นครศรีธรรมราช - ลือหึ่ง! ผวจ.นครศรีฯ ถูกเด้งไปภาคอีสาน ให้ ผวจ.นราธิวาส เข้ารับตำแหน่งแทน ขณะที่รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 เตือนนักศึกษารามคำแหงที่เข้ามาเคลื่อนไหวว่าผิด พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย อาจถูกดำเนินคดีได้ในภายหลัง ส่วนการจ่ายเงินค่าปุ๋ยวันแรกของ อ.ชะอวด ในวันพรุ่งนี้ถูกย้ายสถานที่ไปดำเนินการใน อ.ร่อนพิบูลย์ แทน
วันนี้ (23 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครศรีธรรมราช ว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุมชาวสวนยาง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และลูกหลานที่อาศัยอยู่ในย่านตำบลควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ต่างหิ้วปิ่นโตยกชั้นมาร่วมกันทำบุญเนื่องในโอกาสบุญสารทเดือนสิบ ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวนครศรีธรรมราช และชาวภาคใต้ยึดถือเป็นประเพณีสำคัญที่ลูกหลานจะต้องทำบุญให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับในช่วงเทศกาลนี้ ซึ่งตรงกับวันครบรอบการชุมนุมเรียกร้องราคายางพารา และปาล์มน้ำมัน ครบ 1 เดือนด้วย โดยบรรยากาศทั่วไปเป็นไปอย่างอบอุ่น และใกล้กับจุดประกอบพิธีทำบุญจะมีการวางหีบศพจำลองของผู้นำรัฐบาล และแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงที่เป็นชาวนครศรีธรรมราชอีกด้วย
โดยช่วงเช้าที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรสวนยางพาราจาก จ.สงขลา ประมาณ 100 คน ได้เดินทางมาร่วมชุมนุม และให้กำลังใจแก่กลุ่มเกษตรกรที่ยังปักหลักชุมนุมจนครบ 1 เดือน พร้อมกันนี้ ตัวแทนของเกษตรกรได้ขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีนโยบายการแก้ไขปัญหาราคายางของรัฐบาล ระบุว่า ไม่มีความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด ไม่ตรงกับความต้องการของเกษตรกรโดยแท้จริง
และในเวลาไล่เลี่ยกัน พล.ต.ต.กิตติสัณห์ เดชสุนทรวัฒน์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ได้เรียกประชุมศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 8 ส่วนหน้า เพื่อกำหนดมาตรการความปลอดภัยรองรับในกรณีอาจมีเหตุความวุ่นวายขึ้นในการจ่ายเงินชดเชยปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรเป็นวันแรกใน อ.ชะอวด และได้สั่งให้มีการเปลี่ยนสถานที่จ่ายเงินจากศาลาประชาคมอำเภอชะอวด เป็นศาลาประชาคมอำเภอร่อนพิบูลย์แทน เนื่องจากกังวลอาจมีการก่อความวุ่นวายขึ้นได้ในขณะดำเนินการ รวมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มมาตรการในการดูแลบุคคลสำคัญของกระทรวงเกษตร ที่จะเข้ามาในพื้นที่ติดตามการเบิกจ่ายเงิน
พล.ต.ต.กิตติสัณห์ กล่าวว่า ในการดำเนินการเรื่องแผนรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรกรณีการจ่ายเงินสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ศาลาประชาคมอำเภอร่อนพิบูลย์นั้น ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด โดยเฉพาะข้อห่วงใยว่าอาจจะมีคนเข้าไปก่อกวน เนื่องจากไม่อยากให้มีการจ่ายเงินให้เกษตรกร โดยจะมีการดูแลความปลอดภัยตั้งแต่บุคคลสำคัญที่เข้าไปในพื้นที่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ธ.ก.ส. มีการตั้งจุดตรวจเป็นชั้นๆ โดยเฉพาะการตั้งจุดตรวจเข้มแข็งพื้นที่โดยรอบ จุดตรวจย่อยบริเวณก่อนเข้าจุดจ่ายเงิน พร้อมมีการคัดกรองคนที่จะเข้ารับเงินในครั้งนี้ มีระบบควบคุมรักษาการณ์ภายในอาคาร พร้อมบันทึกภาพเคลื่อนไหวทุกขั้นตอน
ขณะเดียวกัน พล.ต.ต.กิตติสัณห์ ได้กล่าวเตือนนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่มาเคลื่อนไหวร่วมกับผู้ชุมนุม ว่า เป็นการกระทำผิด พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ที่สั่งห้ามการเข้าพื้นที่ชุมนุมอย่างชัดเจน ซึ่งอาจถูกดำเนินคดีภายหลัง ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมในวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น มีความคืบหน้าไปมากแล้ว อยู่ระหว่างทำสำนวนให้มีความรัดกุมที่สุด เพื่อนำไปเสนอศาลเพื่ออนุมัติหมายจับกุม
