คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
วันที่เกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ข้าพเจ้ากำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนคณาศัยวิทยา โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลปากแพรก อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช (ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว) ข้าพเจ้ารับรู้เรื่องราวเหตุการณ์ครั้งนี้ผ่านหนังสือพิมพ์ และเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวที่เพื่อนร่วมห้องเรียนชื่อจันทร์เพ็ญ แจ้งอักษร นำมาให้อ่าน เห็นภาพวีรชนถูกฆ่า (จิระ บุญมาก) เห็นประพัฒน์ แซ่ฉั่ว (อ้ายก้านยาว) ควงไม้พลองสู้กับอาวุธสงคราม ข้าพเจ้าแอบร้องไห้ และหลั่งน้ำตาโดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้จักคนในภาพเหล่านั้นเป็นการส่วนตัว หลังจากนั้นข้าพเจ้าติดตามความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา และประชาชนผ่านหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ที่ออกโดยผู้นำนักศึกษา และนักเขียนแนวก้าวหน้า
ตอนเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้าพเจ้ากำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดนครศรีธรรมราช ทราบเรื่องราวเหล่านั้นจากปากของอาจารย์อภิชัย สิทธิพล อาจารย์ประจำวิชาฟิสิกส์ ที่นำเรื่องนี้มาเล่า พร้อมทั้งตำหนิรุ่นพี่คนหนึ่งที่เป็นศิษย์เก่า และเป็นผู้นำคนสำคัญในเหตุการณ์ดังกล่าวคือ สุธรรม แสงประทุม คล้ายจะกำราบพวกเราว่า อย่าเอาอย่างรุ่นพี่คนนี้ แต่แทนที่ข้าพเจ้าจะเชื่อตามอาจารย์ว่า ข้าพเจ้ากลับชื่นชมรุ่นพี่ผู้มีความกล้าหาญ และเสียสละ และต่อมา ข้าพเจ้าทราบว่ามีรุ่นพี่อีกหลายคนที่ร่วมในขบวนการนักศึกษาทั้ง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
ข้าพเจ้ารู้จัก จิระนันท์ พิตรปรีชา จากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และติดตามผลงานแปลหนังสือแนวเพื่อชีวิตที่ซื้อด้วยเงินส่วนตัวเป็นเล่มแรกของหล่อนคือหนังสือชื่อ “เสียงร้องของประชาชน” หรือ “ข่าวลือเท็จ” เขียนโดย คิม ชี ฮา ชาวเกาหลีใต้ ข้าพเจ้าอ่านมันด้วยความสนุกสนาน และเชื่อตามที่นักเขียนเขาบอกทุกประการ และที่สำคัญเรื่องราวในหนังสือเล่มนั้นช่างละม้ายคล้ายคลึงกับเรื่องราวที่มันเกิดขึ้นในแผ่นดินบ้านเกิดของข้าพเจ้าเกือบทุกประการ โดยเฉพาะเรื่อง “โจรร้ายทั้งห้า”
หลังจากนั้น ข้าพเจ้าตะลุยอ่านวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน เริ่มจากบทกวีของกวีซีไรต์ และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ซึ่งเป็นรุ่นพี่จากเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราชคือ “อังคาร กัลยาณพงศ์” เพราะบทกวีชิ้นเด่นๆ ของท่านถูกนำมาปิดตามระเบียงด้วยความชื่นชมเชิดชูของอาจารย์สากล พรหมอักษร อาจารย์ประจำวิชาเคมีแต่หลงใหลคลั่งไคล้ในบทกวีทั้งของคาลิล ยิบราล และอังคาร กัลยาณพงศ์ โดยเฉพาะบทที่ว่า “วักทะเลเทใส่จาน…” “ฉันเอาฟ้าห่มให้หายหนาว…”
ไม่นานจากนั้น บทกวี เรื่องสั้น และนวนิยายทั้งของไทย และต่างประเทศก็ซึมซับอยู่ในสมองของข้าพเจ้า ไม่ว่าจะเป็น “อีศาน” ของนายผี “เปิบข้าว” ของจิตร ภูมิศักดิ์ “ทางเลือกเมื่อฟ้าหม่น” ของคมสัน พงษ์สุธรรม “อ้อมกอดภูผา” ของสำราญ รอดเพชร “แม่” ของแมกซิม กอร์กี งานหลายเล่มของดอสโต เยฟสกี ลีโอ ตอลสตอย มุลราช อนันต์ ปาจิณ ฌองปอล ซาตร์ ฯลฯ
บทเพลงเพื่อชีวิตของวงคาราวาน ฟ้าสาง เคียวเกี่ยวดาว เปลวเทียน คนด่านเกวียน แฮมเมอร์ ฆ้อนเคียว ฯลฯ ถูกขับขานพร้อมๆ กับกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนา และการก่อตั้งกลุ่มนักเขียน นักดนตรีในสถาบันอุดมศึกษาบ้านนอก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประภาคาร-ทะเลสาบสงขลา ในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยทักษิณ) สมาชิกประกอบด้วย ประมวล มณีโรจน์ รูญ ระโนด (จรูญ หยูทอง) ปอพอ ศรออน (คล้ายเทพ นนทพุทธ) มาบ หัวทีง (นิศรัย หนูหล่อ หรือนิรัติศรัย หล่ออรุโณทัย) ทัศนวิไล (ทัศนัย นวลวิลัย) ธัช ธาดา (เกษม จันทร์ดำ) สายธารสิโป (นิพล รัตนพันธ์)
กลุ่มเพื่อนวรรณกรรมในวิทยาลัยครูสงขลา (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา) สมาชิกประกอบด้วย ปัทมราษฎร์ เชื้อศูทร (ประทม เรืองฤทธิ์) เชื้อ ชูไท (ชาญวิทย์ คงเมือง หรือเชื้อเสือ คงเมือง)
นอกนั้นก็มีกลุ่มบุดใหม่ จังหวัดตรัง สมาชิกประกอบด้วย เทือก บรรทัด (เปลื้อง คงแก้ว) พันดา ธรรมดา (สมเจตนา มุนีโมไนย) กลุ่มประกายพรึก จังหวัดพัทลุง สมาชิกประกอบด้วย ไพฑูรย์ ธัญญา (ธัญญา สังขพันธานนท์) ยงยุทธ ชูยลชัด (ยงยทธ ชูแว่น) สมพร รัตนพันธ์ และสวาท สุวรรณวงศ์ ตั้งวงดนตรี “วงตาคำ”
กลุ่มสานแสงทอง พัทลุง สมาชิกประกอบด้วยสองพี่น้องแห่งตระกูล “สงสมพันธุ์” คือ กนกพงศ์ และเจน สงสมพันธุ์ ชมรมดอกไม้นครศรีธรรมราช สมาชิกประกอบด้วย รัตนธาดา แก้วพรหม (บุญเสริม แก้วพรหม) โอภาส สอดจิตต์ พระมหาจตรงค์ ศรีจงกล แก่นเพชร ภักดีพันธุ์ และสายใจ ปุญญานุพงศ์ กลุ่มคลื่นทะเลใต้ สุราษฎร์ธานี สมาชิกประกอบด้วย สมใจ สมคิด และบุญชัย ตันสกุล
ต่อมาปลายปี ๒๕๒๕ กลุ่ม ชมรมเหล่านี้รวมตัวกันเป็นกลุ่มนาคร และร่วมกับ นพ.บัญชา พงษ์พานิช ทายาทของคหบดีในจังหวัดนครศรีธรรมราช ขับเคลื่อนกิจกรรมในนามของ “สวนสร้างสรรค์นาคร-บวรรัตน์” และ “สวนหนังสือนาคร-บวรรัตน์” บริเวณสี่แยกท่าวัง ถนนราชดำเนิน ในตัวเมืองนครศรีธรรมราช เปิดร้านหนังสืออย่างเป็นทางการ และขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคมเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๘ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน แต่ปัจจุบันเหลือแต่สวนหนังสือนาคร-บวรรัตน์ เนื่องจากสมาชิก (ส่วนใหญ่) ต้องแยกย้ายกันไปคนละทิศคนละทาง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเราล้วนเป็นผลิตผลของขบวนการเดือนตุลาคม ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม แต่ท่ามกลางวันเวลาที่เปลี่ยนผันไปร่วมกึ่งศตวรรษ ขบวนการเดือนตุลาคมให้ทั้งความภาคภูมิใจ และความผิดหวังไม่ได้ดั่งใจ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
