ศูนย์ข่าวภูเก็ต - “ปรีชาวุฒิ กี่สิ้น” หนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ดีเอสไอออกมาระบุว่าเป็นผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังแท็กซี่ป้ายดำ พร้อมให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และขอความเป็นธรรม เพราะสิ่งที่ทำอยู่นั้นไม่ใช้การกระทำของมาเฟีย แต่ทำเพื่อยกระดับมาตรการการให้บริการแท็กซี่ที่ดีขึ้น
จากกรณีที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ได้เปิดเผยรายชื่อผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังรถแท็กซี่ป้ายดำที่ทำตัวเป็นมาเฟียในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ในการเดินทางมาตรวจเยี่ยมศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่เป็นภัยต่อการท่องเที่ยว (ศปอท.) พร้อมกับ นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 11 คน ซึ่งมีนายปรีชาวุฒิ กี่สิ้น หนึ่งในผู้ที่ดีเอสไอระบุว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังกลุ่มรถแท็กซี่ป้ายดำ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า
โดยส่วนตัวแล้วที่มีชื่ออยู่ในกลุ่ม 11 คน ที่ดีเอสไอออกมาระบุว่าเป็นผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังรถแท็กซี่ป้ายดำนั้น ตนพร้อมจะให้ความร่วมมือ และชี้แจงต่อทางดีเอสไอเสมอในการที่จะเข้าตรวจสอบ หรือจะมาดูงานว่าการจัดระเบียบรถแท็กซี่ป้ายดำหรือคิวรถในป่าตองเป็นอย่างไร ซึ่งต้องย้อนไปในอดีตถึงปัจจุบันตนได้ทำรถลิมูซีนอยู่ ทางโรงแรมหลายแห่ง และห้างจังซีลอนต้องการให้เข้าไปช่วยจัดระบบรถแท็กซี่ให้ เนื่องจากตนเป็นคนในพื้นที่ป่าตอง และแก้ปัญหารถแท็กซี่ต่างๆ อย่างเป็นระบบ ด้วยการจัดให้มีการลงทะเบียน จัดคิว อบรม จัดตั้งเป็นสหกรณ์ ขอจดทะเบียนป้ายที่ถูกต้อง ใบขับขี่ เพื่อให้รถแท็กซี่เหล่านั้นมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ขณะเดียวกัน ทางหน่วยของรัฐไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ได้ดำเนินการมาโดยตลอดในการแก้ปัญหารถแท็กซี่ และได้ขอร้องให้ตนเข้าไปจัดระเบียบให้โดยใช้ระบบของเอกชน เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการกับนักท่องเที่ยว ซึ่งได้ดำเนินการมาได้ระดับหนึ่ง จนฝ่ายปกครองได้จัดตั้งสหกรณ์คอลเซ็นเตอร์ เพื่อให้โอกาสรถแท็กซี่เหล่านั้นได้ทำมาหากิน โดยขอให้กลุ่มแท็กซี่ป้ายดำไปลงทะเบียนขอป้ายที่ถูกต้อง และใบขับขี่
โดยส่วนตัวเรื่องแท็กซี่ป้ายดำเริ่มตั้งแต่ตัวบุคคลที่มีการใส่ชุดยูนิฟอร์มที่เป็นแบบเดียวกันทั้งหมด มีการติดป้ายบอกราคาที่ชัดเจนไม่คดโกงลูกค้า มีการประสานงานกับทางขนส่งจังหวัดภูเก็ตในการนำผู้ประกอบการรถแท็กซี่เหล่านั้นไปสอบใบขับขี่สาธารณะ มีการอบรมการให้บริการและภาษาอังกฤษในการสื่อสารต่อนักท่องเที่ยวได้ง่ายๆ ทั้งในเรื่องของการสอบถามราคา เส้นทาง และพูดจาสุภาพต่อนักท่องเที่ยว ทั้งหมดคือแนวทางที่ตนจะชี้แจงให้แก่ดีเอสไดได้รับทราบว่าตนเข้ามาเกี่ยวข้องกับแท็กซี่ป้ายดำได้อย่างไร
สำหรับเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ นั้น อย่างกรณีคิวที่ห้างจังซีลอนนั้น เราจะต้องชำระค่าพื้นที่จอดรถ ค่าดำเนินการต่างๆ ซึ่งก็ไม่ได้จัดเก็บจากผู้ประกอบการแท็กซีเป็นเงินจำนวนมากเพื่อผลประโยชน์อะไรมากมาย แต่จัดเก็บวันละไม่กี่สิบบาท แล้วให้สะสมเข้าสหกรณ์เพื่อนำมาใช้ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ของคิว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ เพราะการทำแท็กซี่ป้ายดำไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ แต่ที่ทำขึ้นมาจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการพัฒนาการให้บริการที่ดีขึ้นเท่านั้นเอง แต่ก็ยังมีปัญหาคิวที่ไม่ได้ลงทะเบียน ก็ได้เข้าไปพูดคุยเพื่อให้กลุ่มเหล่านั้นเข้าสู่ระบบ ซึ่งต้องใช้เวลาเพราะเป็นงานมวลชน ซึ่งขณะนี้ตนก็ยังทำในลักษณะดังกล่าวอยู่
