xs
xsm
sm
md
lg

โรคเสี่ยงระบาดหนักปี 2558 “อุจจาระร่วง” พุ่งแน่กว่าล้านราย ระวัง ก.ย.แพร่หลายโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทำนายโรคเสี่ยงระบาดหนักปี 2558 พบ “อุจจาระร่วง” น่าห่วง ป่วยพุ่งมากกว่า 1.03 ล้านคน ขณะที่ “ตาแดง” ป่วยหลักแสน “ไข้เลือดออก - หวัดใหญ่” ยังติดอันดับต้องจับตา เผยช่วง ก.ย. เป็นเดือนที่ระบาดหนักสุดหลายโรคต้องระวัง

วันนี้ (30 ธ.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) แถลงข่าวเรื่อง “กรมควบคุมโรค..พยากรณ์โรคที่ต้องจับตามองในปี 2558” ว่า เมื่อปี 2556 คร. ได้พยากรณ์โรคที่จะระบาดในปี 2557 จำนวน 7 โรค พบว่า ถูกต้องตามคาดการณ์ 4 โรค ได้แก่ โรคสุกใส โรคไข้สมองอักเสบ โรคไข้กาฬหลังแอ่น และไวรัสตับอักเสบ เอ ส่วนที่ไม่เป็นไปตามคาดการณ์มี 3 โรค คือ ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค และไอกรน โดยโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคมือ เท้า ปากที่คาดว่าจะไม่ระบาดมาก กลับระบาดเป็นจำนวนมาก สำหรับการพยากรณ์โรคในปี 2558 นั้นได้ใช้กระบวนการเดิม คือ ใช้รูปแบบจำลองชุดข้อมูลและรายปี และดูแนวโน้มของสถานการณ์ โดยได้พยากรณ์โรคใน 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มโรคติดต่อและโรคติดต่ออุบัติใหม่ 2. พยากรณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงปีใหม่และสงกรานต์ และ 3. จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผอ.สำนักระบาดวิทยา คร. กล่าวว่า กลุ่มโรคติดต่อและโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่น่าจับตาในปี 2558 แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. โรคที่จะมีการระบาดมากกว่าปี 2557 เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% มี 5 โรคด้วยกัน ประกอบด้วย โรคไข้เลือดออก มีจำนวนผู้ป่วยในปี 2557 ประมาณ 39,000 ราย คาดว่าปี 2558 จะเพิ่มเป็น 45,000 ราย โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา ซึ่งมีผู้ป่วยในปี 2557 ไม่เกิน 200 ราย แต่ปี 2558 คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงถึง 2,500 ราย สูงสุดใน พ.ค. ประมาณ 800 ราย โรคไทฟอยด์ จากเดิมปี 2557 ป่วยประมาณ 1,000 กว่าราย เพิ่มเป็น 2,000 รายในปี 2558 คาดสูงสุดในช่วง ก.ค.ประมาณ 280 ราย โรคเมลิออยโดสิส จากเดิมปี 2557 ป่วยประมาณ 2,800 ราย จะเพิ่มเป็นประมาณ 3,100 ราย คาดพบสูงสุดใน ก.ย.ประมาณ 240 ราย และโรคตาแดง จากเดิมปี 2557 ป่วยประมาณ 4 แสนกว่าราย จะเพิ่มเป็น 660,000 รายในปี 2558 สูงสุดในช่วง ก.ย. ประมาณ 87,000 ราย

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า 2. โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่น่าจับตามองในปี 2558 ซึ่งไม่มีการระบาดในประเทศไทย ได้แก่ โรคไข้หวัดนก ต้องเฝ้าระวัง เพราะประเทศเพื่อนบ้านยังมีการระบาดอยู่ เช่น จีน กัมพูชา เวียดนาม ไต้หวัน เป็นต้น ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 3. โรคที่มีแนวโน้มการรายงานผู้ป่วยสูงมากขึ้น แต่ไม่ถึง 20% ของปี 2557 ที่ต้องจับตามองคือ โรคเท้าช้าง โรคสครับไทฟัส ซึ่งเกิดจากตัวไรอ่อน อหิวาตกโรค โรคบิด และโรคไข้หูดับ ซึ่งโรคเหล่านี้จำนวนผู้ป่วยไม่มาก และ 4. โรคที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากและน่าจับตามอง ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ พบประมาณ 70,000 รายในปี 2557 จะเพิ่มเป็น 90,000 รายในปี 2558 ระบาดสูงสุดในช่วง ก.ย. 13,838 ราย โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ในปี 2557 พบประมาณ 1 ล้านคน ส่วนปี 2558 จะเพิ่มเป็น 1.03 ล้านคน สูงสุดในช่วง ม.ค. ประมาณ 1.16 แสนคน โรคอาหารเป็นพิษ คาดป่วยสูงสุด 1.29 แสนราย และโรคมือเท้าปาก คาดป่วยสูงสุด 40,000 ราย

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ พบว่า ช่วงปี 2549 - 2553 จำนวนผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง แต่หลังจากปี 2553 เริ่มคงที่ประมาณ 321 - 366 คน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ และประมาณ 271 - 323 คนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนปีใหม่ 2558 คาดว่า จะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 335 - 384 คน และสงกรานต์ปี 2558 ประมาณ 292 - 347 คน ส่วนกลุ่มผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พบว่า โรคหลอดเลือดสมองจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ปี 2558 คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิต 26,610 ราย และโรคหัวใจขาดเลือด จะมีผู้เสียชีวิต 17,810 ราย สำหรับโรคที่มีผู้ป่วยลดลงในปี 2558 คือ โรคปอดบวม หัด และคอตีบ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า หลังจากนี้กรมฯ จะส่งข้อมูลดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรับทราบข้อมูล เพื่อจัดเตรียมมาตรการ ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ในการรับมือกับโรค โดยหลักการสำคัญคือ 1. ป้องกันโรคล่วงหน้า โดยการฉีดวัคซีน พัฒนากฎหมาย พัฒนาระบบคัดกรองและการรักษา รวมพัฒนาศักยภาพด่านควบคุมโรค 2. เฝ้าระวัง ตรวจจับโรคและภัยสุขภาพให้ได้อย่างรวดเร็ว โดยพัฒนาระบบข้อมูลสำหรับการเฝ้าระวังโรค 5 มิติ ในส่วนของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการวิเคราะห์ข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์ และ 3. การตอบโต้โรคและภัยอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พัฒนาทีมสอบสวนโรคสหสาขาวิชาชีพเคลื่อนที่เร็ว อย่างไรก็ตาม หากมีการบริหารจัดการรับมือโรคระบาดที่ดี จำนวนผู้ป่วยอาจน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าการปรับค่าตอบแทนนักระบาดวิทยา ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมโรคและสอบสวนโรค นพ.โสภณ กล่าวว่า ได้นำเสนอต่อ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข แล้ว อย่างไรก็ตาม การปรับพิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนต้องพิจารณาพร้อมกันทุกกรม ทุกสาขาวิชาชีพ โดยทีมที่ปรึกษารัฐมนตรี สธ. จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ในประเด็นดังกล่าวว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น