xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำวิสัยทัศน์ยุคใหม่

เผยแพร่:   โดย: ไพศาล อินทสิงห์

โดย...ไพศาล อินทสิงห์
มหาวิทยาลัยนเรศวร

ในยุคเศรษฐกิจแข่งขัน และช่วงชิงทั้งโอกาส และยอดขาย เพื่อความอยู่รอดและเติบโต หลายบริษัทธุรกิจใช้วิกฤตเป็นโอกาส บ้างพลาดโอกาสกลายเป็นวิกฤต บ้างไม่วิกฤตแต่รู้จักฉวยใช้โอกาส ขณะที่ไม่น้อยสร้างโอกาสบนโอกาส

ขึ้นกับวิสัยทัศน์ผู้นำองค์กร

มิเพียงธุรกิจ ทว่าในทางการเมือง หรือราชการยุคใหม่ ก็ล้วนแข่ง และช่วงชิงไม่แพ้กัน แต่เป็นการชิงสร้างผลงานให้ประชาชน ชิงสร้างผลงานเท่าใด ได้คะแนนนิยมเท่านั้น

อยู่ที่ผู้นำจะเบียดวิสัยทัศน์อย่างไร

เป็นอื่นไปไม่ได้ ต้องมองเห็นอะไรก่อนและไกลกว่าคนอื่น (คู่แข่ง) มิเพียงเป้าหมายข้างหน้า ยังรวมถึงการมองเห็นปัญหาอุปสรรค จุดอ่อน จุดแข็ง อะไรกีดขวาง-เกื้อกูล หนุนนำ-หนุนส่ง จะรุก-รับอย่างไร

การนำองค์กรสู่ความสำเร็จจึงไม่ง่าย เป็นโอกาสและความท้าทายไม่น้อย ซึ่งนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ กล่าวกับผู้เขียนถึงการนำองค์กร อบจ.เชียงใหม่ว่า ยึดประชาชนเป็นเป้าหมายนำ ที่ผ่านมาพยายามเร่ง (Speed) สร้างผลงานโครงการต่างๆ เพราะเขาไว้วางใจเลือกเรา ให้โอกาสเข้ามาเพื่อทำงานช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ไม่เช่นนั้นไม่ทันปัญหาความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ห่างไกล และใช้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นพลังสำคัญ

“บนพื้นที่ 210 ตำบล จากเหนือสุด อ.แม่อาย และใต้สุด อ.อมก๋อย ด้วยระยะทางกว่า 500 กิโลเมตรนั้น ทำให้เราผุดไอเดีย “อบจ.สัญจร” ขึ้นครั้งแรก” ทั้งนี้ เป็นวิสัยทัศน์ของนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เพื่อที่จะบุกเดินทางไปรับฟังปัญหาความต้องการเข้าถึงทุกชุมชนหมู่บ้าน

โดยเราจัดแบ่งเป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มผู้บริหารท้องถิ่น กลุ่มสตรีแม่บ้าน กลุ่มข้าราชการฝ่ายปกครอง (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) กลุ่มอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน และกลุ่มโอท็อป ให้ประชาชนชาวบ้านมีส่วนร่วมคิด พูด เสนอความเห็น และเราฟัง เพราะเขาจะรู้สภาพปัญหา หรือความต้องการต่างๆ ของตำบลหมู่บ้านดีที่สุด เพื่อที่เราฟังแล้วจะได้นำมาสู่การพิจารณาและแก้ไข หรือหาทางออกที่เหมาะสม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่เกินขีดความสามารถ หรือเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างตำบล หรือหลายๆ ตำบลรวมตัวกันร้องขอ ทาง อบจ.พร้อมพิจารณา และหาทางเข้าไปช่วยสนับสนุน ขับเคลื่อนผลักดันให้เชียงใหม่เจริญก้าวหน้า

ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว โอท็อป การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ สงกรานต์ งานบุญ ลอยกระทง เข้าพรรษา บรรพชาสามเณรฤดูร้อน สาธารณูปโภคที่จำเป็น ถนน สะพาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นภารกิจหลักของ อบจ.กับงบประมาณที่มีอยู่ปีละ 1,400 ล้านบาท ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อจังหวัดและประชาชน ซึ่งโครงการต่างๆ ของเรา จะให้ความสำคัญโดยเน้นลงไปสู่ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอตำบลต่างๆ มุ่งตอบสนองวิสัยทัศน์ “สร้างคุณภาพชีวิตชาวเชียงใหม่ ด้วยบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ” อยู่ที่การเข้าถึงประชาชน ชาวบ้านห่างไกล ถ้าเราไม่สัญจรเข้าไปสนใจปัญหา จะรับรู้ปัญหาได้อย่างไร และถ้าไม่รู้ความต้องการของเขา จะสร้างคุณภาพชีวิตให้เขาดีขึ้นได้อย่างไร

นายกฯ บุญเลิศ เผยเคล็ดลับในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ว่า “6 เดือนแรกรับฟัง พิจารณาและลงมือทำ 6 เดือนหลังประเมินติดตามผล ซึ่งการกำหนดเงื่อนเวลาเช่นนี้เป็นผลดี เพราะเป็นการควบคุมงานให้ดำเนินไปตามระยะเวลาในแผนงาน”

ทั้งนี้ มีโครงการหนึ่งที่เราเลือกเข้าไปลงมือทำ และจะมุ่งมั่นทำโครงการนี้ให้สำเร็จ เช่น โครงการของกลุ่ม OTOP ที่อำเภอแม่ออน โดยการประสานงานกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าไปทำโครงการทำสบู่จากน้ำแร่และน้ำนมโค ซึ่งเป็นวัตถุดิบในพื้นที่มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สบู่น้ำแร่และน้ำนม โดยเริ่มตั้งแต่ทำการสอนการทำสบู่ วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ และส่งเสริมทางด้านการตลาด ซึ่งถ้าหากทำสำเร็จก็จะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านเพิ่มขึ้น

“ด้านการศึกษาเราโฟกัสเด็กในเมืองกับเด็กอำเภอรอบนอกที่อยู่ห่างไกล โอกาสในการเข้ารับการศึกษาที่มีคุณภาพจะเหลื่อมล้ำกันมาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่จึงสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน วัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ให้กับโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล มีฐานะยากจน ขาดสื่ออุปกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนที่ขาดโอกาสมีโอกาสทัดเทียมกับนักเรียนในเมือง เช่น สนับสนุนสื่อด้านไอที School Online, สร้างห้องสมุดและพัฒนาให้ได้มาตรฐาน, สนับสนุนครูให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน, สนับสนุนอาหารกลางวันให้นักเรียนที่ยากจน, สนับสนุนครูซึ่งเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากประเทศจีนให้ช่วยสอนภาษาจีนและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน นอกจากนั้นยังให้ทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่องจนจบหลักสูตร เป็นต้น

“อาจเป็นผลงานด้านการศึกษาที่เกิดจากการมองเห็นปัญหา อุปสรรค โอกาส และเราเข้าไปส่งเสริมสนับสนุน กระทั่งเข้าตารัฐบาลอนุมัติให้ยกฐานะกองการศึกษา ขึ้นเป็น “สำนักการศึกษา” แห่งแรกของประเทศ ขณะเดียวกันก็ให้ตำแหน่งผู้บริหาร จากซี 8 เป็นซี 9 เมื่อขึ้น ผอ.สำนัก ก็ทำให้พนักงานทุกคนขยับเลื่อนตามขึ้นหมด เป็นความก้าวหน้าในการทำงาน เกิดจากผลงานที่เราช่วยกันขับเคลื่อน และรัฐบาลเห็น”

เรายึดหลักว่า ไม่จ้างข้าราชการ พนักงานเข้ามาเยอะ แต่จะเน้นคุณภาพ ประสิทธิภาพในการทำงาน อย่างข้าราชการระดับบริหาร เราจะไม่มีซีสูงๆ หลายๆ คน มีเฉพาะเท่าที่จำเป็น ฉะนั้น งบเงินเดือนค่าตอบแทนที่กฎหมายกำหนดไว้ 40% เราใช้อยู่ที่ 16% อีก 24% ไปพัฒนาด้านอื่นที่จำเป็น ซึ่งประชาชน ชาวบ้านมีปัญหาความเดือดร้อนรอความช่วยเหลืออยู่อีกมาก จะซื้อเครื่องจักรวัสดุก่อสร้างถนน สะพานหรืออะไรก็ว่าไป เป็นผลดีต่อประชาชน ขณะที่การบริหารงานบุคคลก็ไม่กระทบ

