชาการสอบสวนกลาง” และจาก “กองบัญชาการตำรวจภาค 9” ถึง 22 ชุด ซึ่งมีจำนวนมากจนเกือบจะเดินชนกันตายในพื้นที่!!
โดย นปม.ทั้ง 22 ชุดมีหน้าที่สืบสวน ตรวจค้น และจับกุมผู้ทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการลักลอบน้ำเข้าน้ำมันเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้าน และจับกุมผู้ขนส่งและขายน้ำมันที่ลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่เสียภาษี
จากการติดตามพบว่า นปม.ทั้ง 22 ชุดที่ถูกส่งมารับผิดชอบในการปราบปรามน้ำมัน ไม่ได้ทำหน้าที่ติดตาม สืบสวน และจับกุมผู้ค้าน้ำมันเถื่อนตามหน้าที่แต่อย่างใด
เกือบทุกชุดไม่ว่าจะมาจากสอบสวนกลาง หรือมาจาก บชภ.9 ต่างสืบสวนทำบัญชีผู้ลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน “กลุ่มที่ 1” คือ รถยนต์ดัดแปลงที่ใช้ในการบรรทุกน้ำมันจากประเทศมาเลเซีย และจากแหล่งที่เก็บน้ำมันในฝั่งไทย เพื่อไปส่งให้กับลูกค้าในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ รวมทั้งทำบัญชีปั๊มน้ำมันและแหล่งรับซื้อน้ำมันเถื่อนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของภาคใต้
เมื่อมีชื่อของผู้ทำผิดแต่ละกลุ่มแล้ว นปม.ทั้งหลายแหล่ก็จะเข้าไปตรวจค้นและเจรจาต่อรอง เพื่อให้ลักลอบค้า-ขายน้ำมันเถื่อน “จ่ายส่วย” เป็นรายเดือน หรือ “รายเที่ยว” มีการตกลงวันที่จะจ่ายส่วยระหว่างผู้ทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ นี่คือหน้าที่หลักของ นปม.ในแต่ละชุด
หน่วยงานหน่วยที่สองคือ ด่านศุลกากรตามแนวชายแดน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ “ศุลกากรภูมิภาคที่ 4” ที่ต้องรับผิดชอบด่านศุลกากรพรมแดนสะเดา ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ ด่านศุลกากรบ้านประกอบ จ.สงขลา ด่านศุลกากรวังประจัน ด่านศุลกากรตำมะลัง จ.สตูล ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก ด่านศุลกากรตากใบ ด่านศุลกากรแว้ง จ.นราธิวาส ด่านศุลกากรเบตง จ.ยะลา และด่านศุลกากรปัตตานี จ.ปัตตานี
จากการติดตามดูการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศุลกากรกรที่กล่าวมาทั้งหมด พบว่า ทุกด่านศุลกากรไม่ได้มองปัญหาเรื่องน้ำมันเถื่อนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทุกด่านตรวจต่างเปิด “ไฟเขียว” ให้มีการขนน้ำมันเถื่อนจากมาเลเซียเข้ามายังไทยได้อย่างเสรี ทั้งโดยรถดัดแปลงและรถบรรทุกหัวลาก
สำหรับช่องทางลำเลียงของขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนรายใหญ่ใน จ.สงขลา สามารถขนน้ำมันเถื่อนผ่านทางช่องทางเข้า-ออกของด่านศุลกากร ต.สำนักขาม อ.สะเดาได้อย่างเสรี โดยมี “นายหน้า” เรียกเก็บเงินจากพ่อค้าน้ำมันเถื่อนลิตรละ 1 บาท แล้วอ้างว่าได้เก็บไปให้ส่งให้กับ “นาย” ที่ด่านศุลกากร
ส่วนที่ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ เป็นช่องทางขนน้ำมันเถื่อนของ “กองทัพมด” ซึ่งใช้รถดัดแปลงที่มีถังน้ำมันขนาดเล็กขนาด 200-500 ลิตร ซึ่งแต่ละคันสามารถเข้า-ออกได้วันละไม่จำกัดเที่ยว และที่ด่านศุลกากรแห่งนี้ ก็มีการเก็บเงินจากกองทัพมดลิตรละ 1 บาทเช่นกัน ซึ่งก็มีการอ้างเหมือนกันด้วยว่า เก็บไปส่งให้กับ “นาย” ในพื้นที่เพื่อให้เปิด “ไฟเขียว” ให้กับการเข้า-ออกของขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน
เช่นเดียวกับเส้นทางของด่าตรวจวังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล ที่มี “นักการเมืองท้องถิ่น” เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ มีการ “เหมา” น้ำมันจากปั๊มน้ำมันในฝั่งมาเลเซีย เพื่อนำน้ำมันเข้ามายังฝั่งไทยโดยเฉพาะ โดยนักการเมืองผู้นี้จะเป็นผู้ “ส่งส่วย” ให้กับทุกหน่วยงาน
และหน่วยงานอีกหน่วยงานหนึ่งคือ “สรรพสามิต” ที่วันนี้บางคนได้เปลี่ยนหน้าที่จากการ ตรวจสอบน้ำมันและจับกุมน้ำมันเถื่อน หันไปทำหน้าที่ “รับส่วย” จากผู้ค้าน้ำมันเถื่อน ทั้งรับจากปั๊มน้ำมัน และเรียกรับจากรถดัดแปลงที่ใช้บรรทุกน้ำมันเถื่อน
โดยในแต่ละสิ้นเดือนจะมีผู้ที่อ้างว่ามาจากสรรพสามิตอำเภอ สรรพสามิตจังหวัด และสรรพสามิตเขต มาพบกับเจ้าของปั๊ม เจ้าของรถบรรทุกน้ำมันเถื่อน เพื่อ “รับส่วย” ตามที่ตกลงกันไว้ เช่น ระดับอำเภอ 3-5 พันบาท ระดับจังหวัด 1 หมื่นบาท ระดับเขต 15,000 บาท เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ทำหน้าที่ “รับซอง” เป็นหน้าที่หลัก สถานการณ์การค้าน้ำมันเถื่อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงมีแต่การเติบโต ไม่มีการลดลง
เพราะวันนี้ “ของเถื่อน” ที่ทำกำไรสูงสุดจากประเทศเพื่อนบ้านมีเพียงอย่างเดียวคือ “น้ำมันเถื่อน” เนื่องจากราคาที่ต่างกันถึงลิตรละ 20 บาทคือ แรงจูงใจให้ “นายทุน” และคนทั่วไปกล้าที่จะ “ลงทุน” ในการค้าน้ำมันเถื่อน
อีกทั้ง น้ำมันเถื่อนเป็นสินค้าที่ “ตลาดเปิดกว้าง” นำเข้ามาเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย เมื่อประกอบกับตำรวจ ศุลกากร สรรพสามิต พร้อมใจกับเปิดไฟเขียวเพื่อรับทรัพย์แทนการจับกุม เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มความเติบโตให้กับขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เติบโตได้อย่างไม่มีขีดจำกัด
ในวันนี้ที่ 3 หน่วยงานที่ต่างมุ่ง “รับส่วย” หรือ “รับทรัพย์” มากกว่าที่จะทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หน่วยงานที่ถูกกล่าวขวัญถึงในทางเสื่อมเสียมากที่สุดคือ ชุดปราบปรามน้ำมันเถื่อน หรือ นปม.ทั้ง 22 ชุด นอกจากจะเรียกรับส่วยจากขบวนการผู้ค้าที่เป็นกอบเป็นกำมากที่สุดแล้ว ยังใช้อำนาจหน้าที่ในการเรียกรับส่วยจากกลุ่มผู้ค้าของหนีภาษีกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มน้ำมันเถื่อน ตั้งแต่กลุ่มผู้ค้าของกินของใช้ กลุ่มผู้ค้าน้ำมันปาล์ม กลุ่มผู้นำเข้าเนื้อเถื่อนในพื้นที่ของ อ.สะเดา จ.สงขลา
จนทั้ง 22 หน่วยงานดังกล่าวต่างสร้างชื่อ “เสีย(ง)” ให้กับ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” อย่างทั่วถึง?!
ไม่ทราบว่าพฤติกรรมและวีรกรรมของชุดปราบปรามน้ำมันเถื่อนทั้ง 22 ชุด จะแว่วเข้าหูของ “บิ๊กอู๋-พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” ผบ.ตร. หรือ “บิ๊กต้อย-พล.ต.ท.พิสิฏฐ์ พิสุทธิ์ศักดิ์” ผบช.ภ.9 บ้างหรือไม่??
เพราะในความรู้สึกของประชาชนที่รู้และเห็นเหตุการณ์ เขาต่างเชื่อกันว่า “ผู้ใหญ่” ทั้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจภาค 9 ต้องรับรู้และรู้เห็น เพราะถ้าไม่มีผู้ใหญ่รู้เห็น เป็นไปไม่ได้ที่หน่วยงานทั้ง 22 หน่วยจะปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้โดย “ไม่มีผลงาน” ในการปราบปรามและจับกุมแม้แต่น้อย
ชาวบ้านเขาต่างเชื่อกันว่า นปม.ทั้ง 22 ชุดคือ มือ “หาเงิน” ให้กับ “นาย” โดยไม่ได้เข้าพื้นที่เพื่อทำหน้าที่ปราบปรามและจับกุมน้ำมันเถื่อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด
นี่จึงคือสาเหตุ พร้อมๆ กับคือคำตอบว่า ทำไมการปราบปรามน้ำมันเถื่อนในชายแดนใต้จึงไม่เคยประสบความสำเร็จ
เพราะทุกหน่วยงานไม่เคย “จริงใจ” ในการแก้ปัญหา และมองเห็นแต่ “ผลประโยชน์ส่วนตน” มากกว่า “ผลประโยชน์ของประเทศชาติ”
“น้ำมันเถื่อน” บนแผ่นดินปลายด้ามขวานจึงไม่มีวันปราบได้สำเร็จ ตราบใดที่ยังปราบ “เชื้อชั่ว” ในหน่วยงานของรัฐไม่ได้??!!