xs
xsm
sm
md
lg

“วิกฤตช่างถม” งานศิลป์ชั้นสูงคู่เมืองนครศรีธรรมราชกำลังขาดคนสืบทอด ตอน 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...นักข่าวชายขอบ

เครื่องถมเงิน ถมทอง หรือถมตะทอง เป็นงานศิลปะเชิงช่างฝีมือชั้นสูงที่ถูกสืบทอดมารุ่นต่อรุ่น นับแต่สมัยโบราณในดินแดนนครศรีธรรมราช ในอดีตผลิตภัณฑ์เครื่องถมเป็นงานศิลปะที่ถูกส่งเป็นเครื่องราชบรรณาการแก่พระมหากษัตริย์ในต่างแดน สามารถสืบสาวเรื่องราวย้อนหลังไปได้มากกว่า 400 ปี เครื่องถมนครมีกำเนิดมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ราว พ.ศ.2061 แต่เรื่องที่มายังเห็นแย้งกันอยู่บ้างว่า ได้รับการถ่ายทอดมาจากชาวโปรตุเกส เพราะชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำการค้าขายในราชอาณาจักรไทยได้ 4 เมือง คือ กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และมะริด สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีความเห็นว่า ชาวนครศรีธรรมราชได้รับรู้เรื่องเครื่องถมจากชาวอินเดีย ศาสตราจารย์วิศาลศิลปกรรมว่า ยาถมไทยมิได้รับต้นตำรับจากประเทศใด เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยแท้ คือ เกิดที่นครศรีธรรมราช

 
ในอดีต เครื่องถมนั้นถือว่าเป็นของสูง เหมาะจะเป็นเครื่องราชูปโภคของกษัตริย์ หรืออย่างน้อยก็เป็นเครื่องยศของขุนนางชั้นสูง ทั้งยังใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการสำหรับกษัตริย์ต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ เพราะเครื่องถมแต่ละชิ้นนั้นเป็นเงินแท้ ทำด้วยกรรมวิธีที่สลับซับซ้อน ต้องใช้ความละเอียดประณีตมาก เท่าที่มีหลักฐานมีการใช้เครื่องถมเป็นเครื่องยศขุนนางมาตั้งแต่สมัยพระบรมไตรโลกนาถ ในสมัยพระนารายณ์มหาราช ก็มีหลักฐานปรากฏว่ามีรับสั่งให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช จัดหาช่างถมที่มีฝีมือเข้าไปทำเครื่องถม ณ กรุงศรีอยุธยา เพื่อส่งไปบรรณาการแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และพระสันตะปาปาแห่งกรุงโรม แสดงว่าเครื่องถมนครนั้น มีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางเป็นอย่างน้อย

 
เครื่องถมเมืองนครรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้นำพระเสลี่ยง หรือพระราชยานถม และพระแท่นถมสำหรับออกขุนนางขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายในรัชสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยานคร (น้อยกลาง) ก็ได้นำเรือพระที่นั่งกราบถม กับพระเก้าอี้ถมซึ่งใช้เป็นพระที่นั่งถัทรบิฐขึ้นน้อมเกล้าฯถวาย ครั้นมาถึงรัชสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) ทำพระแท่นพุดตานถมถวาย สำหรับตั้งในท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ลักษณะของงานเครื่องถมเหล่านี้ จะเป็นศิลปะเชิงช่างสกุลนครศรีธรรมราชเท่านั้น ที่ไม่มีสกุลช่างฝีมือใดๆ ในโลกมาเสมอเหมือน จึงถือเป็นศิลปะที่ควรอนุรักษ์ ทั้งการอนุรักษ์งานศิลปะที่จะต้องสืบทอดรูปลักษณ์ที่สะท้อนถึงฝีมือของสกุลช่างนครศรีธรรมราช และช่างฝีมือที่จะต้องถ่ายทอดศิลปะจากเชิงช่างชั้นสูงเหล่านี้ ให้อยู่บนชิ้นงาน หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป งานถมเหล่านี้จะไม่สามารถอยู่รอดได้เป็นแน่แท้

 
“เครื่องถมเงิน ถมทองมีความโดดเด่นจากลวดลายที่วิจิตร รวมไปถึงตัวเนื้อเงินที่มีคุณค่า เครื่องถมเงินเป็นรูปพรรณที่ทำด้วยเงินแล้วลงยาถม เครื่องถมจะโดดเด่นเพราะมีรูปทรงดี มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของเรา และเรามียาถมที่ไม่มีที่ไหนทำได้ เราหลอมเองทำเองได้ ที่ไหนก็ตามเมื่อเราไปดูปรากฏว่าไม่มีเหมือนที่นครศรีธรรมราช และเครื่องถมทองจะเป็นภูมิปัญญาที่เราต้องอนุรักษ์ไว้ เครื่องถมทองเราทำทองให้เป็นแป้งเปียกแล้วทาทับเครื่องเงินไว้เราเรียกว่าถมทอง สิ่งเหล่านี้เป็นศิลปะประจำชาติไปแล้ว เป็นเอกลักษณ์ของประเทศมาตั้งแต่สมัยอยุธยา พบว่ามีเครื่องถมปรากฏไปเป็นเครื่องบรรณาการพระสันตะปาปา หรือสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ในสมัยนั้น” ครูระไว สุดเฉลย ครูช่างเครื่องถมแห่งวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช อธิบาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง “วิกฤตช่างถม”งานศิลป์ชั้นสูงคู่เมืองนครศรีธรรมราชกำลังขาดคนสืบทอด ตอนจบ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น