xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! แมลงต้นเหตุโรคติดเชื้อ 17% สั่งเข้มไข้เลือดออก เหตุเสือเหลืองป่วยพุ่ง 4 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เผยแมลงเป็นสาเหตุการป่วยของโรคติดเชื้อถึง 17% โดยเฉพาะยุงก่อโรคให้คนไทยมากถึง 5 โรค เร่งรณรงค์ประชาชนปรับสิ่งแวดล้อม ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ ด้านกรมควบคุมโรคเผยปีนี้ไข้เลือดออกป่วยลดลง 75% แต่ต้องเฝ้าระวังเหตุมาเลเซียป่วยพุ่งสูง 4 เท่า

วันนี้ (8 เม.ย.) นพ.ทรงยศ ชัยชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน กล่าวระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดงานนิทรรศการวันอนามัยโลก (World Health Day 2014) ซึ่งตรงกับวันที่ 7 เม.ย.ของทุกปี ว่า วันอนามัยโลกปีนี้เน้นเรื่อง “แมลงพาหะนำโรค : Vector-borne disease” เพราะเป็นพาหะทั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และพาราสิตต่างๆ เข้าสู่คน ก่อให้เกิดโรคได้มากถึง 12 โรค อาทิ ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยา เท้าช้าง มาลาเรีย ไข้เหลือง ไข้ลิซมาเนีย ไข้สมองอักเสบ เป็นต้น โดยแมลงเป็นสาเหตุการป่วยถึงร้อยละ 17 ของโรคติดเชื้อทั้งหมด สร้างปัญหาให้คนทั่วโลก ในแต่ละปีมีผู้ป่วยจากถูกแมลง ได้แก่ ยุง ริ้นทรายฝอย และเห็บกัดมากกว่า 2,500 ล้านคน ในกว่า 100 ประเทศ เสียชีวิต 1 ล้านกว่าคน

นพ.ทรงยศ กล่าวว่า ในประเทศไทย ยุงถือเป็นตัวก่อโรค ให้คนไทยป่วยที่รู้จักอย่างน้อย 5 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ ชิคุนกุนยา เท้าช้าง และมาลาเรีย ในปี 2556 พบรวมกัน 170,051 ราย เสียชีวิต 159 ราย อันดับ 1 คือ ไข้เลือดออก มีผู้ป่วยสะสมถึง 153,765 ราย มากกว่าปี 2555 ถึง 2 เท่าตัว เสียชีวิต 132 ราย รองลงมาคือ มาลาเรีย พบผู้ป่วย 14,741 ราย เสียชีวิต 6 ราย ไข้สมองอักเสบป่วย 716 ราย เสียชีวิต 17 ราย มาตรการลดผู้ป่วยของโรคที่เกิดจากยุง สธ.เน้นให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง รณรงค์ให้ประชาชนรักษาความสะอาดสิ่งแวดล้อม ลดแหล่งน้ำเสีย ลดปริมาณขยะ จัดบ้านพักให้โล่ง โปร่ง สบาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ นอนในมุ้ง ใช้ยาทากันยุง ซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่อง หากป่วยจะได้รับการรักษาทันเวลา และกินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า แมลงที่เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญที่สุดก็คือยุง เพราะก่อให้เกิดโรคต่างๆ ทั้งโรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย โรคไข้สมองอักเสบ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยา เป็นต้น ถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงทางสุขภาพ อย่างโรคไข้เลือดออก ทั่วโลกมีคนตายมากกว่า 1 ล้านคน ประชากรกว่าครึ่งโลกคือประมาณ 2,000 ล้านคน อยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีอากาศร้อนชื้นเหมาะแก่การแพร่พันธุ์ของยุง ทำให้พื้นที่นี้มีปัญหาอย่างมาก โดยร้อยละ 70 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วโลก มาจากผู้ป่วยในภูมิภาคนี้

เมื่อปี 2556 นับเป็นปีที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกในไทยสูงสุดในรอบ 20 ปี แต่ปี 2557 ขณะนี้มีผู้ป่วย 3,790 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีที่แล้วถึง 75% เสียชีวิต 3 ราย แต่ต้องไม่ประมาท เพราะมาเลเซียซึ่งปีที่แล้วมีการป่วยน้อย แต่ปีนี้กลับระบาดสูงกว่าถึง 4 เท่า ขณะนี้มีผู้ป่วยแล้ว 22,000 ราย ซึ่งสาเหตุอาจมาจากภูมิต้านทานและชนิดของเชื้อ ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้ในไทยจะมีผู้ป่วยจากโรคไข้เลือดออกมากประมาณ 80,000-100,000 ราย แต่หากควบคุมสถานการณ์ได้ดีจำนวนอาจลดลง” อธิบดี คร.กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนโรคชิคุนกุนยา พบมากในสิงคโปร์ ส่วนไทยปีนี้พบ 5 ราย ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต จันทบุรี และฉะเชิงเทรา โรคมาลาเรียส่วนใหญ่พบบริเวณชายแดนไทย-พม่า แนวโน้มลดลงทั้งคนไทยและต่างชาติ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วโดยคนไทยลดลง ร้อยละ 45 ต่างชาติลดลง ร้อยละ 61 แต่ยังพบเชื้อดื้อยาในบางพื้นที่ เช่น แม่สอด จ.ตาก และจันทบุรี ต้องเร่งควบคุมป้องกัน โดยเฉพาะปี 2558 ซึ่งจะมีการเปิดอาเซียน ชายแดนจะยิ่งมีแรงงานหมุนเวียนเข้า-ออกต่อเนื่อง จึงต้องตรวจคัดกรองและติดตามต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น