และในเวลาไล่เลี่ยกัน นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ประชุมเจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการร่วม โดยได้ขยายเวลา พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ต่อไปอีก ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ของวันที่ 23 ก.ย. ไปจนถึงเวลา 05.00 น. ของวันที่ 24 ก.ย. เป็นเวลา 12 ชม. และได้สั่งการให้เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช เร่งทำการขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ชะอวด และ อ.จุฬาภรณ์ ให้เร็วที่สุด และสามารถจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรใน 2 พื้นที่ให้ได้ครบโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้มีกระแสข่าวสะพัดในหมู่ข้าราชการบนศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งสอดคล้องกับกระแสข่าวก่อนหน้านี้ที่ นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ขอย้ายตัวเองออกจากพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยทราบว่าในที่สุด ครม.ได้มีมติโยกย้ายข้าราชการระดับผู้ว่าราชการจังหวัดหลายตำแหน่ง โดยหนึ่งในนั้นคือ นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และนายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ย้ายมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งในเรื่องนี้คงรอเพียงความชัดเจนจากมติ ครม.หลังจากนี้
ด้าน นายชาญศิลป์ ศรีมณี ผู้อำนวยการสำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. นครศรีธรรมราช ได้ประชุมเจ้าหน้าที่ของ ธ.ก.ส.นครศรีธรรมราช เพื่อเตรียมความพร้อมในการจ่ายเงินชดเชยค่าปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพารา จ.นครศรีธรรมราช ในวันพรุ่งนี้ (24 ก.ย.) ที่ศาลาประชาคมอำเภอร่อนพิบูลย์ ซึ่งมีการจ่ายเงินนำร่องให้แก่เกษตรกรประมาณ 400 ราย จาก 3 อำเภอ คือ อ.ชะอวด อ.จุฬาภรณ์ และ อ.ร่อนพิบูลย์
นายชาญศิลป์ ศรีมณี กล่าวว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้มีการเตรียมความพร้อมแล้ว 100% ในการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งได้รับการยืนยันจากเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า จะสามารถส่งรายชื่อเกษตรกรชาวสวนยางให้ ธ.ก.ส. ภายในเที่ยงวันนี้ เพื่อตรวจสอบว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน มีสวนยางกี่ไร่ จะได้รับเงินจำนวนเท่าไหร่ และบันทึกข้อมูลเกษตรกรลงในระบบคอมพิวเตอร์ของ ธ.ก.ส.
ซึ่งในการจ่ายเงินในวันพรุ่งนี้ (24 ก.ย.) จะใช้เจ้าหน้าที่ประมาณ 30 คน โดยจะนำตู้กดเงินอัตโนมัติ หรือตู้เอทีเอ็มไปให้บริการถึงที่ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์เพื่อเบิกเงินสดจากสมุดบัญชี หรือปรับสมุดว่ามีเงินอยู่ในบัญชีหรือไม่
ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส. นครศรีธรรมราช กล่าวด้วยว่า หากเกษตรกรไม่ต้องการเบิกเงินสดมาถือไว้ ก็สามารถไปเบิกได้ที่ตู้เอทีเอ็มของ ธ.ก.ส.ได้ทุกแห่ง หรือตู้เอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคารใน จ.นครศรีธรรมราช โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการกดเงินแต่อย่างใด ส่วนมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยได้มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งระบบการสื่อสาร โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต และระบบไฟฟ้า โดยมีนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จากสำนักงานใหญ่ของ ธ.ก.ส. เดินทางมาควบคุมดูแล และอำนวยการด้วยตัวเอง