xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นร่วมรำลึกหนึ่งปีมหาภัยพิบัติ ย้ำวิกฤตผู้นำ-วิบากกรรมนิวเคลียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระจักรพรรดิ อากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินี มิชิโกะ พร้อมด้วยนายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ บนเวทีรำลึก 1 ปี เหตการณ์สึนามถล่มญี่ปุ่น 11 มีนาคม
เอเจนซี/เอเอฟพี - ชาวญี่ปุ่นร่วมไว้อาลัย สวดมนตร์ และเดินขบวนต่อต้านนิวเคลียร์ วันอาทิตย์ (11) ในวาระครบรอบ 1 ปีมหาธรณีพิโรธและสึนามิที่คร่าชีวิตผู้คนร่วมสองหมื่น ซ้ำจุดชนวนวิกฤตการแพร่กระจายกัมมันตรังสีครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 1 ชั่วอายุคน ซึ่งบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อพลังงานนิวเคลียร์ตลอดจนถึงผู้นำของประเทศ

หนึ่งปีหลังเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ 9.0 ที่ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ถล่มชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 16,000 คน และสูญหายอีกเกือบ 3,300 คน แต่ญี่ปุ่นยังคงต้องแบกรับต้นทุนหนักอึ้งทั้งด้านมนุษย์ เศรษฐกิจ และการเมือง

ณ เวลา 14.26 น. ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 12.46 น.เวลาเมืองไทย) ทั่วประเทศญี่ปุ่นต่างหยุดนิ่งสงบเป็นเวลา 1 นาที เพื่อรำลึกจังหวะเวลาที่ความโกรธกริ้วของธรรมชาติถาโถมเข้าเล่นงานแดนอาทิตย์อุทัยอย่างเคืองแค้น เมื่อเกิดมหาธรณีพิโรธขึ้น ซึ่งจุดชนวนความหายะอื่นๆ ติดตามมาเป็นขบวน

ในพิธีรำลึกระดับชาติซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ผู้คนต่างหยุดนิ่งอยู่ในความสงบนำโดยสมเด็จพระจักรพรรดิ อากิฮิโตะ และนายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ ทั้งนี้สมเด็จพระจักรพรรดิทรงมีพระราชดำรัสว่า ประเทศชาติจะ “ไม่มีวันลืม” ความหายนะครั้งเลวร้ายที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งนี้

“ความลำบากต่างๆ จำนวนมากยังคงรออยู่ข้างหน้าในการฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ที่ประสบภัย” สมเด็จพระจักรพรรดิตรัส และทรงเรียกร้องพสกนิกรให้ “ร้อยดวงใจของพวกท่านเข้ากับประชาชนผู้ประสบภัย และช่วยเหลือพวกเขาอย่างต่อเนื่องในการปรับปรุงยกระดับชีวิตของพวกเขา”

ที่เมืองโอฟูนาโตะ เมืองท่าในเขตประสบภัย ชาวบ้านแต่งชุดดำรวมตัวกันวางดอกเบญจมาศหน้าแท่นบูชาที่อุทิศให้แก่ผู้เสียชีวิตและสูญหาย 420 รายที่ศาลากลางเมือง

ห่างจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมปานี (เทปโก) ที่ซึ่งเตาปฏิกรณ์หลอมละลายและกลายเป็นวิกฤตนิวเคลียร์ร้ายแรงที่สุดของโลกนับจากวิกฤตเชอร์โนบิล เพียง 1 กิโลเมตร ชาวบ้านในเมืองโอกูมะได้รับอนุญาตให้กลับเข้าพื้นที่เพื่อทำพิธีระลึกถึงผู้เสียชีวิต

เจ้าหน้าที่สั่งให้พื้นที่รอบโรงงานในรัศมี 20 กิโลเมตรเป็นเขตห้ามเข้า และชาวเมืองได้รับอนุญาตให้กลับเข้าไปในบริเวณดังกล่าวเพียงไม่กี่ชั่วโมง

ตามแนวชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ตำรวจและเจ้าหน้าที่ยามฝั่งยังคงค้นหาผู้สูญหายตามแม่น้ำและชายหาด แม้มีโอกาสพบอะไรน้อยเต็มทีก็ตาม

โอฟูนาโตะนอกจากร่วมกับทั่วประเทศไว้อาลัยในเวลา 14.26 น.แล้ว ยังมีการไว้อาลัยอีกรอบใน 33 นาทีถัดมา ซึ่งเป็นเวลาที่สึนามิระลอกแรกซัดเข้าสู่เมืองที่มีประชากร 41,000 คนแห่งนี้

ชาวญี่ปุ่นได้รับการชื่นชมจากทั่วโลกจากความนิ่ง ความมีวินัย และความยืดหยุ่นในขณะที่เผชิญวิกฤต ขณะที่บริษัทแดนอาทิตย์อุทัยได้รับการยกย่องที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