“จากการทีได้ดำเนินการในลักษณะแบบนี้มาโดยตลอด ทำให้ข้อมูลที่ดีเอสไอได้รับไปนั้นมองว่าตนเป็นผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังกลุ่มแท็กซี่ป้ายดำ และเป็นผู้กว้างขวางในพื้นที่ป่าตอง ซึ่งไม่แน่ใจคำว่าผู้มีอิทธิพลของดีเอสไอนั้นหมายถึงจุดนี้หรือไม่ ถ้าในประเทศไทยผู้ที่เป็นนักกิจกรรมในลักษณะแบบนี้วันหนึ่งกลายเป็นผู้มีอิทธิพลในเรื่องแบบนี้ ก็รู้สึกน้อยใจบ้าง ทั้งๆ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตาม และมาดูงานกับผมตั้งหลายครั้ง และเป็นกรณีตัวอย่างให้กลุ่มแท็กซี่ป้ายดำอื่นๆ ได้เห็น เราอาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่กำลังพัฒนาในเรื่องของคุณภาพรถ ตัวบุคคล โดยหวังว่าสักวันหนึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะให้ไปขอป้ายเขียวซึ่งเป็นป้ายที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากทำอยู่แล้ว” นายปรีชาวุฒิ กล่าวและว่า
อยากจะให้ทางดีเอสไอให้ความเป็นธรรมแก่ตนด้วย และอยากให้มองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่าใครทำอะไร ทำมาแบบไหน และกลุ่มไหนให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ไม่ใช่พอทำไปเรื่อยๆ กลับกลายเป็นผู้มีอิทธิพล สิ่งที่ได้ลงแรงไปเหมือนสูญเปล่า และก่อนที่จะประกาศชื่อน่าที่จะสอบถามข้อเท็จจริง หรือสอบถามให้แน่ชัดก่อน เพื่อให้ตนได้ชี้แจง ไม่ใช่มาประกาศผ่านสื่อกันแบบนี้ หากตนผิดจริงก็พร้อมที่จะไปแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนพร้อมกับดีเอสไอ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาการให้บริการของรถแท็กซี่ป้ายดำ ซึ่งการทำในลักษณะแบบนี้ของดีเอสไอเหมือนเป็นการตัดตนออกไปในการทำงานในลักษณะแบบนี้ในป่าตอง เพราะไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไรในเมื่อทำแล้วกลับได้รับผลตอบแทนแบบนี้ ต่อไปคงจะไม่มีใครที่กล้าร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการแก้ปัญหาต่างๆ
“นักท่องเที่ยวอาจจะมีการร้องเรียนเข้ามาจริงเรื่องแท็กซี่ป้ายดำแต่ต้องถามว่ากลุ่มไหนที่เป็นตัวสร้างปัญหาก็ต้องไปดำเนินการให้ถูกกลุ่ม ให้ถูกจุด อย่างกลุ่มที่ดำเนินการเป็นสหกรณ์มีการลงทะเบียนถูกต้อง กำหนดราคาที่ชัดเจน กลุ่มนี้หรือที่เป็นมาเฟีย อย่างกลุ่มที่อยู่ตามที่สาธารณะไม่มีทำอะไรสักอย่าง ไม่ลงทะเบียน ไม่มีป้ายราคา ไม่มียูนิฟอร์ม จะเรียกว่าอะไรล่ะ ถ้าป่าตองมีมาเฟียจริง รถโดยสารจากสนามบินจะมาวิ่งในป่าตองได้หรือ เพราะป่าตองไม่มีมาเฟีย มีแต่คนที่ตอบสนองนโยบายของรัฐเพื่อให้การท่องเที่ยวมีภาพลักษณ์ที่ดี ถ้าจะมีก็เป็นการห่วงพื้นที่ในการทำมาหากินเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ซึ่งก็สามารถที่จะจัดระเบียบได้” นายปรรชาวุฒิกล่าว
ส่วนกรณีที่ดีเอสไอจะเข้ามาตรวจสอบว่าตนเข้าไปค้ำประกันรถแท็กซี่ป้ายดำถึง 200 คัน ถามว่าใครที่ไหนจะให้ค้ำประกันรถได้ถึง 200 คัน ให้มาตรวจสอบได้เลย ตนมีรถแค่ 2 คันเท่านั้น ซึ่งคงจะไม่ค้ำประกันอะไรให้ใครไม่ได้ ต้องใช้เครดิตในการทำธุรกิจหลายกิจการ