xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมสืบทอดประเพณี “ไหว้พระจันทร์” วัฒนธรรมคู่เมืองตรังกว่า 100 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชาวทุ่งยาว อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ลูกหลานเลือดเนื้อเชื้อไข “จีนแต้จิ๋ว” ร่วมกันสืบสาน “ประเพณีไหว้พระจันทร์” ตรงกับ “วันเพ็ญเดือนแปด” ตามปฏิทินของจีน วัฒนธรรมที่ถือปฏิบัติกันมากว่า 100 ปี มนต์เสน่ห์ที่ถือได้ว่าเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวของประเทศไทย เชิญร่วม และชมประเพณีได้ ระหว่างวันที่ 26-30 ก.ย.นี้ ที่ตลาดเทศบาลตำบลทุ่งยาว

 
ประเพณี “ไหว้พระจันทร์” หรือเรียกเป็นภาษาจีนว่า “ตงชิวโจ่ย” เป็นงานเทศกาลอันเก่าแก่ที่ชาวทุ่งยาว อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรังซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสาย “จีนแต้จิ๋ว” ได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานกว่า 100 ปีแล้ว อันจะตรงกับ “วันเพ็ญเดือนแปด” ตามปฏิทินของจีน โดยเฉพาะการที่ชาวทุ่งยาวจะพร้อมใจกันจัดโต๊ะไหว้พระจันทร์ ไว้หน้าบ้านเรือนของตนเอง หรือเรียงรายตลอดสองข้างถนนรอบ “ตลาดเทศบาลตำบลทุ่งยาว” อันถือเป็นภาพที่สวยงามและมีมนต์เสน่ห์ยิ่งนัก จนถือได้ว่าเป็นชุมชนเพียงแห่งเดียวของประเทศไทยในขณะนี้ ที่ยังคงยึดถือธรรมเนียมดังกล่าวนี้อย่างต่อเนื่อง
แต่งกายด้วย ชุดกี่เผ้า แบบโบราณ
 
นอกจากนี้ ชาวทุ่งยาวอีกส่วนหนึ่งยังจะแต่งกายด้วย “ชุดกี่เผ้า” แบบโบราณ (ภาษาจีนกลางเรียก ฉีเผา) โดยเป็นชุดของสตรีแมนจู ในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) ซึ่งขณะนั้นปกครองแบบ 8 แว่นแคว้น หรือเรียกกันว่า “ปาฉี” ส่วนเสื้อผ้าที่มีลักษณะเป็นชุดยาวตลอดลำตัวเรียกกันว่า “เผา” จึงเป็นที่มาของ ”ชุดฉีเผา”หรือ “กี่เผ้า” อันสวยงาม ซึ่งก็ยิ่งทำให้บรรยากาศของงานเต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งวัฒนธรรมแบบจีนๆ มากยิ่งขึ้น

 
“วันไหว้พระจันทร์” ซึ่งตรงกับวันสารทกลางฤดูใบไม้ร่วงนั้น มีการเล่าสืบต่อกันมาว่า จักรพรรดิจีนสมัยโบราณจะทำพิธีเซ่นไหว้พระอาทิตย์ ในฤดูใบไม้ผลิ และจะทำพิธีไหว้พระจันทร์ ในฤดูใบไม้ร่วง อีกทั้งการ “ไหว้พระจันทร์” ยังถือเป็นการไหว้เพื่อรำลึกถึง “องค์ไทอิมเนี้ย” เทพผู้ให้ความสงบสุขแก่สรรพสิ่งในโลก และถือว่าเป็นเทพที่มีสิริโฉมงดงามที่สุดองค์หนึ่ง ที่จะเสด็จมาโปรดสัตว์โลกในคืนพระจันทร์เต็มดวงของเดือนแปด

 
นอกจากนั้น วันดังกล่าวนี้ยังเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์จีน ตอนที่ “จูง่วนเจียง” ผู้นำชาวจีนสมัยนั้น ได้สร้างประเพณีนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นอุบายในการปฏิบัติปลดแอกชาวจีน ออกจากการปกครองของชาวมองโกล ในสมัยราชวงศ์หยวน ซึ่งตรงกับ พ.ศ.1911 หรือสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีของไทย โดยในการปกครองของชาวมองโกลสมัยนั้น ได้ตั้งกฎไว้ว่า ชาวจีน 3 ครอบครัว ต้องเลี้ยงดูชาวมองโกลอย่างดี 1 คน มีการริบอาวุธชาวจีนไว้ทั้งหมด และห้ามตีเหล็กทำอาวุธ พร้อมทั้งให้มีเพียงมีดหั่นผัก 1 เล่ม ใช้รวมกัน 5 ครอบครัว

ความคิดที่จะกู้ชาติของชาวจีนที่รักความอิสระ เกิดขึ้นในรูปของการแอบตั้งขบวนการใต้ดิน โดยการกำหนดให้ “วันไหว้พระจันทร์” คือ วันเพ็ญเดือนแปด เป็นวันทำการปฏิวัติ หรือเป็นวันดีเดย์ของชาวจีนในการยึดอำนาจคืนจากชาวมองโกล โดยให้แต่ละครอบครัวทำอาวุธ และแอบซ่อนเอกสารนัดหมายไว้ใน หรือใต้ “ขนมโก๋” หรือ “ขนมเปี๊ยะ” ที่มีขนาดใหญ่ไส้หนาเป็นพิเศษ พร้อมกับให้มีธรรมเนียมแลกเปลี่ยนขนมกันระหว่างญาติมิตร พร้อมทั้งยังให้มีการจัดงานประเพณีขึ้น เพื่อเป็นการตบตาชาวมองโกล จนกระทั่งทุกอย่างสัมฤทธิผล