“อย่างกฎหมายกำหนดให้เราสามารถนำเงิน อบจ.ฝากธนาคารได้ คงไม่เอาฝากตามช่องทางปกติ แต่จะให้แบงก์เสนอเงื่อนไขมา เราก็เลือกธนาคารรัฐที่ให้ดอกเบี้ยสูง ปีที่แล้วได้ดอกเบี้ยกว่า 20 ล้าน ก็นำเงินส่วนนี้ไปทำประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มให้ประชาชน” นายกฯ บุญเลิศ กล่าว และว่าภารกิจที่มีหลากหลายด้านนั้น ต้องการทำให้เด่นในทุกด้าน นอกจากงานท่องเที่ยว โอท็อป งานการศึกษาดังที่ได้กล่าวแล้ว ยังได้ปรับวิธีการทำงานใหม่ ซึ่งในยุคที่ผ่านๆ มากองช่างของเรามีเครื่องจักรอยู่เยอะ แต่ไม่ลงไปทำเท่าที่ควร วันนี้ปรับใหม่ นายก อบจ.ลงพื้นที่มีโครงการก่อสร้างอะไร เราจะเอาเครื่องจักรไปทำด้วย ช่วยแก้ปัญหาประชาชน อบจ.ก่อสร้างเอง ซื้อวัสดุเอง ขณะเดียวกันก็บูรณาการกับหน่วยงานอื่น เช่น ให้เขาซื้อยาง เรามีเครื่องจักรไปทำให้ ทำร่วมกัน และประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนทราบ ก็จะได้ถนนให้ชาวบ้านไว้ใช้ตามที่ร้องขอมา ซึ่งการทำเองประหยัด เร็ว ถูก คุณภาพมาตรฐาน เป็นการพัฒนารูปแบบการทำงานที่ฉีกแนวทางออกไปจากเดิม

ไม่เป็นปัญหาสำหรับภารกิจที่มีหลากหลายด้าน ไม่เป็นปัญหาสำหรับสภาพพื้นที่เชียงใหม่อันกว้างขวาง กว้างไกลจากเหนือจรดใต้กว่า 500 กิโลเมตร ขึ้นชื่อว่าผู้นำ ต้องนำได้ทุกสภาพการณ์ จึงเป็นที่มาของการปิ๊งไอเดีย “อบจ.สาขา” โดยในเขตทิศเหนือเข้าไปตั้ง อบจ.สาขาฝาง ในเขตทิศใต้ อบจ.สาขาฮอด เพื่อบริการประชาชนอย่างเข้าถึงอีกมิติ

เหมาะสมแล้ว ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนชาวเชียงใหม่ให้เข้ามาทำงานในฐานะ อบจ.เชียงใหม่ด้วยการเบียดวิสัยทัศน์ผู้นำองค์กรสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริง

ขณะที่ภาคเอกชนอย่างโรงพยาบาล(รพ.)เชียงใหม่ ราม ก็ไม่ได้จำนนต่อการเบียดวิสัยทัศน์ผู้นำองค์กรด้วยปิ๊งไอเดียผุดโครงการก่อตั้ง “โรงพยาบาลเด็ก” ขึ้นโดยเฉพาะเมื่อ 4-5 เดือนที่ผ่านมา ด้วยแนวคิดเด็กดีเด็กป่วยต้องแยกกัน ถือเป็นการดักปัญหาก่อนที่จะเกิดปัญหาเด็กติดเชื้อได้อย่างน่าสนใจ

