ตรัง - วิทยาลัยการอาชีพตรังเจ๋ง! ประดิษฐ์มุ้งลวดพิฆาตยุงเพื่อใช้ในการกำจัดยุงตัวเต็มวัยที่เป็นพาหะนำโรค ด้วยต้นทุนเพียงแค่ชุดละ 2,000 บาท ติดตั้งวงจรได้ทั่วทั้งบ้าน โดยติดตั้งฉนวนกั้นกระแสไฟฟ้าเอาไว้ด้วย ทำให้ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ต่อมนุษย์
วันนี้ (20 ก.ย.) นายกำจร ตันวัฒนา ผู้อำนวยการ วิทยาลัยการอาชีพตรัง เปิดเผยว่า นายเกียรติ ณ ถลาง อาจารย์แผนกช่างเชื่อมโลหะ และคณะนักศึกษา ปวช.2/1 ได้ร่วมกันประดิษฐ์คิดค้นมุ้งลวดพิฆาตยุงขึ้น นับตั้งแต่เมื่อปี 2552 ก่อนที่จะพัฒนาต่อยอดจนประสบความสำเร็จ เพื่อใช้ในการกำจัดยุงตัวเต็มวัยที่เป็นพาหะนำโรคจากคนสู่คน หรือสัตว์สู่คน ทำให้วงจรชีวิตของยุงถูกตัดขาดจนไม่สามารถไปแพร่เชื้อ หรือขยายพันธุ์ได้อีก ส่งผลให้มนุษย์ที่อาศัยในบ้านเรือน หรือชุมชนปลอดภัยจากโรคที่มียุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย โรคเท้าช้าง และโรคปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา)
โดยการนำแผงตาข่ายที่มีความกว้างของช่อง ขนาด 9x9 มิลลิเมตร มาประกอบเข้ากับด้านในของมุ้งลวดหน้าต่างทั่วไป ซึ่งมีขนาด 60x120 เซนติเมตร มีฉนวนกั้นกระแสไฟฟ้า ขนาด 12 โวลต์ ซึ่งผลิตจากแผ่นพลาสติกมาขวางกั้นเอาไว้ระหว่างกลาง ก่อนติดเทปกาวให้รอบแผงตาข่าย และประกอบชุดวงจรช็อตยุง เพื่อทำหน้าที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านการควบคุมของ Timer โดยมีกล่องสัญญาณไฟฟ้าแสดงสถานะการทำงานอย่างชัดเจน ทำให้สามารถกำจัดยุงได้ทันที เนื่องจากหลอดไฟฟ้าที่นำไปติดตั้งนั้นยังช่วยเพิ่มความสนใจของยุงให้มาเกาะมุ้งลวดมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
สำหรับมุ้งลวดพิฆาตยุง ของแผนกช่างเชื่อมโลหะ สามารถกำจัดยุงได้ทุกชนิด และทุกขนาดอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการป้องกันการแพร่เชื้อโรค และไม่ให้ยุงเข้ามากัดในอาคารบ้านเรือนได้ ที่สำคัญคือ มีความปลอดภัยสำหรับเด็กเล็ก เนื่องจากมีการติดตั้งฉนวนกั้นกระแสไฟฟ้าเอาไว้ ทำให้ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ต่อมนุษย์ อีกทั้งยังมีต้นทุนต่ำ ประมาณชุดละ 2,000 บาท แต่สามารถต่อวงจรไปยังมุ้งลวดได้ทุกๆ บาน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก นอกจากนั้น ยังสามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ และประหยัดไฟฟ้า โดยการควบคุมให้เปิด-ปิดเฉพาะบางเวลาที่ต้องการใช้งาน เช่น ให้ช็อตทุกๆ 3 นาที หรือ 5 นาที