xs
xsm
sm
md
lg

หรือ “ความไม่เป็นธรรม” คือรากเหง้าของ “ไฟใต้” ที่แท้จริง / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก 
 
ข้อเรียกร้องหลายข้อที่ฮาซัน ตอยิบ ตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต เรียกร้องต่อรัฐไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกเลิก พรก.ฉุกเฉินฯ ให้ถอนทหารจากกองทัพภาค 1, 2 และ 3 รวมทั้งถอนตำรวจจากส่วนกลางออกจากพื้นที่ ให้ปล่อยผู้ต้องหาและผู้ถูกออกหมายจับทั้งหมด เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสนใจ โดยเฉพาะ “กองทัพ” และ “รัฐบาล” จะต้องรับฟัง ไม่ใช่ได้ยินแต่ไม่ฟังอย่างที่ผ่านๆ มา
 
หลายเรื่องที่ตัวแทนบีอาร์เอ็นฯ ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชนชาวมาลายูปัตตานีเรียกร้อง เช่นเรื่องการยกเลิก พรก. การให้ถอนทหาร ย้ายตำรวจจากพื้นที่อื่นกลับไป ไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นฯ แต่โดยข้อเท็จจริงเป็นข้อเรียกร้องและเป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งได้เรียกร้องผ่าน ส.ส. ผ่านสภาที่ปรึกษาฯ ศอ.บต. สมช. และหน่วยงานอื่นๆ มาโดยตลอด เพียงแต่ที่ผ่านมากองทัพและรัฐบาล แม้แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นรัฐบาลที่เข้าใจเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างดี ก็ไม่เคยที่จะปฏิบัติตามความต้องการของประชาชน
 
ถ้ากองทัพและรัฐบาลฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่บ้าง และทำตามสิ่งที่ประชาชนต้องการบ้าง วันนี้เราคงไม่ต้องตื่นกระหนก เพราะการที่ฮาซัน ตอยิบ ผู้แทนบีอาร์เอ็นฯ ออกมาเรียกร้องในเรื่องเหล่านี้ กองทัพและรัฐบาลรู้สึกเสียหน้า ลำบากใจที่จะปฏิบัติตาม เนื่องจากในความรู้สึกของสังคมใหญ่ที่ไม่ใช่สังคมเล็กอย่างคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังรู้สึกว่า ฮาซัน ตอยิบ และบีอาร์เอ็นฯ เป็น “องค์กรการก่อการร้าย” การที่จะให้กองทัพหรือรัฐบาลทำตามคำเรียกร้องของกลุ่มโจรก่อการร้าย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้ว่าสิ่งที่บีอาร์เอ็นฯ เรียกร้องจะเป็นเรื่องเดียวกับที่ประชาชนเรียกร้องและต้องการ รวมทั้งเป็นการแก้ปัญหาไฟใต้ได้ก็ตาม
 
เช่นเดียวกับเรื่องของ “ความไม่เป็นธรรม” ที่ประชาชนในพื้นที่ องค์การนักกฎหมาย กลุ่มสิทธิมนุษยชน และสภาที่ปรึกษา ศอ.บต. ได้พยายามที่จะส่งเสียงเพื่อ “สื่อ” ถึงกองทัพ ถึงรัฐบาลมาโดยตลอด เช่น ให้ยกเลิกการใช้ พรก.ฉุกเฉินในบางพื้นที่ที่ไม่มีเหตุร้าย การใช้หมายจับที่เป็นหมาย พรก.ซึ่งที่ผ่านๆ มายึดเพียงหลักการ “ซัดทอด” ของผู้ที่ถูกจับกุมเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่ต้องมี “พยานหลักฐาน” เป็นองค์ประกอบ ซึ่งเป็นลักษณะการจับแบบ “เหมาเข่ง” และเมื่อผู้ถูกจับกลายเป็นผู้ต้องหาแล้ว ผิดหรือไม่ผิด ต้องใช้เวลาในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่การสอบสวนของพนักงานสอบสวนคือตำรวจ ส่งฟ้องโดยพนักงานอัยการ และพิจารณาคดีคือศาลสถิตยุติธรรม
 
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ภาคประชาชนรู้เห็นคือ ผู้ถูกจับด้วยหมาย พรก.กว่า 70% สุดท้ายถูกสั่งปล่อยตัว ด้วยเหตุผลที่ศาลสั่งไม่ฟ้อง เพราะพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการไม่พอฟ้อง แต่กว่าจะมีคำสั่งศาลให้ปล่อยตัวต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปีหรือ 5 ปี และคนเหล่านั้นจำนวนมากที่ไม่ได้รับการประกันตัว จากเหตุผลเจ้าหน้าที่ไม่ให้ประกัน เพราะถูกตั้งข้อหาร้ายแรง รวมทั้งไม่มีหลักทรัพย์ในการยื่นประกัน สุดท้ายแม้ว่าศาลสถิตยุติธรรมจะมีความยุติธรรมจริงด้วยการสั่งไม่ฟ้อง หรือการปล่อยตัว แต่ความ ล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นความ “อยุติธรรม” ในความรู้สึกของผู้ต้องหา ของญาติพี่น้องและคนในพื้นที่ ดังนั้นคดีที่ถูกสั่งไม่ฟ้องผู้ที่ถูกปล่อยตัวจึงไม่รู้ว่า เขาได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม
 
