กทม.เผยยอดผู้ป่วยไข้เลือดออกพุ่ง 7,133 ราย พบในผู้ป่วย อายุ 10-20 ปีมากสุด กำชับเจ้าหน้าที่ให้ความรู้ประชาชนเน้นให้ปฏิบัติตามหลัก 3 ป.
วันนี้ (19 ส.ค.) นางวันทนีย์ วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยตัวเลขจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกที่สูงถึง 90,000 ราย ว่า ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกของ กทม.มีสูงถึง 7,133 ราย ซึ่งถือว่าสูงกว่าปีที่แล้วถึง 1.7 เท่า โดยมีอัตราการป่วย 125 ต่อแสนประชากร ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้เสียชีวิตแล้ว 1 คน และขณะนี้ กทม.อยู่ในอันดับที่ 36 ของประเทศ ถึงแม้ว่าจะหลุดจาก 10 อันดับแรกก็ยังถือว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วง ดังนั้นทางสำนักอนามัยจึงได้ร่วมมือกับศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อร่วมกันรณรงค์ และให้ความรู้แก่ประชาชนโดยการให้ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในบ้าน เพราะจากการสำรวจพบว่าแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายส่วนมากจะอยู่ตามโอ่งน้ำ จานรองตู้กับข้าว ดังนั้นประชาชนควรดำเนินการตามมาตรการ 3 ป.คือ ปิด เปลี่ยน ปล่อย นอกจากนี้ประชาชนต้องป้องกันไม่ให้โดนยุงกัด และเมื่อมีอาการไข้สูงติดต่อกันนาน 3 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อจะได้ตรวจดูเกล็ดเลือดว่าต่ำหรือไม่ แต่หากเกิดในเด็กเมื่อไข้ลดแล้วอาจจะมีอาการซึม ตนอยากเตือนให้ผู้ปกครองสังเกตอาการลูกด้วย
สำหรับผู้ป่วยที่พบว่าเป็นไข้เลือดออกส่วนมากจะอยู่ที่อายุระหว่าง 10-20 ปี เพราะกลุ่มดังกล่าวอาจจะประมาทมากเกินไป เพราะคิดว่าไข้เลือดออกเกิดเฉพาะกับเด็ก อย่างไรก็ตามจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเฝ้าระวังในทุกเขตของ กทม.ทั้งเขตชั้นนอกและชั้นใน ทั้งนี้ทางกทม.ได้ประสานกับกรมควบคุมโรคให้จัดรณรงค์สัปดาห์กำจัดยุงลาย และพ่นยาในชุมชนเพื่อกำจัดตัวแก่ ซึ่งเป็นพาหะสำคัญ สำหรับในโรงเรียนนั้นได้ให้ดำเนินการไปตั้งแต่ก่อนเปิดภาคเรียนแล้ว อย่างไรก็ตามตนอยากให้ประชาชนมีความตื่นตัวในการดูแลตัวเองให้มากขึ้น ถึงแม้ว่าอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยดูเหมือนว่าจะลดลง แต่ก็ไม่ควรประมาท