วันที่เกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ข้าพเจ้ากำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนคณาศัยวิทยา โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลปากแพรก อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช (ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว) ข้าพเจ้ารับรู้เรื่องราวเหตุการณ์ครั้งนี้ผ่านหนังสือพิมพ์ และเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวที่เพื่อนร่วมห้องเรียนชื่อจันทร์เพ็ญ แจ้งอักษร นำมาให้อ่าน เห็นภาพวีรชนถูกฆ่า (จิระ บุญมาก) เห็นประพัฒน์ แซ่ฉั่ว (อ้ายก้านยาว) ควงไม้พลองสู้กับอาวุธสงคราม ข้าพเจ้าแอบร้องไห้ และหลั่งน้ำตาโดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้จักคนในภาพเหล่านั้นเป็นการส่วนตัว หลังจากนั้นข้าพเจ้าติดตามความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา และประชาชนผ่านหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ที่ออกโดยผู้นำนักศึกษา และนักเขียนแนวก้าวหน้า
ตอนเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้าพเจ้ากำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดนครศรีธรรมราช ทราบเรื่องราวเหล่านั้นจากปากของอาจารย์อภิชัย สิทธิพล อาจารย์ประจำวิชาฟิสิกส์ ที่นำเรื่องนี้มาเล่า พร้อมทั้งตำหนิรุ่นพี่คนหนึ่งที่เป็นศิษย์เก่า และเป็นผู้นำคนสำคัญในเหตุการณ์ดังกล่าวคือ สุธรรม แสงประทุม คล้ายจะกำราบพวกเราว่า อย่าเอาอย่างรุ่นพี่คนนี้ แต่แทนที่ข้าพเจ้าจะเชื่อตามอาจารย์ว่า ข้าพเจ้ากลับชื่นชมรุ่นพี่ผู้มีความกล้าหาญ และเสียสละ และต่อมา ข้าพเจ้าทราบว่ามีรุ่นพี่อีกหลายคนที่ร่วมในขบวนการนักศึกษาทั้ง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
ข้าพเจ้ารู้จัก จิระนันท์ พิตรปรีชา จากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และติดตามผลงานแปลหนังสือแนวเพื่อชีวิตที่ซื้อด้วยเงินส่วนตัวเป็นเล่มแรกของหล่อนคือหนังสือชื่อ “เสียงร้องของประชาชน” หรือ “ข่าวลือเท็จ” เขียนโดย คิม ชี ฮา ชาวเกาหลีใต้ ข้าพเจ้าอ่านมันด้วยความสนุกสนาน และเชื่อตามที่นักเขียนเขาบอกทุกประการ และที่สำคัญเรื่องราวในหนังสือเล่มนั้นช่างละม้ายคล้ายคลึงกับเรื่องราวที่มันเกิดขึ้นในแผ่นดินบ้านเกิดของข้าพเจ้าเกือบทุกประการ โดยเฉพาะเรื่อง “โจรร้ายทั้งห้า”
หลังจากนั้น ข้าพเจ้าตะลุยอ่านวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน เริ่มจากบทกวีของกวีซีไรต์ และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ซึ่งเป็นรุ่นพี่จากเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราชคือ “อังคาร กัลยาณพงศ์” เพราะบทกวีชิ้นเด่นๆ ของท่านถูกนำมาปิดตามระเบียงด้วยความชื่นชมเชิดชูของอาจารย์สากล พรหมอักษร อาจารย์ประจำวิชาเคมีแต่หลงใหลคลั่งไคล้ในบทกวีทั้งของคาลิล ยิบราล และอังคาร กัลยาณพงศ์ โดยเฉพาะบทที่ว่า “วักทะเลเทใส่จาน…” “ฉันเอาฟ้าห่มให้หายหนาว…”
