ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - โรงเรียนบ้านน้ำกระจาย ซึ่งได้รับเลือกเป็น “ศูนย์อาเซียนต้นแบบภาคใต้” ภายใต้โครงการขยายผลชุมชนต้นแบบเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เดินหน้าสอนภาษามลายูรุ่นที่ 2 เสริมความรู้ที่ผู้ประกอบการในท้องถิ่นสามารถนำไปใช้ได้จริง รองรับการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวมาเลเซีย
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับมูลนิธิร่มฉัตร จัดทำ “โครงการขยายผลชุมชนต้นแบบและการสื่อสารการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” เพื่อนำความก้าวหน้าลงสู่ชุมชนท้องถิ่น โดย สสค.ได้ขยายผลความสำเร็จของโครงการพัฒนาต้นแบบสาธิตชุมชนวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ลงสู่ภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในชุมชนชายขอบที่ติดกับประเทศในแถบอาเซียน โดยยึดแนวทาง “บวรโมเดล” ดึงภาครัฐ สังคม ชุมชน และสถาบันศาสนา มาทำงานสร้างความเข้าใจรับมือการเข้าสู่อาเซียน ภายใต้การดำเนินงานของ “ศูนย์ศึกษาอาเซียน” แหล่งเรียนรู้ พัฒนาให้เป็นชุมชนต้นแบบระดับภูมิภาค
สสค. ได้คัดเลือกชุมชนนำร่องเครือข่ายบวรโมเดลใน 4 ภูมิภาค โดยภาคใต้ ได้คัดเลือกโรงเรียนบ้านน้ำกระจาย อ.เมือง จ.สงขลา เป็นศูนย์ศึกษาอาเซียนต้นแบบ ซึ่งได้ทำพิธีเปิดไปเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธาน และมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหาร ครู โรงเรียนบ้านน้ำกระจาย ผู้ประกอบการ ผู้นำทางศาสนา และชาว จ.สงขลา ให้ความสนใจมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ศูนย์อาเซียนภาคใต้แห่งนี้ ใช้อาคารเรียนของโรงเรียนเป็นศูนย์ศึกษาอาเซียน เปิดสอนหลักสูตรภาษามลายูสำหรับเยาวชน และผู้ประกอบการ เปิดสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารให้แก่นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมวัย จนถึงชั้น ป.6 โดยครูชาวต่างประเทศ
นายประทีป เพ็ชรจำรัส ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำกระจาย กล่าวว่า โรงเรียนเปิดสอนหลักสูตรภาษามลายูเพื่อการสื่อสารให้แก่เยาวชน และโรงเรียนในเครือข่ายไปแล้ว 22 คน ผลที่ได้คือ เด็กจะตื่นตัว เตรียมที่จะเข้าสู่อาเซียนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรมลายูสำหรับผู้ประกอบการ มีเจ้าของกิจการตัวแทนบริษัทห้างร้านต่างๆ มาเรียน โดยเปิดไปแล้ว 1 รุ่น จำนวน 30 คน และขณะนี้ได้เปิดรุ่นที่ 2 เริ่มเรียนตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา เรียนวันเสาร์ และอาทิตย์ วันละ 3 ชั่วโมง ได้รับการตอบรับดีมากจากผู้เรียน และในอนาคตจะขยายผลไปสู่การสอนภาษาพม่า เพราะขณะนี้เริ่มมีแรงงานพม่าเข้ามาทำงานใน จ.สงขลา มากขึ้น ภาษาพม่าจึงจำเป็นในการเรียนรู้ของชุมชนเช่นกัน
ผอ.ร.ร.บ้านน้ำกระจาย กล่าวเพิ่มเติมว่า เจ้าของกิจการที่มาเรียนหวังว่าจะสามารถใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารเป็นหลัก โดยเฉพาะคำศัพท์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย เพราะถ้าพูดภาษาเดียวกันก็จะเข้าใจกันมากขึ้น
ขณะที่ นางจรูญศรี มนัสวานิช ผู้ประกอบการไม้งามรีสอร์ท กล่าวว่า กิจการรีสอร์ตที่ อ.หาดใหญ่ นั้นมีชาวมาเลเซียเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่สงขลาเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษ และภาษามลายู ตนคิดว่าถ้าสื่อสารกันให้เข้าใจก็จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของเรามากขึ้น จึงไปสมัครเรียนหลักสูตรภาษามลายูที่ศูนย์ศึกษาอาเซียนโรงเรียนบ้านน้ำกระจาย ซึ่งเรียนไม่ยาก อาจารย์ผู้สอนจะสอนคำศัพท์เกี่ยวกับการสื่อสารในชีวิตประจำวัน การออกเสียงที่ถูกต้อง การทักทาย อาจารย์จะมีเทคนิคพิเศษให้เราจดจำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ จะสอนวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวมลายูด้วย คนที่มาเรียนก็มีหลายอาชีพ ซึ่งทุกคนก็คิดเหมือนกัน คือ ต้องการสื่อสารกับเพื่อนบ้านเมื่อคนมลายูมาพัก เขาก็ดีใจที่เราพูดติดต่อกับเขาได้