xs
xsm
sm
md
lg

นักศึกษา ม.วลัยลักษณ์ คว้ารางวัลสหกิจศึกษาระดับชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
นครศรีธรรมราช - นักศึกษา ม.วลัยลักษณ์ คว้ารางวัลชนะเลิศ การประกวดการนำเสนอผลการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาระดับชาติ ในงานวันสหกิจศึกษาไทย ครั้งที่ 5

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ สุขสอาด ผู้อำนวยการศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ส่งนักศึกษา จำนวน 4 คน ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศการนำเสนอผลการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาดีเด่นของเครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษาภาคใต้ตอนบน ปีการศึกษา 2555 เข้าร่วมประกวดการนำเสนอผลการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาระดับชาติ ผลปรากฏว่า น.ส.ขนิษฐา โต๊ะอิสอ นักศึกษาหลักสูตรภาษาอังกฤษสำนักวิชาศิลปศาสตร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทโครงงานดีเด่นระดับชาติ ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และการจัดการ นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังได้เสนอชื่อ บริษัท เฟดเดอรัล อิเลคทริค จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ร่วมมือด้วยดียิ่งในด้านสหกิจศึกษามาอย่างต่อเนื่อง เข้ารับพิจารณาเป็นสถานประกอบการดำเนินงานสหกิจศึกษาดีเด่น

ซึ่งผลการพิจารณาปรากฏว่า บริษัท เฟดเดอรัล อิเลคทริค จำกัด ได้รับรางวัลระดับชาติ สถานประกอบการสหกิจศึกษาดีเด่น ประเภทสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมเช่นกัน โดยได้เข้ารับรางวัลจากนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในงาน“วันสหกิจศึกษาไทย” ครั้งที่ 5 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ สุขสอาด กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตระหนัก และให้ความสำคัญกับเรื่องสหกิจศึกษา โดยได้กำหนดเป็นนโยบายดังกล่าวไว้ในแผนยุทธศาสตร์หลัก ของมหาวิทยาลัย ซึ่งการดำเนินงานสหกิจศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ดำเนินการร่วมกับสถานประกอบการและเครือข่ายภาคีสหกิจศึกษาอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานของสมาคมสหกิจศึกษาไทย สอดคล้องกับมาตรฐานทางวิชาชีพ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพ พัฒนาศักยภาพของนักศึกษาให้มีความพร้อมในการทำงานให้มากที่สุดก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา ทั้งนี้ ในปัจจุบันศูนย์สหกิจศึกษาฯ ม.วลัยลักษณ์ เป็นต้นแบบด้านสหกิจศึกษาในภาคใต้ มีสถาบันการศึกษาต่างๆ มาดูงานด้านสหกิจศึกษาของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ สุขสอาด กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษานั้น ทางศูนย์สหกิจศึกษาฯ จะเป็นฝ่ายเตรียมความพร้อมทางด้านทักษะวิชาชีพ ส่วนทักษะทางด้านวิชาการนั้น ทางคณาจารย์ในแต่ละสำนักวิชาจะเป็นผู้ดูแล นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จัดอบรมเตรียมความพร้อมให้แก่คณาจารย์ซึ่งจะออกไปนิเทศงานนักศึกษาที่ออกไปปฏิบัติสหกิจศึกษาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนอกจากส่งนักศึกษา ม.วลัยลักษณ์ ไปปฏิบัติสหกิจศึกษาภายในประเทศแล้ว ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ได้ขยายเครือข่ายการปฏิบัติสหกิจศึกษาในต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม จีน อินเดีย และประเทศอื่นๆ ในแถบอาเซียน โดยในอนาคตจะประสานงานกับสถานประกอบการในประเทศออสเตรเลีย และแคนาดา เพื่อส่งนักศึกษาไปในต่างประเทศมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

“ระบบสหกิจศึกษาของ ม.วลัยลักษณ์ จะสร้างนักศึกษาให้เป็นผู้มีความพร้อมทั้งด้านวิชาการ และพร้อมที่จะก้าวสู่การปฏิบัติงานในตลาดแรงงาน ที่ผ่านมา ได้รับคำชื่นชม และได้รับการยอมรับจากสถานประกอบการ โดยมีสถานประกอบการหลายแห่งพร้อมรับเข้าทำงานทันที ทั้งนี้ นอกจากรางวัลดังกล่าวแล้ว ม.วลัยลักษณ์ ยังได้รับรางวัลสถานศึกษาดำเนินงานสหกิจศึกษานานาชาติ ดีเด่นระดับเครือข่าย ซึ่งจะสอดคล้องกับการเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นี้ด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ กล่าว

ด้าน น.ส.ขนิษฐา โต๊ะอิสอ ผู้ได้รับรางวัลโครงงานดีเด่นระดับชาติ เล่าว่า ได้ไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษา ณ โรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะครูสอนภาษาอังกฤษ ระหว่างที่ปฏิบัติงานได้เห็นถึงปัญหาบางประการของนักเรียน คือ การเขียนประโยคที่ไม่สมบูรณ์ จึงได้ทำการวิจัยในหัวข้อ “การศึกษาประโยคที่ไม่สมบูรณ์ในงานเขียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษา ปีการศึกษา 2555”

เพื่อศึกษาค้นคว้าเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาการเขียนให้แก่เด็กไทยในโรงเรียนอื่นๆ ด้วย โดยผลจากงานวิจัย พบว่า นักเรียนมักเขียนผิดใน 4 ลักษณะที่เด่นชัดคือ 1.ประโยคขาดประธาน 2.ประโยคขาดกริยา 3.ประโยคย่อยขาดประโยคหลัก และ 4.ประโยคไม่มีความหมายสมบูรณ์ จึงได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาโดยการจัดสอนไวยากรณ์ภาษาอังกฤษเพิ่มเติมให้แก่นักเรียน เพราะทักษะการเขียนภาษาอังกฤษเป็นทักษะที่ค่อนข้างซับซ้อน และจำเป็นต้องอาศัยความรู้ในหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องของภาษา ความรู้รอบตัว คำศัพท์ และไวยากรณ์ มาประกอบการเขียน พร้อมทั้งเสนอแนะให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงลักษณะของประโยคที่ไม่สมบูรณ์ และวิธีการหลีกเลี่ยงการเขียนประโยคที่ไม่สมบูรณ์ในช่วงเริ่มต้นของการเรียนรายวิชาการเขียน

“รู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ซึ่งการไปปฏิบัติสหกิจศึกษาในครั้งนี้ทำให้เปลี่ยนสถานะจากนักศึกษาเป็น “คุณครู” เป็นครั้งแรกในชีวิต โดยสิ่งที่ทำให้รู้สึกภูมิใจที่สุดคือ การได้นำความรู้ และประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาถ่ายทอด และใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม อย่างไรก็ตาม ภารกิจการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ เป็นความรู้ใหม่ แต่ทางโรงเรียนได้เปิดโอกาสให้เข้ารับการอบรมก่อนปฏิบัติงานจริง จากนั้นจึงได้เริ่มออกแบบและเขียนคำอธิบายรายวิชา โครงสร้างรายวิชาออกแบบและเขียนแผนการสอน สร้างสื่อการเรียนการสอน สอนนักเรียน ออกแบบข้อสอบ และวัดผลและประเมินผลอีกด้วย” น.ส.ขนิษฐากล่าว



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น