ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวโรฮิงญา จำนวน 295 คน ลุกฮือแหกห้องขังของตรวจคนเข้าเมือง จ.สงขลา เครียดถูกกักตัวนาน 7 เดือน ไม่รู้ชะตากรรรม ทุบห้องขังชั้น 2 โรยตัวจากชั้นหนีไป 7 คนติดตามกลับมาได้ 2 คน
เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. วันนี้ (30 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดเหตุการณ์ชาวโรฮิงญาที่ถูกกักตัวอยู่ภายในอาคารกักตัวผู้ต้องกัก ตรวจคนเข้าเมือง จ.สงขลา อ.สะเดา จ.สงขลา จำนวน 295 คน ลุกฮือก่อหวอดแหกห้องขัง โดยใช้ของแข็งทุบช่องลมคอนกรีตบนชั้น 2 ของอาคาร และโรยตัวลงมาหนีไป 7 คน แต่เจ้าหน้าที่สามารถติดตามกลับมาได้ 2 คน ขณะที่ชาวโรฮิงญาที่เหลือได้พากันลงมารวมตัวอยู่ที่ประตูห้องขังชั้นล่าง ขณะที่อีกบางส่วนพยายามพังบานประตูหน้าต่างเพื่อหนีออกมา
หลังเกิดเหตุ นายจำลอง ไกรดิษฐ์ นายอำเภอสะเดา ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 100 นาย รวมทั้งได้ขอความร่วมมือผู้นำศาสนา และผู้น้ำท้องถิ่นใน ต.สำนักขาม อ.สะเดา มาช่วยเกลี้ยกล่อม โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง จึงสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทั้งนี้ สาเหตุมาจากชาวโรฮิงญาเกิดความเครียด หลังจากที่ถูกกักตัวมานานกว่า 7 เดือน โดยไม่รู้ชะตากรรมว่าจะได้รับความช่วยเหลืออย่างไร
ซึ่งจากการสอบถามถึงสาเหตุที่ทำให้ชาวโรฮิงญาทั้งหมดพยายามแหกห้องขัง และต้องรวมตัวลุกฮืน เนื่องจากต้องทนอยู่ภายในห้องกักตัวมานานกว่า 7 เดือน และคับแคบต้องอยู่กันอย่างแออัดหลังจากที่ทางเจ้าหน้าที่ได้ช่วยเหลือออกมาได้ ขณะถูกขบวนการค้ามนุษย์คุมขังอยู่ตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงนี้ซึ่งเป็นเดือนรอมฎอน จำเป็นต้องปฏิบัติศาสนกิจ ที่สำคัญยังไม่รู้ชะตากรรมว่าทางการไทย รวมทั้งประเทศที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการอย่างไร ว่าจะส่งกลับพม่า หรือให้ลี้ภัยไปยังประเทศที่ 3 ตามที่ชาวโรฮิงญาเรียกร้อง
นายจำลอง ไกรดิษฐ์ นายอำเภอสะเดา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางผู้นำศาสนาอิสลามรวมทั้งองค์กรต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศได้เดินทางไปให้กำลังใจชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ด้วยความห่วงใย พร้อมกับนำเครื่องอุปโภคบริโภคมามอบให้ และตรวจสุขภาพอย่างน้อยเดือนละครั้ง แต่สาเหตุที่ได้รวมตัวลุกฮือในครั้งนี้ อาจจะเกิดจากความเครียดที่ถูกกักตัวอยู่นาน และสถานที่ค่อนข้างคับแคบ ซึ่งจะเร่งหาแนวทางแก้ปัญหาโดยด่วน โดยจะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ปัญหาระยะยาว เบื้องต้นอาจต้องย้ายชาวโรฮิงญาบางส่วนไปไว้ที่อื่นชั่วคราว เพื่อลดความแออัด ในระหว่างที่ยังรอความชัดเจนในระดับประเทศว่า จะดำเนินการช่วยเหลือชาวโรฮิงญาเหล่านี้อย่างไร