วังน้ำเขียว ในอดีตคือตำบลเล็กๆ ในเขตป่าเขา ขึ้นต่ออำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ชื่อวังน้ำเขียว มีที่มาจากมีวังน้ำที่ใสสะอาด สะท้อนภาพสีเขียวจากป่าและเขาที่อุดมสมบูรณ์ จึงได้รับการขนานนามว่า “วังน้ำเขียว”
ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ที่เป็นช่วงพรรคคอมมิวนิสต์คุกคามประเทศไทย พื้นที่ของตำบลวังน้ำเขียว โดยเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และทับลาน ที่เป็นพื้นที่ภูเขาสลับซับซ้อน จึงเป็นเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์หมดยุคสูญสลายไป และหลังจากพื้นที่ป่าสัมปทานที่กรมป่าไม้อนุญาตให้เอกชนได้รับสัมปทานการทำไม้ในเขตป่าสงวนสิ้นสุดลง พื้นที่ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ กลายสภาพเป็นเขาหัวโล้น ที่มีแต่ตอไม้ในพื้นที่ป่าที่กว้างไกลนับพันนับหมื่นไร่ ราษฎรที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิม รวมทั้งราษฎรที่อพยพมาเพิ่มเติมจากหลายจังหวัดทางภาคอีสาน และภาคกลางบางส่วน จึงพากันเข้าจับจองพื้นที่ทำการเกษตร โดยเผาตอไม้และปรับสภาพพื้นที่ ปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพดและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดพังทลายของหน้าดินอย่างมากมาย เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นเนินเขาลาดชันไม่เหมาะสำหรับการปลูกพืชไร่
ต่อมาเมื่อสภาพพื้นดินเริ่มเสื่อมโทรมจากการถูกชะล้างหน้าดิน การปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง ให้ผลผลิตต่ำ ชาวบ้านและเกษตรกรก็หาทางออกด้วยการขายที่ดินให้แก่นายทุน หรือคหบดีผู้มีอันจะกิน ที่สนใจสภาพพื้นที่ภูมิประเทศเนินเขาที่สลับซับซ้อนสวยงาม และอากาศที่สะอาดเย็นสบาย เมื่อขายที่ดินได้ ราษฎรเหล่านั้นก็จะทำการบุกรุกพื้นที่ป่าอื่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อทำการเกษตรพืชไร่ สลับกับการขายที่ดินที่บุกรุกมาได้ให้แก่นายทุนที่อยากได้ หรือหนักข้อเข้าก็ร่วมกันกับนายทุนบุกรุกกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จากจอบเสียมและมีดพร้ากลายเป็นเลื่อยยนต์และเครื่องจักรกล เป็นวัฏจักรสืบเนื่องตลอดมา โดยเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องไม่อาจระงับยับยั้งหรือปล่อยปละละเลย หรือมีผลประโยชน์ร่วมอยู่ในขบวนการบุกรุกพื้นที่ป่านั้นด้วยก็เป็นได้ จึงเป็นเหตุให้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่า ยังคงดำรงอยู่และป่าไม้ประเทศไทยลดน้อยถอยลงตลอดมาและตลอดไป
ในปี พ.ศ. 2535 กระทรวงมหาดไทย ได้ทำการแยกตำบลส่วนหนึ่ง จำนวน 4 ตำบลออกจากอำเภอปักธงชัย คือ ตำบลวังน้ำเขียว ตำบลวังหมี ตำบลอุดมทรัพย์ และตำบลระเริง รวมกันตั้งเป็นอำเภอวังน้ำเขียว และในปี 2536 ได้ตั้งตำบลไทยสามัคคีเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งตำบล อำเภอวังน้ำเขียว จึงมีพื้นที่การปกครองเป็น 5 ตำบล 83 หมู่บ้าน และแบ่งการปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 1 เทศบาล 6 อบต. คือเทศบาลตำบลศาลเจ้าพ่อ องค์การบริหารส่วนตำบลวังน้ำเขียว, วังหมี, อุดมทรัพย์, ระเริง และ ไทยสามัคคี
อำเภอวังน้ำเขียว มีสภาพภูมิประเทศล้อมรอบด้วยภูเขาสูงเกือบทุกด้าน บริเวณภายในที่ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาสูง จะเป็นเนินเขาใหญ่น้อยสลับกับพื้นที่ลาดชัน ทำให้มีทิวทัศน์ที่สวยงาม มีอากาศที่เย็นสบายเกือบทั้งปีมีฝนตกชุก หลังฝนตกในตอนเช้าและตอนเย็นจะปกคลุมด้วยหมอกกระจายไปทั่วพื้นที่ ทำให้เกิดความสวยงามแบบธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร อันเป็นที่มาของคำขวัญว่า “วังน้ำเขียว เมืองหนาว ภูเขามากมาย น้ำตกหลากหลาย ผลไม้นานาพันธุ์ แดนสวรรค์เมืองในหมอก”