“มีที่มาจากการมองจุดแข็งของ รพ.ที่เห็นว่าในคณะกรรมการบริหาร มีผู้บริหารเป็นหมอเด็ก ทั้งยังเป็นหมอเด็กแต่ละด้านอีกต่างหาก” นพ.ประมุข อุณจักร กรรมการบริหารเชียงใหม่ ราม กล่าว และว่ามิเพียงก่อตั้ง ยังตอบโจทย์ชาวเชียงใหม่ ส่งผลให้วันนี้ รพ.เด็กมีผู้ป่วยเด็กเข้ามารักษามากขึ้น แม้ไม่ต้องการเห็นเด็กป่วย แต่เมื่อสุขภาพของทุกคนเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ เชียงใหม่ ราม พร้อมเป็นทางเลือกให้บริการรักษาเด็กก็น่าจะดี มิใช่หรือ

ทำอย่างไรจึงจะสร้างคุณค่า มูลค่าเพิ่มด้านสุขภาพให้เด็กๆ ด้วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคเด็ก และนี่เองที่ผู้เขียนถึงบอกว่าเป็นการสร้างโอกาสบนโอกาส

เมื่อมีปัญหาสุขภาพเด็กหรือเจ็บป่วยครั้งใด ทำอย่างไรให้เด็กมาที่เรา ซึ่ง นพ.ประมุขได้ชูแนวคิด 2 อย่าง 1) ต้องเป็นโรงพยาบาลที่ไว้วางใจได้ 2) ต้องสะดวกด้านต่างๆ ต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง

เพราะพฤติกรรมการดูแลสุขภาพประชาชนเปลี่ยนไป วันนี้คนไทยเจ็บป่วยไม่ซื้อยากินเอง แต่จะหาหมอแล้วทำให้มั่นใจกว่า ทำอย่างไรจึงจะสนองความต้องการนั้นได้ ถ้าไม่ใช่แนวคิดที่ชู 2 อย่างนั้น จะเป็นอะไร

ภายใต้วิสัยทัศน์ผู้นำองค์กรอย่างเชียงใหม่ ราม จึงมุ่งเน้นเป็น รพ.ชั้นนำด้านคุณภาพการรักษาระดับนานาชาติ ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง และลงลึกเฉพาะโรคกว่า 60 คน แพทย์ถือเป็นจุดแข็งของที่นี่ หนุนส่งให้ที่ผ่านมาได้รับการยอมรับด้วยผลประเมินจากภายนอกโดย HA และ JCI ซึ่งเป็นองค์กรระดับนานาชาติให้การรับรองอีกด้วย

20 ปีที่ผ่านมาของเชียงใหม่ ราม การันตีในผลงานความสำเร็จบรรลุถึงซึ่งผลวิสัยทัศน์ที่โดดเด่น แต่ขึ้นชื่อว่าธุรกิจ ไม่ว่าธุรกิจใดย่อมต้องมีการแข่งขัน เป็นสัจธรรมชาติ มิเพียง รพ.สวนดอกในเวลานี้ แต่อีก 2 ปีข้างหน้า จะมีคู่แข่งอย่างโรงพยาบาลกรุงเทพเกิดขึ้นที่เชียงใหม่

ขณะที่ต่างต้องเผชิญ 2 เรื่องทั้งผู้มาใหม่และผู้อยู่เก่า นั่นคือ 1) การแข่งขันให้บริการคนไข้ 2) บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขที่มีปัญหาขาดแคลน จะบริหารจัดการอย่างไร

ขณะที่โรงพยาบาลรัฐในยุคใหม่ก็ปรับปรุงพัฒนาคุณภาพบริการอย่างเต็มที่ เป็นทางเลือกให้ประชาชนมากขึ้น ซึ่งต่างจากในอดีต โดยเฉพาะปัจจุบันคนไทยมีสิทธิเข้ารักษาใน รพ.รัฐได้หมดทุกคนตามนโยบายของรัฐบาล อาจกล่าวได้ว่า “ป่วยเลือกได้” จึงเป็นโอกาสและความท้าทายโรงพยาบาลเอกชนไม่น้อย วิสัยทัศน์ผู้นำองค์กรมีไว้ให้เบียดจริงๆ

เบียดวิสัยทัศน์ไม่ได้ เป็นที่หนึ่งไม่ได้!
กำลังโหลดความคิดเห็น