ไม่นานจากนั้น บทกวี เรื่องสั้น และนวนิยายทั้งของไทย และต่างประเทศก็ซึมซับอยู่ในสมองของข้าพเจ้า ไม่ว่าจะเป็น “อีศาน” ของนายผี “เปิบข้าว” ของจิตร ภูมิศักดิ์ “ทางเลือกเมื่อฟ้าหม่น” ของคมสัน พงษ์สุธรรม “อ้อมกอดภูผา” ของสำราญ รอดเพชร “แม่” ของแมกซิม กอร์กี งานหลายเล่มของดอสโต เยฟสกี ลีโอ ตอลสตอย มุลราช อนันต์ ปาจิณ ฌองปอล ซาตร์ ฯลฯ
บทเพลงเพื่อชีวิตของวงคาราวาน ฟ้าสาง เคียวเกี่ยวดาว เปลวเทียน คนด่านเกวียน แฮมเมอร์ ฆ้อนเคียว ฯลฯ ถูกขับขานพร้อมๆ กับกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนา และการก่อตั้งกลุ่มนักเขียน นักดนตรีในสถาบันอุดมศึกษาบ้านนอก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประภาคาร-ทะเลสาบสงขลา ในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยทักษิณ) สมาชิกประกอบด้วย ประมวล มณีโรจน์ รูญ ระโนด (จรูญ หยูทอง) ปอพอ ศรออน (คล้ายเทพ นนทพุทธ) มาบ หัวทีง (นิศรัย หนูหล่อ หรือนิรัติศรัย หล่ออรุโณทัย) ทัศนวิไล (ทัศนัย นวลวิลัย) ธัช ธาดา (เกษม จันทร์ดำ) สายธารสิโป (นิพล รัตนพันธ์)
กลุ่มเพื่อนวรรณกรรมในวิทยาลัยครูสงขลา (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา) สมาชิกประกอบด้วย ปัทมราษฎร์ เชื้อศูทร (ประทม เรืองฤทธิ์) เชื้อ ชูไท (ชาญวิทย์ คงเมือง หรือเชื้อเสือ คงเมือง)
นอกนั้นก็มีกลุ่มบุดใหม่ จังหวัดตรัง สมาชิกประกอบด้วย เทือก บรรทัด (เปลื้อง คงแก้ว) พันดา ธรรมดา (สมเจตนา มุนีโมไนย) กลุ่มประกายพรึก จังหวัดพัทลุง สมาชิกประกอบด้วย ไพฑูรย์ ธัญญา (ธัญญา สังขพันธานนท์) ยงยุทธ ชูยลชัด (ยงยทธ ชูแว่น) สมพร รัตนพันธ์ และสวาท สุวรรณวงศ์ ตั้งวงดนตรี “วงตาคำ”
กลุ่มสานแสงทอง พัทลุง สมาชิกประกอบด้วยสองพี่น้องแห่งตระกูล “สงสมพันธุ์” คือ กนกพงศ์ และเจน สงสมพันธุ์ ชมรมดอกไม้นครศรีธรรมราช สมาชิกประกอบด้วย รัตนธาดา แก้วพรหม (บุญเสริม แก้วพรหม) โอภาส สอดจิตต์ พระมหาจตรงค์ ศรีจงกล แก่นเพชร ภักดีพันธุ์ และสายใจ ปุญญานุพงศ์ กลุ่มคลื่นทะเลใต้ สุราษฎร์ธานี สมาชิกประกอบด้วย สมใจ สมคิด และบุญชัย ตันสกุล
ต่อมาปลายปี ๒๕๒๕ กลุ่ม ชมรมเหล่านี้รวมตัวกันเป็นกลุ่มนาคร และร่วมกับ นพ.บัญชา พงษ์พานิช ทายาทของคหบดีในจังหวัดนครศรีธรรมราช ขับเคลื่อนกิจกรรมในนามของ “สวนสร้างสรรค์นาคร-บวรรัตน์” และ “สวนหนังสือนาคร-บวรรัตน์” บริเวณสี่แยกท่าวัง ถนนราชดำเนิน ในตัวเมืองนครศรีธรรมราช เปิดร้านหนังสืออย่างเป็นทางการ และขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคมเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๘ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน แต่ปัจจุบันเหลือแต่สวนหนังสือนาคร-บวรรัตน์ เนื่องจากสมาชิก (ส่วนใหญ่) ต้องแยกย้ายกันไปคนละทิศคนละทาง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเราล้วนเป็นผลิตผลของขบวนการเดือนตุลาคม ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม แต่ท่ามกลางวันเวลาที่เปลี่ยนผันไปร่วมกึ่งศตวรรษ ขบวนการเดือนตุลาคมให้ทั้งความภาคภูมิใจ และความผิดหวังไม่ได้ดั่งใจ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)