นับตั้งแต่ได้ยกระดับเป็นอำเภอวังน้ำเขียวเป็นต้นมา ทางจังหวัดนครราชสีมาร่วมกับอำเภอ ได้พยายามโหมประโคมโฆษณาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัด โดยประกาศเป็นแหล่งโอโซนบริสุทธิ์ 1 ใน 7 ของโลก และให้สมญานามว่าเป็น “สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย” มีการจัดงานวันดอกเบญจมาศบาน การจัดงานไม้ดอกไม้ประดับวังน้ำเขียวฟลอร่า แฟนตาเซีย มหกรรมงานศิลป์ ดินแดนแห่งความสุข และอีกสารพัดสารพันที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ จนอำเภอวังน้ำเขียวแปรเปลี่ยนเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ ให้ความสนใจมาเที่ยวมาชมกันอย่างมากมาย ไม่แพ้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ผลพลอยได้จากการเป็นแหล่งท่องเที่ยว ไม่เพียงแต่ทำให้เกษตรกรที่ปลูกพืชผักไร้สารพิษ และผลไม้ต่างๆ ดอกไม้เมืองหนาวและกล้วยไม้นานาพันธุ์ ตลอดจนการเพาะเห็ด มีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวและส่งออก ซึ่งเป็นสิ่งน่าส่งเสริมสนับสนุน แต่รายได้มหึมาที่ตามมาก็คือ ราคาที่ดินที่ถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆจากไร่ละหมื่นเป็นไร่ละแสนไร่ละล้าน ตามความอยากได้ใคร่มีที่ดิน “สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย” ของบรรดาเศรษฐีผู้มีอันจะกินจากต่างแดนหรือไม่เว้นแม้แต่เศรษฐีชาวโคราช ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่เกิดค่านิยมกลัวจะน้อยหน้าคนอื่นถ้าไม่มีที่ดินบนวังน้ำเขียว จึงเกิดการแห่กันไปซื้อขายที่ดินกันแบบสะพัดเทน้ำเทท่า อย่างไม่น่าเชื่อ ถึงกับมีคนเปรียบเปรยว่า ที่ดินวังน้ำเขียวซื้อขายกันยังกับยาบ้า
และที่ดินที่ตกอยู่ในมือนายทุนได้แปรสภาพเป็นโรงแรม รีสอร์ต ภัตตาคาร โฮมสเตย์ บ้านพักตากอากาศ สวนเกษตรไฮโซ และอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวเนื่องกับการต้อนรับนักท่องเที่ยว และการเสพสุขของบรรดาผู้มีอันจะกิน เฉพาะรีสอร์ตน้อยใหญ่ นับรวมกันได้ ถึงกว่า 500 รีสอร์ต
ความเจริญเติบโตทางวัตถุ และความสุขดื่มด่ำกับธรรมชาติวังน้ำเขียว เหมือนล่องลอยอยู่บนวิมานฟองสบู่ ซึ่งไม่นานต่อมาฟองสบู่ก็พลันแตก ข้อเท็จจริงเปิดเผยให้เห็นว่า อำเภอวังน้ำเขียวมีขนาดพื้นที่ 1,129.9 ตารางกิโลเมตร หรือ 706,243 ไร่ แต่ในจำนวนพื้นที่ดังกล่าวนี้ เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 173,218 ไร่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 12,500 ไร่ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเขาหลวง 78,350 ไร่ ป่ากันคืน สปก. 170,000 ไร่ รวมพื้นที่ของหลวงประมาณ 430,000 ไร่ หรือประมาณ 60% และในจำนวนพื้นที่ที่เหลือประมาณ 270,000 ไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร นอกนั้นจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ถนนหนทาง และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า พื้นที่ทั้งหมดในอำเภอวังน้ำเขียวไม่สามารถที่จะออกโฉนด หรือแม้แต่ น.ส. 3 ได้เลยแม้แต่แปลงเดียว
ดังนั้น พื้นที่ที่เอกชนหรือเกษตรกรถือครองอยู่ทั้งนอกและในพื้นที่ของรัฐเหล่านี้ แม้จะมีการเปลี่ยนมือซื้อขายกันมาอย่างต่อเนื่องก็ไม่สามารถเอาไปทำนิติกรรมใดที่ถูกต้องตามกฎหมายได้เลย พื้นที่ของอำเภอวังน้ำเขียวจะต้องเป็นของรัฐทั้งหมด ดังนั้นผู้ที่เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ยกเว้นเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรจาก สปก.และใช้ที่ดินอย่างถูกต้อง จึงเป็นผู้ที่บุกรุกพื้นที่ของรัฐและกระทำผิดกฎหมายทั้งหมด และถ้าจะดำเนินการทั้งหมด ผู้ประกอบธุรกิจ เจ้าของบ้านพัก และพี่น้องเกษตรกรที่ประกอบอาชีพอยู่ในอำเภอวังน้ำเขียว หรือแม้แต่สถานที่ราชการหลายแห่งก็คงต้องถูกดำเนินคดีด้วย