ผลลัพธ์คือ เศรษฐกิจมูลค่า 5 ล้านล้านดอลลาร์มีแนวโน้มกลับคืนสู่ระดับก่อนมหาภัยพิบัติในเร็วๆ นี้ จากมาตรการฟื้นฟูบูรณะประเทศ 230,000 ล้านดอลลาร์ที่ตกลงกันได้อย่างที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นนักระหว่างพรรครัฐบาลกับฝ่ายค้าน

“ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นฉกฉวยการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจากเถ้าและความหดหู่ของสงครามโลกครั้งที่ 2 และเราสร้างเศรษฐกิจที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดในช่วงวิกฤตน้ำมัน

“เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตะวันออกของประเทศ เราจะจดจำว่า วันนี้เราได้เผชิญความท้าทายของสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน" นายกรัฐมนตรีโนดะ กล่าวในบทความซึ่งตีพิมพ์อยู่ในหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์

กระนั้น ประชาชนกลับกำลังรู้สึกผิดหวังมากขึ้นเรื่อยๆ กับความสามารถของสถาบันการเมืองในการเปิดเผยความจริง รวมถึงความร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาอันใหญ่โตของประเทศชาติ โดยที่คอมเมนเตเตอร์รายหนึ่งถึงกับขนานนามความไร้น้ำยาของพวกชนชั้นนำทางการเมืองว่า คือ “ภัยพิบัติลำดับที่ 4 ของวันที่ 11 มีนาคม”

ทั้งนี้ นักการเมืองและข้าราชการถูกวิจารณ์หนักจากการรับมืออย่างไร้ระบบต่อภัยพิบัติในฟูกูชิมะ และความล้มเหลวในการฉวยใช้โอกาสดังกล่าวจัดการเยียวยาความป่วยไข้ที่เกาะกินญี่ปุ่นมาตลอด 2 ทศวรรษ

แต่ปรากฏว่าหลังจากหย่าศึกช่วงสั้นๆ นักการเมืองกลับมาเปิดศึกในสภากันใหม่และทำให้ญี่ปุ่นได้ผู้นำคนที่ 6 ในรอบ 5 ปี รวมทั้งขณะนี้ยังขู่ขวางมาตรการปฏิรูปภาษีและสวัสดิการสำคัญ ตลอดจนกิจการอื่นๆ เช่น ร่างกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานอิสระเพื่อตรวจสอบด้านนิวเคลียร์

“เราไม่มีผู้นำ ไม่มีนักการเมืองที่จะฝากผีฝากไข้ได้” ฮิโรเอกิ โออิกาวะ วัย 56 ปี ที่สูญเสียทั้งโรงงานและบ้านวิจารณ์

วันนี้ยังมีการประท้วงต่อต้านนิวเคลียร์ในโตเกียวและพื้นที่อื่นๆ เพื่อเตือนความจำว่า ผู้คนมากมายต้องการมาตรการที่กล้าหาญกว่าแผนการของรัฐบาลในการค่อยๆ ลดการพึ่งพิงพลังงานนิวเคลียร์

เทปโกที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากความล้มเหลวในการเตรียมการและการรับมือเมื่อเกิดภัยพิบัติ ออกแถลงการณ์ขออภัยอีกครั้งในวาระครบรอบ 1 ปีสึนามิ-แผ่นดินไหว พร้อมให้สัญญาว่า บริษัทและพนักงานทั้งหมดจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วได้ และจะทุ่มเทเต็มที่เพื่อแก้ไขความท้าทายโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก

ความล่าช้าในการร่างแผนสำหรับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากคลื่นยักษ์และปนเปื้อนกัมมันตรังสี ทำให้ชะตากรรมของผู้รอดชีวิตยิ่งมืดมิด โดยขณะนี้ยังมีประชาชนถึง 326,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งรวมถึง 80,000 คนที่อพยพออกจากบริเวณโดยรอบโรงงานฟูกูชิมะ

แม้รัฐบาลประกาศว่า เตาปฏิกรณ์อยู่ในภาวะการปิดเครื่องแบบเย็นตัวได้แล้ว แต่คนญี่ปุ่นยังกังวลกับผลกระทบจากรังสีต่อสุขภาพในระยะยาว โดยการรื้อทำลายและทำความสะอาดบริเวณโรงงานและพื้นที่ใกล้เคียง ที่มีขนาดพอๆ กับลักเซมเบิร์กต้องใช้เวลาเป็นสิบปี และต้นทุนที่ไม่อาจคำนวณได้เนื่องจากต้องมีการใช้เทคโนโลยีที่เวลานี้ยังไม่มีการพัฒนาขึ้นมา

ขณะเดียวกัน ผู้เสียภาษีซึ่งเผชิญข้อเสนอขึ้นภาษีเพื่อช่วยบรรเทาการก่อหนี้ของประเทศ ยังอาจต้องควักเงินเป็นหมื่นล้านดอลลาร์ค้ำจุนเทปโกที่ยังคงมีอำนาจและอิทธิพลทางการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น