xs
xsm
sm
md
lg

“จาตุรนต์” นำผู้บริหาร ก.ศึกษาฯ ร่วมรับฟังข้อเสนอจากชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ปัตตานี - รมว.ศึกษาธิการ พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ร่วมรับฟังการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ที่โรงแรมเซาว์เทิร์นวิว ปัตตานี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ได้เข้าร่วมรับฟังการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้หัวข้อ “การศึกษา จชต.ก้าวไกล ร่วมใจ ร่วมคิด ร่วมทำ” มีกลุ่มนักศึกษา นักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้นำศาสนา กลุ่มนักธุรกิจ และประชาชนเข้าร่วมกว่า 1,000 คน
 
โดยในเวทีได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยออกมาเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มแรก สรุปประเด็นในเรื่องของการจัดให้มีศูนย์ติวทุกวิชาฟรี ให้มีสื่อการเรียนการสอนที่หลากหลายและทันสมัย หารายได้ระหว่างเรียน อยากได้ครูที่มีความเชี่ยวชาญ เพิ่มวิชาวิจัย เน้นการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี สอนพิเศษเพิ่มเติม ส่งเสริมระบบการเรียนการสอนแบบ E-learning ส่งเสริมหลักสูตรอาชีพจบแล้วมีงานทำ ให้นักเรียนมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็น
 
กลุ่มที่ 2 เป็นการสรุปประเด็นส่งเสริมให้อาชีวะรองรับการทำงานใน AEC เพิ่มอุปกรณ์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้ทันกับสถานประกอบการในปัจจุบัน ให้สายอาชีพมีการศึกษาถึงระดับปริญญาตรีทุกวิทยาลัย เพิ่มโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยนในกลุ่มประเทศ AEC ต้องการงบประมาณเร่งด่วนสำหรับทำกิจกรรม และการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย มีการปรับปรุงหลักสูตร สร้างความต่อเนื่องในหลักสูตรวิชาชีพที่การตลาดรองรับ ต้องการมีห้องสมุดเคลื่อนที่ ให้มีอาชีพรองรับสำหรับนักศึกษาที่จบระดับอนุปริญญา จัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
กลุ่มที่ 3 ได้สรุปว่า ให้มีมาตรการควบคุมร้านเกม หรือเจ้าของธุรกิจกำหนดเวลาในการเปิด-ปิด พร้อมบทลงโทษผู้ที่ละเมิด ยาเสพติด ส่งเสริมให้มีแหล่งเรียนรู้ใน 3 จชต.ให้มากขึ้น เพื่อนักเรียนจะได้มีโอกาสในการศึกษาได้มากขึ้น เช่น หอดูดาว อบรมครูให้เป็นมืออาชีพ มีความพร้อมในการสอน มีจิตสำนึกในการเป็นครู
 
กลุ่ม 4 สรุประยะสั้นการพัฒนาครูทั้งระบบเพื่อส่งเสริมให้เด็กนักเรียนอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ส่งอาชีพให้นักเรียนช่วงปิดภาคเรียน คืนอัตรากำลังครูเกษียณ การสอบผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาในหน่วยงานให้สามารถเขตพื้นที่การศึกษา จัดการสอบได้เอง สนับสนุนคอมพิวเตอร์ให้โรงเรียนตาดีกา ศูนย์ละ 1 เครื่อง ให้รัฐบาลจัดหาแนวทางคัดเลือกเพื่อบรรจุพนักงาน และลูกจ้างชั่วคราวที่ปฏิบัติงานในเขตพื้นที่ หรือหน่วยงานเพื่อสร้างขวัญ และกำลังใจ
 
กลุ่มที่ 5 สรุปว่าให้มีการดูแลโรงเรียน และบุคลากรในโรงเรียนพุทธปริยธรรม ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีการพัฒนาการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาล และเอกชนศาสนาอิสลาม สถาบันศึกษาปอเนาะ ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา โดยใช้หลักเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยอิสลามให้พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้น ให้แก้ระเบียบการรับนักเรียนโรงเรียนเอกชน และสถาบันศึกษาปอเนาะในเรื่องสัญชาติ ขยายการรับเงินอุดหนุนสถาบันศึกษาปอเนาะจาก 3 จังหวัด เป็น 5 จังหวัด ให้จัดการศึกษาศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ให้มี 4 ระดับ ดังนี้ คือ ระดับอนุบาล ระดับตอนต้น ระดับตอนกลาง และระดับตอนปลาย ให้มีการปรับปรุง และพัฒนาหลักสูตรตาดีกาตั้งแต่ตอนต้น-ตอนปลาย เพื่อรองรับอาเซียน
 
กลุ่มที่ 6 ได้สรุป 5 โครงการเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.เปิดสอบบรรจุครูผู้สอนสายอาชีพเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.จัดตั้งกองทุนกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพ หลังจากจบการศึกษา 3.ปรับปรุงหลักสูตรในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับระดับอาชีวศึกษา และจัดให้มีการเรียนคู่ขนานระดับมัธยมต้นกับอาชีวะ เพื่อสร้างทัศนคติทางอาชีพแก่ผู้เรียน 4.พัฒนากระบวนการเรียนรู้ของครู และผู้เรียนเพื่อการมีงานทำ และ 5.สนับสนุนเทคโนโลยี สื่อการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน และทันต่อเทคโนโลยีในปัจจุบัน
 
ด้านายจาตุรนต์ กล่าวว่า ข้อเสนอแนะที่ได้รับจากที่ประชุมหลายเรื่องเป็นเรื่องที่เคยเสนอแล้ว ส่วนบางข้อเสนอที่เป็นเรื่องเร่งด่วน และที่กระทรวงศึกษาธิการทำได้เลยก็จะดำเนินการเลย เช่น ข้อเสนอที่ขาดแคลนครู บุคลากรทางการศึกษา ครูที่ตรงตามสาขาวิชาที่ได้เรียนนั้นๆ และความสะดวกในการสอน เนื่องจากปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาคารวัสดุ สื่อการเรียนการสอน และข้อเสนอที่มาจากนักเรียน ผู้ปกครองและครู ที่มีความสนใจตรงกัน ว่า อยากเรียนกับเจ้าของภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ และภาษามลายูกลาง ในส่วนของภาษามลายูกลางเป็นเรื่องที่ไม่ยากที่จัดหามา แต่เจ้าของภาษาที่เป็นภาษาอังกฤษที่เป็นเรื่องยาก นักเรียนต้องการมีอาชีพเสริมระหว่างเรียน และช่วงปิดภาคเรียน นอกจากนี้ นักเรียนมีความต้องการติวเข้ม การกีฬา การพัฒนาจริยธรรม คุณธรรม
 
ในส่วนของการแก้ปัญหาระยะยาว ในภาวะสถานการณ์ความไม่สงบทำให้เกิดภาวการณ์ขาดแคลนครู จะต้องมีการพัฒนาครู จะมีการปรับให้ครูเน้นหนักในการสอนวิชาเอกมากขึ้น เช่น คณิตศาสตร์ ส่วนวิชาอื่นๆ ที่ไม่ค่อยสำคัญก็เรียนให้น้อยลง จะต้องมีการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น