และวันดีคืนร้าย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยอธิบดีดำรง พิเดช ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการไปเมื่อไม่กี่วันนี้ ก็เกิดลุกตื่นขึ้นมาก่อนเกษียณ จะเอาจริงเอาจังกับผู้บุกรุกพื้นที่ป่าแบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ ทั้งสิ้น ลุยฟ้องร้องเป็นคดี และลุยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกพื้นที่ป่า โดยประโคมเป็นข่าวแพร่หลายทางสื่อมวลชน ปัญหาจึงเกิดโกลาหลขึ้นทั้งอำเภอวังน้ำเขียว เพราะทำท่าจะผิดกฎหมายกันทั้งหมด และอาจต้องถูกรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างกันทั้งอำเภอ
ร้อนถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องเข้ามาสอบสวนทวนความกรณีนี้ ตามที่มีผู้ไปร้องทุกข์ ซึ่งศาสตราจารย์ศรีราชา เจริญพาณิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เผยผลสอบปัญหาการครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ และที่ดิน สปก. ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ว่า “เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนโยบายแต่ละหน่วยงานไม่สอดคล้อง เกิดความขัดแย้งและแบ่งเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายปกครองและท้องถิ่น สนับสนุนพร้อมทั้งรับรองสิทธิการอยู่อาศัย และทำกินของราษฏรส่งเสริมและกำหนดให้การท่องเที่ยวในเขตอ.วังน้ำเขียวเป็นยุทธศาสตร์ของอำเภอ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและการเกษตรเชิงนิเวศอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมทั้งกรมป่าไม้ไม่ได้ออกสำรวจตรวจสอบเพื่อบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่อย่างจริงจังและต่อเนื่องปล่อยปละละเลยให้มีราษฎรเข้ายึดครอบครองและทำประโยชน์อยู่อาศัยทำกินทำการเกษตรก่อสร้างที่พักอาศัยและใช้ประโยชน์ในที่ดินมาเป็นเวลานาน จนทำให้ราษฎรที่เปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์หรือราษฎรผู้รับโอนสิทธิต่อนั้น เกิดเข้าใจหรือเชื่อโดยสุจริตว่าสามารถกระทำเช่นนั้นได้ อีกทั้งไม่ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามที่ได้มีการรังวัดกันออกให้แล้วเสร็จตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 แต่กลับเร่งรัดดำเนินการตรวจยึดดำเนินคดีกับราษฎรในพื้นที่ โดยยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด”
ศาสตราจารย์ ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ยื่นข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่วังน้ำเขียวว่า ควรชะลอการดำเนินคดีกับชาวบ้านที่บุกรุกพื้นที่โดยสุจริตถ้าชาวบ้านสามารถพิสูจน์ได้ว่า ได้ครอบครองและใช้พื้นที่ทำประโยชน์โดยสุจริตหรือได้มาด้วยเชื่อว่า สามารถใช้พื้นที่ในการทำกินได้ ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐมาหวงห้าม ณ เวลานั้น แม้จะผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลก็ควรจะชะลอการดำเนินคดีและไล่ชาวบ้านออกไปจากพื้นที่ออกไปก่อน โดยควรกำหนดเวลาในการให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ออกไปอย่างน้อยสิบปี
แต่ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบใดๆ ชัดเจนจากรัฐบาลต่อกรณีปัญหาที่ดินอำเภอวังน้ำเขียว ปัญหาจึงยังคาราคาซังอยู่อย่างน่าปวดเศียรเวียนเกล้า เพราะยังไม่รู้จะจบลงในรูปแบบใด
หลายวันก่อนผู้เขียนตั้งใจจะขึ้นไปสูดโอโซนที่วังน้ำเขียวเพื่อพักผ่อน ผ่อนคลาย และเพิ่มพลังชีวิตให้ตนเอง แต่ก็ต้องไปรับรู้เรื่องราวข้างต้นนั้น ให้อ่อนเพลียละเหี่ยใจร่วมกับคนวังน้ำเขียว ที่กำลังจะถูกป่ารุกคืนเสียอีก ก็ได้แต่นอนฟังเสียงฝนทั้งคืน และลุกตื่นมาระบายเป็นบทกวี เมื่อรุ่งสางท่ามกลางฟ้าหลังฝนที่สวยงาม แต่วังเวงใจชอบกล