ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สาธารณสุขฯ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเอาชนะไข้เลือดออกจังหวัดภูเก็ต เพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกของชาติ ด้วยยุทธศาสตร์ “พลังแผ่นดินเอาชนะไข้เลือดออก” ภายใต้ชื่อ “ชาวภูเก็ตร่วมใจสกัดยุงลายให้สงบ สยบไข้เลือดออกปีหน้า”
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (16 ก.ย.) ที่ห้องประชุมกลุ่มจังหวัดชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมตามโครงการรณรงค์ควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกของชาติ ด้วยยุทธศาสตร์ “พลังแผ่นดิน เอาชนะไข้เลือดออก” ภายใต้ชื่อ “ชาวภูเก็ตร่วมใจสกัดยุงลายให้สงบ สยบไข้เลือดออกปีหน้า” โดยมี ดร.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์บัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษาจากทุกสังกัด ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงในจังหวัดภูเก็ต และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.เข้าร่วม
นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และมีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้ตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออก ด้วยพลังชุมชนเข้มแข็ง จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ “พลังแผ่นดินเอาชนะโรคไข้เลือดออก” ด้วยการรวมพลังทุกภาคส่วน เป็นพลังแผ่นดินในการต่อสู้กับโรคไข้เลือดออก โดยยึดอำเภอเป็นฐานดำเนินการกำจัดตัวอ่อน และตัวแก่ของยุงลาย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างต่อเนื่องในทุกสัปดาห์ ในระยะเวลา 2 เดือน หรือ 8 สัปดาห์ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ซึ่งในครั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยจะเป็นหน่วยงานหลัก โดยมีนายอำเภอเป็นผู้นำในการนำพาทุกภาคส่วนลงมือทำในฐานะเจ้าของพื้นที่ และประธานศูนย์ปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะโรคไข้เลือดออกระดับอำเภอ ด้วยมาตรการเยี่ยมบ้าน และเคาะประตูบ้าน
จังหวัดภูเก็ต จะเริ่มปฏิบัติการ “ยุทธการต้านยุงลาย 333” รอบที่ 3 ซึ่งประกอบด้วย กิจกรรม 3 วันแรกรุกรบ ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2556 กิจกรรม 3 สัปดาห์เร่งรัด ระหว่างวันที่ 18 กันยายน-9 ตุลาคม 2556 และกิจกรรม 3 เดือนรณรงค์ ระหว่างวันที่ 18 กันยายน-18 ธันวาคม 2556 โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นในชุมชน จะทำการค้นหาผู้ที่มีไข้ในชุมชนละแวกบ้านที่พบผู้ป่วยไข้ 3 วันติดต่อกัน หากพบผู้ที่มีไข้จะจ่ายยาทากันยุง 6 ซองต่อคน พร้อมทั้งแจกบัตรแนะนำผู้ที่สงสัยป่วยเป็นไข้เลือดออก
ทั้งนี้ ในบ้านที่พบผู้ที่มีไข้ จะทำการแจกสเปรย์กระป๋องฉีดพ่นยุง 1 กระป๋อง โดยให้เจ้าของบ้านฉีดพ่นทันทีติดต่อกัน 3 สัปดาห์ เพื่อกำจัดยุงที่มีเชื้อพร้อมทั้งแนะนำให้เจ้าของบ้านกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้าน รอบบ้านทุกสัปดาห์ “อย่าให้ยุงเกิด อย่าให้ยุงกัด” ส่วนในสถานศึกษานั้น ให้ครู หรือหัวหน้าชั้นสำรวจเด็ก นักเรียน นักศึกษาที่มีไข้ในชั้นเรียนทุกวัน จ่ายยาทากันยุง พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งรับผิดชอบทราบเพื่อติดตามผลทุกระยะ
นอกจากนี้ เน้นการประชาสัมพันธ์ยุทธการ 333 เพื่อกระตุ้นเตือนประชาชนตามสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์ Big Cleaning Day เน้นการจัดการสิ่งแวดล้อม ขยะ และภาชนะที่มีน้ำขัง เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พร้อมทั้งจัดให้มีการประกวดบ้านสะอาดปราศจากลูกน้ำยุงลาย และชุมชนสะอาดปราศจากลูกน้ำยุงลาย โดยมีรางวัลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอำเภอ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อีกด้วย นายไมตรีกล่าวในที่สุด