xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปากรนครศรีฯ บวงสรวงเก๋งจีน “สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ” เพื่อแก้ไขใหม่หลังบูรณะผิดเพี้ยน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - สำนักศิลปากรที่ 15 นครศรีธรรมราช เข้าบวงสรวงเก๋งจีน “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ตามประเพณีเพื่อแก้ไขการบูรณะเมื่อครั้งที่ผ่านมา หลังพบว่าผิดเพี้ยนไปจากแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะสีไม้จำหลักลาย และปูนปั้นบนหลังคา

วันนี้ (29 พ.ค.) นายกฤติพงศ์ คงแข็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายอาณัต บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 15 นครศรีธรรมราช พร้อมด้วยเครือญาติในตระกูล ณ นคร ซึ่งเป็นตระกูลผู้สืบเชื้อสายจากเจ้าผู้ครองนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกันเข้าทำพิธีบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งประกอบด้วย พระประธานในอุโบสถวัดประดู่ และสถูปสมเด็จพระสังฆราช (สี) สมเด็จพระสังฆราชองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และสถูปเก๋งจีนพระเจ้าตาก ซึ่งเชื่อว่าเป็นสถานที่บรรจุพระสรีรางคาร และพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ซึ่งสถานที่สำคัญทั้งหมดตั้งอยู่ในบริเวณวัดประดู่ อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช โดยเป็นการทำพิธีเพื่อทูลขออนุญาตแก้ไขการบูรณะเมื่อกว่า 6 เดือนก่อน ซึ่งแล้วเสร็จไปแล้ว แต่กลับพบว่า รายละเอียดของการบูรณะผิดเพี้ยนไปจากของเดิมอย่างมาก โดยเฉพาะสีแดงที่ลงสีน้ำมันบนแผ่นไม้จำหลักลายที่แสดงถึงชั้นยศพระมหากษัตริย์ คือ มังกรคาบแก้ว นกกระเรียนคู่ บริเวณซุ้มประตูทางเข้าที่ประดิษฐานสถูปหรือ “บัว” ตามประเพณีของชาวภาคใต้ ซึ่งไม่เป็นไปตามสีของลวดลายดั้งเดิม

นายอาณัต บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 15 นครศรีธรรมราช ระบุว่า เริ่มต้นเนื้อหาทางประวัติศาสตร์นั้นเดิมเก๋งจีนนี้เป็นที่ประดิษฐานอัฐิของเจ้าพระยานคร (พัฒน์) และมีการปรับปรุงข้อมูลอีกครั้งเมื่อปี 2544 ระบุว่า เป็นที่ประดิษฐานอัฐิของเจ้าพระยานคร (น้อย) แต่ในที่สุด ได้มีการยืนยันทางประวัติศาสตร์จากตระกูล ณ นคร ว่า สถานที่แห่งนี้คือที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

“ทางศิลปากรได้ทำการตรวจสอบองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น รูปมังกรที่เป็นเครื่องหมายของสมเด็จพระเจ้าตากสิน เนื่องจากคนจีนถือว่ามังกรเป็นเครื่องหมายของจักรพรรดิ เมืองที่ส่งบรรณาการจะเป็นอ๋อง และทุกบัว หรือสถูปในภาคใต้ทุกแห่งเดิมนั้น จะไม่มีครุฑเป็นองค์ประกอบ เราจึงปรับปรุงข้อมูลให้มีความเด่นชัดขึ้น เราหาข้อมูลจากรูปถ่ายเก่าแต่พบว่ามีสีที่แตกต่างกัน หลังจากนั้น ได้สอบถามข้อมูลจากคนเฒ่าคนแก่ ล้วนแล้วแต่เคยเห็นร่องรอยจางๆ สีเก่าที่ไม่ใช่สีแดงพื้น ซึ่งเป็นธรรมเนียมของการลงสีแบบจีน ครั้งนี้จึงมีการปรับปรุงแก้ไขด้วยการลอกสีแดงที่บูรณะไว้ทั้งหมด และลงสีตามแบบดั้งเดิม” ผอ.สำนักศิลปากรที่ 15 กล่าว

ส่วนความรับผิดชอบในการแก้ไขการบูรณะนั้น นายชูเกียรติ สุทิน รองผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราช เป็นผู้ควบคุมคณาจารย์ที่จะเข้ามาดำเนินการแก้ไข ระบุว่า ได้สืบค้นข้อมูลจากผู้ใหญ่ในตระกูล ณ นคร และผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยมาสักการะ และเห็นลวดลายนี้ รวมทั้งศึกษาข้อมูลศิลปะในยุคสมัยเดียวกันคือ ประมาณ 250 ปีที่ผ่านมา ส่วนสีน้ำมันที่ได้บูรณะมานั้น จะดำเนินการใช้นำยาลอกสีออกทั้งหมด จากนั้นจะเริ่มลงสีใหม่ให้เป็นไปในแบบดั้งเดิม

สำหรับสถูปหรือบัวแห่งนี้ ได้ถูกสร้างขึ้นจากบรรพบุรุษตระกูล ณ นคร ซึ่งเป็นเจ้าเมืองของนครศรีธรรมราชมาเมื่อหลายร้อยปีก่อน และมีความเชื่อมโยงทางสายราชตระกูลของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และในช่วงบั้นปลายพระชนม์มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญเชื่อว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มาสิ้นพระชนม์ที่นครศรีธรรมราช หลังจากเจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ทำการถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิ และพระราชสรีรางคารมาบรรจุไว้ที่นี่ โดยมีหลักฐานที่สำคัญที่แสดงถึงสัญลักษณ์คือ ครุฑที่ประดิษฐานอยู่บนสถูป หรือบัวทั้ง 4 ทิศ มังกรคาบแก้วที่อยู่บนซุ้มประตู และนกกระเรียนคู่ที่อยู่บริเวณซ้ายขวาของประตู







 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น