 
ชาวทุ่งยาวมีบรรพบุรุษเป็น “ชาวแต้จิ๋ว” ที่อพยพมาจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนหนึ่งมาขึ้นที่ฝั่งท่าเรือแหลมหยงสตาร์ ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน และอีกส่วนหนึ่งมาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือทุ่งหญ้าคา (บ้านทอนนาหมู่ในปัจจุบัน) ชาวจีนกลุ่มดังกล่าวได้รวมตัวกันก่อตั้งเป็นชุมชน เรียกว่า “ปาดังด้า” (บ้านทุ่งยาวในปัจจุบัน) ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีอายุมายาวนานจนถึงปัจจุบันกว่า 100 ปีแล้ว ดังนั้น ด้วยเหตุที่ชาวทุ่งยาวมีบรรพบุรุษเป็นชาวจีนทุกๆ คนจึงให้ความสำคัญกับประเพณีวัฒนธรรมของชาวจีนที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ยุคสมัยโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ “ประเพณีไหว้พระจันทร์”

 
สำหรับโต๊ะไหว้พระจันทร์นั้น คนจีนมักจะใช้โต๊ะกลม ขณะที่ “ขนมเปี๊ยะ” หรือของที่ตั้งไหว้ ก็มักจะเป็นรูปทรงกลมเช่นกัน เนื่องจากมีความเชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ และความกลมเกลียว พร้อมทั้งยังมีการประดับประดาด้วยดอกไม้ โดยเฉพาะ “ดอกเบญจมาศ” สีเหลืองอร่าม ซึ่งถือเป็นดอกไม้ตามฤดูกาลที่สำคัญของชาวจีน นอกจากนั้น แต่ละโต๊ะไหว้ก็ยังมีต้นอ้อย 2 ต้น หรือ “ต้นอ้อยโคมไฟ” ที่มีความเชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรือง และความหวาน ควบคู่กับเครื่องสำอาง แป้งปัดหน้า สบู่ แชมพู ผ้าเช็ดหน้า ตลอดจนอาหารเจ และขนมหวานต่างๆ ที่จัดใส่ในภาชนะอย่างสวยงาม

 
เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสาน “ประเพณีไหว้พระจันทร์” ให้คงอยู่สืบไป อีกทั้งเพื่อเป็นสื่อกลางให้ชาวไทยเชื้อสายจีนได้มาร่วมกันรำลึกถึงบรรพบุรุษ “เทศบาลตำบลทุ่งยาว” จึงได้มีการจัดงานดังกล่าวนี้ขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยตลอดทั้ง 5 วันจะมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การแสดงบนเวทีของเด็กและเยาวชนที่เป็นลูกหลานชาวทุ่งยาว การเดินขบวนพาเหรด การแข่งขันกิน “ขนมกุยช่าย” ซึ่งเป็นขนมขึ้นชื่อของตำบลทุ่งยาว รวมทั้งการจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมความเป็นมาของชุมชน

โดยเฉพาะการประกวดธิดาไหว้พระจันทร์ และการประกวดโต๊ะไหว้พระจันทร์ ที่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในวันไหว้พระจันทร์ และถือเป็นไฮไลต์ของงาน ซึ่งจะจัดให้มีการประกวดใน 2 ประเภท คือ ประเภทสวยงาม และประเภทอนุรักษ์ศรัทธา ทั้งนี้ ชาวทุ่งยาวแต่ละบ้านก็จะมีการแข่งขันประดับประดาโต๊ะไหว้พระจันทร์ของตนเอง เพื่อให้ออกมาสวยงามวิจิตรตระการตา นอกจากนั้น ยังมีการออกร้านจำหน่ายอาหารจีนหลากรสแบบสูตรดั้งเดิม จากผู้ประกอบการร้านอาหารที่ขึ้นชื่ออีกจำนวนกว่า 60 ร้านด้วย

 
นายบุญโชค ชัยเกษตรสิน หรือโกลาภ นายกเทศมนตรีตำบลทุ่งยาว บอกว่า การจัดงาน “ประเพณีไหว้พระจันทร์” ในทุกๆ ปีที่ผ่านมา จะได้รับความสนใจจากประชาชน และนักท่องเที่ยว ทั้งในจังหวัดตรัง และจากต่างจังหวัด เดินทางมาร่วมชมงาน และร่วมรับประทานอาหารกันเป็นจำนวนมากนับหมื่นๆ คน รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และครูสอนภาษาจีนที่ปัจจุบันทำงานกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดตรัง จนสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนไม่ต่ำกว่า 4-5 ล้านบาท

 
สำหรับในปี 2555 นี้ งาน “ประเพณีไหว้พระจันทร์” จะมีขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 26-30 กันยายน รวม 5 วัน 5 คืน ซึ่งเชื่อว่าบรรยากาศยังคงคึกคักเหมือนเช่นทุกๆ ปี เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นให้คนรุ่นหลังได้ยึดถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติต่อไป
บรรยากาศประกวดธิดาไหว้พระจันทร์ ประจำปี 2554
ธิดาไหว้พระจันทร์ ประจำปี 2554




ภาพ/เรื่อง - เมธี เมืองแก้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น