โดยข้อเท็จจริงในเรื่องกระบวนการสร้างความเป็นธรรมกับผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับ 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา และโดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่อยู่ในข่ายความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงนั้น ในรอบหลายปีที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รวมถึง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ได้มีการแก้ปัญหาทั้งในขั้นพื้นฐาน อย่างเรื่องสิทธิต่างๆ ที่ผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับ เช่น เรื่องของทนายความ เรื่องการเยี่ยมของญาติ การสอบสวนโดยไม่มีการทำร้ายทารุณ และเรื่องการ “อุ้มหาย” ไม่เกิดขึ้นในพื้นที่มากว่า 3 ปี นั่นคือความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด
 
ในส่วนของการให้สิทธิตามหลักศาสนาแก่สังคมของคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามนั้น กระทรวงยุติธรรมและ ศอ.บต.ตั้งแต่ยุคของ ภานุ อุทัยรัตน์ จนมาถึงยุคของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ ได้พยายามที่จะให้ผู้ต้องขังในเรือนจำได้ใช้วิถีวัฒนธรรมตามหลักศาสนา เช่น เครื่องแต่งกายของนักโทษ อาหารการกินที่ถูกต้องตามหลักศาสนา ซึ่งได้มีการเรียกร้องกันมานาน มีการแก้กฎระเบียบด้วยการให้เรือนจำใน จ.สงขลาสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาที่ถูกตัดสินประหารชีวิตได้ โดยไม่ต้องไปอยู่ในเรือนจำบางขวาง และมีการย้ายนักโทษที่มีโทษจำคุก 25 ปี หรือ 20 ปี และ 15 ปี ให้มาอยู่ยังเรือนจำ จ.นราธิวาส จ.ยะลา และ จ.ปัตตานีได้
 
สิ่งเหล่านี้กระทรวงยุติธรรม และ ศอ.บต.ไม่ได้ทำตามที่บีอาร์เอ็นฯ เรียกร้อง เพราะได้ทำมานานและทำมาก่อนที่ สมช.จะมีนโยบายเปิดพื้นที่พูดคุยกับบีอาร์เอ็นฯ การแก้กฎระเบียบการคุมขังนักโทษเด็ดขาดให้สามารถมารับโทษยัง จ.สงขลา จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาสได้นั้น เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกให้กับญาติพี่น้องของผู้ต้องขังที่จะได้เดินทางไปเยี่ยมได้อย่างสะดวก โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคสำหรับครอบครัวของผู้ยากไร้ รวมทั้งในเดือนรอมฎอน ศอ.บต.ยังได้นำญาติพี่น้องของนักโทษคดีความมั่นคงไปเยี่ยมนักโทษเหล่านั้นถึงเรือนจำ เพื่อให้เกิดความรู้ที่ดีระหว่างรัฐและประชาชนในพื้นที่
 
อีกทั้งยังมีความพยายามระหว่างกระทรวงยุติธรรม ศอ.บต.และหน่วยงานอื่นๆ ในการที่จะขจัด “เงื่อนไข” ของความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรมของคนในพื้นที่ รวมทั้งสร้างความ “เท่าเทียม” ในกระบวนการยุติธรรมให้เกิดขึ้น เช่น ในอนาคตอาจจะลดจำนวนหลักทรัพย์การประกันตัวสำหรับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงให้น้อยลง เพื่อให้ครอบครัวของผู้ยากจนสามารถหาหลักทรัพย์มาประกันผู้ต้องหาได้ รวมทั้งการพิจารณาการให้ประกันตัว และการย่นระยะเวลาในการพิจารณาคดีความมั่นคงให้รวดเร็วขึ้น เพราะกระทรวงยุติธรรมก็ดี ศอ.บต.ก็ดี ต่างเห็นฟ้องต้องการว่า “ความล่าช้าของขบวนการยุธรรมคือ ความอยุติธรรม” ซึ่งหาก “รากเหง้า” ของปัญหาไฟใต้มาจากเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรมจริง การพุ่งเป้าไปสู่การสลายเงื่อนไขของความอยุติธรรมจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องและชัดเจน
 
แต่น่าเสียดายที่วันนี้การแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับคนพื้นที่ไม่ได้มีการ “สื่อสาร” อย่างเป็นกระบวนการให้ประชาชนทั้งในสังคมเล็กอย่างสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสังคมใหญ่อย่างสังคมในประเทศและสังคมโลกได้รับรู้
 
ดังนั้นเมื่อ ฮาซัน ตอยิบ ตัวแทนบีอาร์เอ็นฯ เป็นผู้นำเสนอข้อเสนอให้รัฐไทย จึงเป็นการ “โดนใจ” คนในพื้นที่ จนเปรียบเสมือนว่าเรื่องที่กระทรวงยุติธรรมและ ศอ.บต.ดำเนินการอยู่ เป็นการทำตามข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นฯ
 
สุดท้ายกลายเป็นรัฐไทยกำลังจะ “ไม่มีที่ยืน” ในความรู้สึกของประชาชน เกี่ยวกับเรื่องของกระบวนการยุติธรรม เข้าตำรา “ทุนหาย กำไรหด” โดยปล่อยให้บีอาร์เอ็นฯ “ตีกิน” จนได้ความรู้สึกและได้ “มวลชน” ในจังหวัดชายแดนใต้ โดยที่ไม่ต้องลงทุนหรือลงแรงแต่อย่างใด
 
ทั้งหมดทั้งปวงคือ ความผิดพลาดของรัฐที่ไม่สามารถ “สื่อสาร” ในสิ่งที่ดีๆ เพื่อที่เข้าไปนั่งในใจของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ และตรงนี้คือ “โจทย์” สำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องตีให้แตก เพื่อที่จะได้ “หัวใจ” ได้ “มวลชน” ของคนในพื้นที่มาเป็นของรัฐ เพราะชัยชนะที่เด็ดขาดของสงครามประชาชนอยู่ที่มวลชน ใครได้มวลชนฝ่ายนั้นชนะ.


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น