รอยเตอร์ – ไวรัสข้ออักเสบ “ชิคุนกุนยา” ซึ่งมียุงเป็นพาหะกำลังระบาดหนักในดินแดนเฟรนช์โปลินีเซีย และพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีแนวโน้มว่าเชื้ออาจจะข้ามพรมแดนไปถึงชาติแปซิฟิกอื่นๆ หน่วยงานสาธารณสุขในภูมิภาคแถลงเตือนวันนี้(3)
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ชิคุนกุนยาเป็นไวรัสที่ระบาดประปรายอยู่ในทวีปแอฟริกาและเอเชีย แต่ในปีนี้กลับพบผู้ติดเชื้อเกือบ 1 ล้านคนในประเทศแถบละตินอเมริกาและแคริบเบียน
เฟรนช์โปลินีเซียซึ่งมีประชากรราว 268,000 คนพบผู้ติดเชื้อไวรัสที่เข้ารับการรักษาแล้ว 18,000 คนตั้งแต่เดือนตุลาคม โดยในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย ซึ่งถือเป็นการระบาดครั้งแรกบนหมู่เกาะกลางทะเลแห่งนี้
“ในที่สุดประชากรที่นั่นอาจติดเชื้อถึงครึ่งค่อนประเทศ” อองรี-ปิแอร์ มาลเลต์ หัวหน้าสำนักงานเฝ้าระวังด้านสาธารณสุขระบุ พร้อมเตือนว่าไวรัสจะยิ่งระบาดหนักเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน
ทั้งนี้ ยังมีรายงานผู้ติดเชื้ออีกกว่า 2,500 คนในซามัวตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ส่วนดินแดนอเมริกันซามัวและโตเกเลาก็พบการระบาดของไวรัสชิคุนกุนยาเช่นกัน สำนักงานเลขาธิการประชาคมแปซิฟิก (Secretariat of the Pacific Community – SPC) ซึ่งมีฐานที่นิวแคลิโดเนีย ระบุ
“คลื่นการระบาดของไวรัสชิคุนกุนยาเพิ่งจะมาได้ครึ่งทางเท่านั้น... มีความเสี่ยงสูงมากที่มันจะแพร่กระจายต่อไปยัง 14 ประเทศที่ยังไม่พบผู้ป่วย” ดร.อดัม รอธ นักระบาดวิทยาจาก เอสพีซี เผย
เอสพีซี เป็นหน่วยงานระดับภูมิภาคที่สนับสนุนการพัฒนาใน 22 ประเทศหมู่เกาะและดินแดนแถบแปซิฟิก
ไวรัสชิคุนกุนยาซึ่งมียุง 2 ชนิดเป็นพาหะจะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการไข้ ปวดศีรษะ และปวดตามข้อต่อ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือยาที่จะรักษาได้
ในบรรดาเชื้อโรคที่มียุงเป็นพาหะ ไวรัสชิคุนกุนยาสามารถทำให้เกิดอาการป่วยเรื้อรังที่สุด โดยผู้ติดเชื้อบางคนจะปวดทรมานตามข้อจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้นานเป็นเดือนๆ
“โรคนี้ไม่เพียงเป็นภาระหนักต่อระบบสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังบ่อนทำลายเศรษฐกิจอีกด้วย” ดร.รอธ กล่าว
วิกฤตการเงินโลกเมื่อช่วงปี 2008 ส่งผลให้เศรษฐกิจของเฟรนช์โปลินีเซียซวนเซ กระทบถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนบนดินแดนนี้