xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมสืบทอดประเพณีเก่าแก่ “ไหว้พระจันทร์” ที่ทุ่งยาว 17-19 ก.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วันไหว้พระจันทร์” หรือเรียกเป็นภาษาจีนว่า “ตงชิวโจ่ย” ซึ่งจัดขึ้นในพื้นที่เทศบาลตำบลทุ่งยาว อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ถือเป็นประเพณีอันเก่าแก่ที่ชาวทุ่งยาว ซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว ได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานกว่า 100 ปีแล้ว ซึ่งจะตรงกับวันเพ็ญเดือนแปด ตามปฏิทินของจีน

 
โดยเฉพาะการที่ชาวทุ่งยาวจะพร้อมใจกันจัดโต๊ะไหว้พระจันทร์ไว้หน้าบ้านเรือนของตนเอง หรือเรียงรายตลอดสองข้างถนน รอบตลาดสดเทศบาลตำบลทุ่งยาว อันถือเป็นภาพที่สวยงาม และมีมนต์เสน่ห์ยิ่งนัก จนถือได้ว่าเป็นชุมชนเพียงแห่งเดียวของประเทศไทยในขณะนี้ ที่ยังคงยึดถือธรรมเนียมดังกล่าวนี้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ชาวทุ่งยาวอีกส่วนหนึ่ง ยังจะแต่งกายด้วยชุดกี่เพ้าแบบโบราณ (ภาษาจีนกลางเรียก ฉีเผา) โดยเป็นชุดของสตรีแมนจู ในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) ซึ่งก็ยิ่งทำให้บรรยากาศของงานเต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งวัฒนธรรมแบบจีนๆ มากยิ่งขึ้น

 
“วันไหว้พระจันทร์” ซึ่งตรงกับวันสารทกลางฤดูใบไม้ร่วงนั้น ถือเป็นพิธีที่จักรพรรดิจีนสมัยโบราณนิยมกระทำกัน อีกทั้งยังถือเป็นการรำลึกถึง “องค์ไทอิมเนี้ย” เทพผู้ให้ความสงบสุขแก่สรรพสิ่งในโลก และถือว่าเป็นเทพที่มีสิริโฉมงดงามที่สุดองค์หนึ่ง ที่จะเสด็จมาโปรดสัตว์โลกในคืนพระจันทร์เต็มดวงของเดือนแปด

นอกจากนั้น วันดังกล่าวนี้ยังเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์จีน ตอนที่ “จูง่วนเจียง” ผู้นำชาวจีนสมัยนั้น ได้สร้างประเพณีนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นอุบายในการปฏิบัติปลดแอกชาวจีน ออกจากการปกครองของชาวมองโกล ในสมัยราชวงศ์หยวน ซึ่งขณะนั้นได้ริบอาวุธชาวจีนไว้ทั้งหมด และห้ามตีเหล็กทำอาวุธ

ความคิดที่จะกู้ชาติของชาวจีนจึงเกิดขึ้น โดยกำหนดให้ “วันไหว้พระจันทร์” เป็นวันยึดอำนาจคืนจากชาวมองโกล แล้วให้แต่ละครอบครัวทำอาวุธ และแอบซ่อนไว้ใต้ “ขนมโก๋” หรือ “ขนมเปี๊ยะ” ที่มีขนาดใหญ่ไส้หนาเป็นพิเศษ พร้อมทั้งยังให้มีการจัดงานประเพณีขึ้น เพื่อเป็นการตบตา จนกระทั่งทุกอย่างสัมฤทธิผล

 
ในอดีตบรรพบุรุษชาวจีนที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ ได้มารวมตัวกันก่อตั้งเป็นชุมชนเรียกว่า “ปาดังด้า” หรือบ้านทุ่งยาวในปัจจุบัน จึงทำให้ทุกๆ คนให้ความสำคัญกับประเพณีวัฒนธรรมของชาวจีน ที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ยุคสมัยโบราณ โดยเฉพาะประเพณี “ไหว้พระจันทร์” สำหรับโต๊ะไหว้ รวมทั้ง “ขนมเปี๊ยะ” หรือของที่ตั้งไหว้นั้น มักจะเป็นรูปทรงกลม เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ และความกลมเกลียว พร้อมทั้งยังมีการประดับประดาด้วยดอกไม้ โดยเฉพาะ “ดอกเบญจมาศ” สีเหลืองอร่าม ซึ่งถือเป็นดอกไม้ตามฤดูกาลที่สำคัญของชาวจีน

 
นอกจากนั้น แต่ละโต๊ะไหว้ก็ยังมีต้นอ้อย 2 ต้น หรือต้นอ้อยโคมไฟ ซึ่งมีความเชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรือง และความหวาน ควบคู่กับเครื่องสำอาง แป้งปัดหน้า สบู่ แชมพู ผ้าเช็ดหน้า ตลอดจนอาหารเจ และขนมหวานต่างๆ ที่จัดใส่ในภาชนะอย่างสวยงาม เพื่อเป็นการอนุรักษ์ และสืบสานประเพณี “ไหว้พระจันทร์” ให้คงอยู่สืบไป อีกทั้งเพื่อเป็นสื่อกลางให้ชาวไทยเชื้อสายจีนได้มาร่วมกันรำลึกถึงบรรพบุรุษ “เทศบาลตำบลทุ่งยาว” ภายใต้การนำของ นายบุญโชค ชัยเกษตรสิน หรือโกลาภ จึงได้มีการจัดงานดังกล่าวขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปี

ทั้ง 3 วันจะมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การแสดงบนเวทีของเด็กและเยาวชนที่เป็นลูกหลานชาวทุ่งยาว การเดินขบวนพาเหรด การแข่งขันกินขนมกุยช่าย ซึ่งเป็นขนมขึ้นชื่อของตำบลทุ่งยาว รวมทั้งการจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมความเป็นมาของชุมชน และการออกร้านจำหน่ายอาหารจีนหลากรส

โดยเฉพาะการประกวด “ธิดาไหว้พระจันทร์” และ “โต๊ะไหว้พระจันทร์” ที่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ และถือเป็นไฮไลต์ของงาน ทั้งประเภทสวยงาม และประเภทอนุรักษ์ศรัทธา ทั้งนี้ ชาวทุ่งยาวแต่ละบ้านจะพร้อมใจประดับประดา “โต๊ะไหว้พระจันทร์” ของตนเอง เพื่อให้ออกมาสวยงามวิจิตรตระการตา

ดังนั้น จึงทำให้การจัดกิจกรรมในแต่ละปี ได้รับความสนใจจากประชาชน และนักท่องเที่ยวทั้งในจังหวัดตรัง และจากต่างจังหวัด เดินทางมาร่วมชม และร่วมกิจกรรมกันเป็นจำนวนมากนับหมื่นๆ คน รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และครูสอนภาษาจีนที่เข้ามาทำงานอยู่ในจังหวัดตรัง

 
สำหรับในปี 2556 ได้กำหนดจัด “งานไหว้พระจันทร์” ขึ้น ในช่วงระหว่างวันที่ 17-19 กันยายนนี้ ณ บริเวณตลาดสดเทศบาลตำบลทุ่งยาว โดยจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้ง 3 วัน นับตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-7528-9510
 
ภาพ/เรื่อง - เมธี เมืองแก้ว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น