กรมวิทย์ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บตัวอย่างยุงจากหลายจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นำมาตรวจหาเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ และเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบ ผลการตรวจยังไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองชนิด
นพ.นิพนธ์ โพธ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กลุ่มกีฏวิทยาทางการแพทย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิจัยเรื่อง การเฝ้าระวังการระบาดของไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบเจอี และเวสต์ไนล์ โดยร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขเก็บตัวอย่างยุงจากบริเวณโดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อนำมาตรวจหาชนิดของยุงว่าเป็นพาหะหรือไม่ และตรวจหาเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ และเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี ผลการตรวจพบว่ายุงบริเวณนั้น เป็นยุงรำคาญชนิด Culex gelidus, Cx. vishnui และ Cx. quinquefasciatus คิดเป็นร้อยละ 52, 41 และ 7 ตามลำดับ โดยยุงทั้ง 3 ชนิดเป็นยุงที่กัดเวลากลางคืน และเคยตรวจพบว่าเป็นยุงพาหะนำโรคไข้สมองอักเสบในประเทศไทยในพื้นที่อื่นๆ เช่น ที่ลพบุรี และนครปฐม แต่จากการสุ่มตัวอย่างยุงจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นำมาตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อในยุง ด้วยวิธีอาร์ทีพีซีอาร์ ผลปรากฏว่ายังไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองชนิด
นพ.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า เชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ และเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบ โดยมียุงเป็นพาหะนำโรค ซึ่งในปีที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ 5,387 ราย เสียชีวิต 243 ราย ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของแต่ละปี ปัจจุบันโรคนี้มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่เคยมีรายงานการระบาด แต่พบว่ายุงประมาณ 60 ชนิดที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ในสหรัฐอเมริกาเป็นยุงชนิดเดียวกับที่มีในประเทศไทย อีกทั้งปัจจุบันประเทศไทยกำลังส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยว ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกประเทศไทยตลอดเวลา และเนื่องจากผู้ติดเชื้อที่เป็นพาหะของโรคนี้บางรายไม่แสดงอาการ เมื่อเดินทางเข้ามาภายในประเทศแล้วถูกยุงกัดจึงอาจแพร่เชื้อดังกล่าวได้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ทำการเฝ้าระวังพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ได้แก่ สนามบิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ผลปรากฏว่ายังไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองชนิดในยุงที่เก็บจากพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับคนไทยที่สนามบินแห่งชาติและแหล่งท่องเที่ยวของเราปลอดยุงที่มีเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบ
อย่างไรก็ตามกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังคงเฝ้าระวังเชื้อไวรัสในยุงอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ และเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบเจอีเท่านั้น ยังมีการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ ในยุง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสเดงกีซึ่งทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก โดยกรมจะจัดการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้จากการวิจัยสู่กลุ่มผู้ปฏิบัติ เรื่อง แนวทางใหม่ในการควบคุมยุงพาหะไข้เลือดออกและไข้ปวดข้อยุงลาย โดยจะให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้อัตราการติดเชื้อไวรัสเดงกีและชิคุนกุนยาในยุงเฝ้าระวังการระบาด การควบคุมยุงโดยใช้กับดักยุงแบบดักตายที่มีสารดึงดูดจากธรรมชาติ และการจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ วิธีการทดสอบประสิทธิภาพและการดื้อต่อสารเคมีกำจัดแมลง ความรู้เกี่ยวกับสารเคมีชนิดใหม่สำหรับป้องกันกำจัดแมลงที่เป็นปัญหาสาธารณสุข ตลอดจนเทคนิคการพ่นกำจัดยุงให้มีประสิทธิภาพและการบำรุงรักษาเครื่องพ่น ในวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2556 ณ โรงแรมภูเก็ต เมอร์ลิน จังหวัดภูเก็ต โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื้อหาเหมาะสำหรับผู้ที่มีหน้าที่ป้องกันกำจัดแมลงทางการแพทย์ รับจำนวนจำกัด 80 คน ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดและสมัครเข้ารับการอบรมได้ที่ เว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ www.dmsc.moph.go.th หรือโทรสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ดร.อุษาวดี ถาวระ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร.0-2589 9856 ต่อ 99245