ปัตตานี - ศอ.บต.เปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากกลุ่มสตรี รับฟังแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนพลังบทบาทของเด็ก เยาวชน และสตรี เตรียมเสนอต่อการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.)
จากการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อน สร้างความเข้มแข็ง พลังบทบาทของเด็ก เยาวชน และสตรี เพื่อความก้าวหน้าและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี โดยในวันนี้ (25 ก.ย.) ได้มีการสรุป และถอดบทเรียนจากการระดมความคิดเห็นของกลุ่มพลังสตรีในพื้นที่ ประกอบด้วย สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็ก เครือข่ายเยาวชน Dream South มูลนิธิเพื่อนหญิง เครือข่ายสตรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เครือข่ายภาคประชาสังคม กลุ่มสตรีผู้ได้รับผลกระทบ และกลุ่มสตรีในพื้นที่ เพื่อร่างเป็นแผนยุทธศาสตร์ 8 ข้อ เตรียมเสนอต่อการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 ก.ย.2556 โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดร.สิริกร มณีรินทร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารและพัฒนาความรู้ของประเทศ เป็นผู้รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มเครือข่ายสตรี เด็ก และเยาวชน ที่ร่วมกันเสนอความคิดเห็น
ดร.สิริกร มณีรินทร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารและพัฒนาความรู้ของประเทศ กล่าวว่า วันนี้เป็นการเปิดโอกาสให้สตรี เด็ก และเยาวชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ให้มีบทบาทในสังคมมากขึ้น เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการนำไปสู่แนวทางที่ถูกต้องและสามารถปฏิบัติได้จริง ซึ่งเป็นความต้องการอย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน ก็ต้องอาศัยความคิดเห็นจากคนกลุ่มอื่นด้วย
สำหรับยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง พลังบทบาทของเด็ก เยาวชน และสตรี เพื่อความก้าวหน้า และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 8 ข้อ ประกอบด้วย
1.การสร้างเจตคติด้านความเสมอภาคทางเพศ เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยอมรับบทบาทสตรีในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่น
2.การพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มโอกาสสิทธิทางสังคมของผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้สตรีทุกคน ทุกกลุ่มเข้าถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ การถือครองที่ดิน ทรัพย์สิน ความมั่นคงทางอาหารและอาชีพ การเข้าถึงการศึกษาทุกระดับ รวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้หญิง
3.การพัฒนาสุขภาวะ สิทธิ อนามัยเจริญพันธุ์ คุณภาพชีวิต และการเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิตของผู้หญิง เพื่อให้สตรีมีสุขภาพ สุขภาวะ เข้าถึงสิทธิ อนามัยเจริญพันธุ์ และคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม
4.การคุ้มครองสิทธิ การเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง เพื่อสนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงความยุติธรรม และได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายบัญญัติ
5.การพัฒนาศักยภาพสตรี เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีส่วนร่วมในการเมือง การบริหาร และการตัดสินใจในทุกระดับ เพื่อให้ผู้หญิงสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยอาศัยประสบการณ์ของผู้หญิง รวมถึงศักยภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมือง การบริหาร และการตัดสินใจในระดับต่างๆ
6.ส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา การศึกษาศาสนา และการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้หญิง และเด็ก เพื่อให้ผู้หญิงสามารถพัฒนาทักษะความรู้ให้มีความก้าวหน้า เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และสามารถนำความรู้มาใช้ในการพัฒนาครอบครัว ชุมชน และสังคม ทั้งนี้ ให้สอดคล้องกับศีลธรรมอันดี
7.การให้ผู้หญิงมีส่วนร่มในกระบวนการสร้างสันติภาพ
8.การสนับสนุน กลไก การขับเคลื่อนแผนการทำงาน เพื่อทราบความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามแผน รวมถึงปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินการ