xs
xsm
sm
md
lg

เตือนระวังไข้ปวดข้อ “ชิคุนกุนยา” ระบาดพร้อมไข้เลือดออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.เตือนประชาชนระวังโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา จะกลับมาระบาดพร้อมโรคไข้เลือดออก หลังผลวิจัยพบว่าในหลายพื้นที่โดยเฉพาะสตูล ชุมพร ตรัง สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ยุงลายสวนติดเชื้อชิคุนกุนยาสูงถึงร้อยละ 39 ยุงบางตัวมีทั้งเชื้อไวรัสเดงกี และเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาอยู่ในตัวเดียว และพบว่าไม่จำเป็นว่ายุงต้องไปกัดผู้ป่วยแล้วจึงจะมีเชื้อ วิธีป้องกันโรคได้ดีที่สุดคือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ทั้งกลางวันและกลางคืน

นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยผลการวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าในหลายพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดสตูล ชุมพร ตรัง สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ยุงลายสวนติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) สูงถึงร้อยละ 39 ยุงบางตัวติดเชื้อไวรัสทั้งสองชนิด ได้แก่ เชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งทำให้เกิดไข้เลือดออก และเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา หรือไข้ปวดข้อยุงลาย นอกจากนี้ความรู้จากการวิจัยยังพบว่าไม่จำเป็นว่ายุงต้องไปกัดผู้ป่วยแล้วจึงจะมีเชื้อ และเชื้อไวรัสทั้งสองชนิดนี้ยังสามารถถ่ายทอดจากแม่ยุงไปยังลูกยุงได้ด้วย

วิธีการป้องกันโรคได้ดีที่สุดคือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณบ้าน เช่น โอ่งเก็บน้ำฝนไม่มีฝาปิด อ่างเก็บน้ำในห้องน้ำ จานรองขาตู้กับข้าว แจกันบูชาพระ กระป๋อง ถ้วยน้ำ หรือแก้วพลาสติกที่ทิ้งไม่เป็นที่เป็นทางและมีน้ำขัง เศษขยะ กล่องโฟม รวมถึงยางรถยนต์เก่า เป็นต้น ด้วยวิธีการง่ายๆ เช่น คว่ำหรือปิดฝาภาชนะดังกล่าวให้สนิท ตรวจรอบๆ บ้านว่ามีแหล่งน้ำขังหรือไม่ หากมีต้องกำจัดการเก็บกวาดสิ่งปฏิกูลออกไป และอีกทางหนึ่งคือการป้องกันไม่ให้ยุงกัดทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งแต่เดิมเข้าใจว่ายุงลายกัดเฉพาะเวลากลางวัน แต่ผลการวิจัยพบว่าปัจจุบันในบ้านเรายุงลายกัดไม่เลือกเวลา ปรับตัวตามพฤติกรรมของคน และพบว่าอุณหภูมิบนยอดดอย ที่สูงขึ้นทำให้ยุงลายกัดบ่อยขึ้นและขยายพันธุ์ได้บนภูเขาสูง ต่างจากความรู้เดิมที่ว่ายุงลายบ้านไม่สามารถขยายพันธุ์ได้บนที่สูงเกิน 350 เมตร ดังนั้นอาจจะทำให้เกิดการระบาดของไข้ปวดข้อยุงลายและไข้เลือดออกในหมู่ชาวดอย เพราะไม่เคยมีภูมิคุ้มกันมาก่อน

นพ.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า การป้องกันการกัดของยุง นอกจากใส่เสื้อผ้ามิดชิดแล้ว ต้องชโลมยาทากันยุงให้ทั่วส่วนที่โผล่พ้นเสื้อผ้า เพราะกลไกการป้องกันยุงของสารทาป้องกันยุงที่สำคัญ คือ ปกป้องบริเวณที่ทาไม่ให้ยุงหาเป้าหมายเจอ ส่วนบริเวณผิวหนังใกล้เคียงซึ่งไม่ได้ทายาจะไม่ถูกปกป้อง ซึ่งสารออกฤทธิ์ที่ป้องกันยุงกัดได้ดีที่สุด และมีอายุการใช้งานยาวนานในการเก็บมากที่สุดจนถึงขณะนี้ คือสารดีท หรือไดเอททิลโทลูเอไมด์ ที่มีความเข้มข้นร้อยละ 15-30 โดยน้ำหนัก ซึ่งจะป้องกันการกัดของยุงทั้งกลางวันและกลางคืนได้ 4-7 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับตำรับ บุคคล และสิ่งแวดล้อมบริเวณที่ใช้

องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้ใช้ป้องกันโรคที่ระบาดโดยแมลง รองลงมาจากดีท คือ สารออกฤทธิ์ที่เหมาะสำหรับใช้กับเด็กเล็กต่ำกว่า 4 ขวบ ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบกรดอะมิโนจากธรรมชาติ คือ ไออาร์ 3535 หรือเอททิลบิวทิลอะซิติลอะมิโนโปรปิโอเนท โดยองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (United States Environmental Protection Agency) หรือยูเอสอีพีเอ อนุญาตให้ใช้ในเด็กได้ตั้งแต่อายุหกเดือน แต่ในประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ใช้ได้ตั้งแต่สองขวบขึ้นไป

สำหรับน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรต้องทาซ้ำทุกครึ่งชั่วโมง สำหรับป้องกันการกัดของยุงลาย หรือยุงน้ำกร่อย และทาซ้ำทุก 2-3 ชั่วโมง สำหรับการป้องกันการกัดของยุงกลางคืน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำรับที่แต่ละแหล่งผลิต และในการใช้ผลิตภัณฑ์ทาป้องกันยุงหากรู้สึกร้อนผิวให้ล้างออกด้วยสบู่และน้ำสะอาด และเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์แผ่นไล่ยุงชนิดแมท ซึ่งใช้คู่กับอุปกรณ์เสียบไฟฟ้า เนื่องจากบางคนผิวจะไวต่อการแพ้ แต่ควรใช้ในที่ซึ่งอากาศถ่ายเทได้ ซึ่งจะปกป้องการกัดได้ประมาณร้อยละ 80-90

นพ.สมชาย แสงกิจพร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเฝ้าระวังระดับพันธุกรรมของเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา พบว่าขณะนี้มีทั้งสายพันธุ์แอฟริกาที่กลายพันธุ์และสายพันธุ์เอเชียดั้งเดิม คนไทยบางคนและนักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา จึงเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคนี้ แม้ว่าจะไม่ทำให้ตายเหมือนไข้เลือดออก แต่ความทรมานจากการปวดข้อรุนแรงและไม่หายขาด บางรายปวดข้อเป็นปีก็ยังไม่หายและแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ที่ได้รับเชื้อสามารถถ่ายทอดไปสู่ทารกได้ ทำให้ทารกเกิดใหม่มีไข้ มีผื่น ไม่ค่อยขยับตัว และหายใจเร็ว ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ จึงไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง แต่ให้ไปที่สถานบริการสาธารณสุข จะได้เข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังโรคและให้การรักษาที่ถูกต้อง

เนื่องจากอาการของโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยามีลักษณะคล้ายกับโรคไข้เลือดออก การตรวจรักษาของแพทย์จำเป็นต้องอาศัยผลการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการเพื่อเป็นเครื่องมือยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้พัฒนาศักยภาพระบบการตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัสชิคุนกุนยา และเชื้อไวรัสเดงกีทางห้องปฏิบัติการ รวมทั้งดำเนินการเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้สามารถรายงานผล ได้อย่างรวดเร็วและมีความถูกต้อง แม่นยำ โดยเฉพาะ ในรายเร่งด่วนสามารถตรวจวิเคราะห์และรายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นผลดีต่อแนวทางการรักษาผู้ป่วยและการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนทั่วประเทศ สามารถส่งตัวอย่างของผู้ป่วยมาตรวจวิเคราะห์ได้ที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือในส่วนภูมิภาคส่งตรวจได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ สมุทรสงคราม ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา และตรัง
กำลังโหลดความคิดเห็น