โดย...นักข่าวชายขอบ
ส่วนในยุคสมัยปัจจุบันนั้น สิ่งที่กำลังวิตกโดยเฉพาะในหมู่ช่างถม คือ การสืบทอดวิชาช่างกลับน้อยนักที่เด็กรุ่นใหม่จะสนใจในวิชานี้ และตั้งใจที่จะสืบทอดภูมิวิจิตรปัญญาของบรรพบุรุษชาวนครศรีธรรมราช แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่เคยผ่านการเรียนรู้อย่างเป็นทางการ แต่เรียนรู้ด้วยใจรัก หรือแบบครูพักลักจำ เพาะบ่มฝีมือด้านศิลปะเชิงช่างด้วยตัวเองมากกว่า 20 ปี จนมีความเชี่ยวชาญสร้างสรรค์ชิ้นงานหาเลี้ยงชีพด้วยศิลปะการทำเครื่องถมมาตลอดชีวิต
“ผมเป็นห่วงมากจริงๆ เด็กสมัยนี้ที่จะสนใจงานเครื่องถมน้อยลงไปมาก อาจเป็นเพราะไม่มีแรงจูงใจในเรื่องของรายได้ ฐานะ ควรหาช่องทางในการสนับสนุน แต่ด้วยความสลับซับซ้อนของกระบวนการทำนั้นมันยาก ถ้าไม่มีใจรัก ไม่ชอบการเรียนรู้ ไม่รักงานศิลปะ ยากที่จะหาคนมาสืบทอด ต้องรักษาไม่ให้สูญหายไป รุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาตอนนี้นับว่าน้อยมาก” สมทรง แพรพระนาม ช่างฝีมือเครื่องถมย่านท่าช้าง อำเภอเมือง นครศรีธรรมราชแสดงความห่วงใย
เช่นเดียวกับ วันทนา อนุโต หรือ “ช่างแอ๊ด” ช่างเครื่องถมหญิงเพียงคนเดียวของเมืองนครศรีธรรมราช บอกว่า วิชาช่างเหล่านี้ถ้าใจไม่รักจะเป็นไปไม่ได้เลยกับการเรียนรู้ อย่างฉันไม่เคยเรียนอย่างเป็นทางการ หลังจากจบ ป.6 ได้ไปอาศัยอยู่กับผู้มีพระคุณทำงานเครื่องเงิน เครื่องถมมากกว่า 10 ปี จนออกมาทำธุรกิจนี้เอง และผลิตเครื่องถมเอง ทำเอง
“เชื่อไหมว่าแม้แต่ลูกของฉันเขายังไม่สนใจที่จะมาดูงาน หรือมาทำงานกับแม่เลย แม้แต่การนำเอาของไปขาย หลังจากแม่ทำเสร็จแล้ว เขายังไม่สนใจ สนใจที่จะเรียนในด้านอื่น ไม่ทราบเป็นเพราะอะไรที่เด็กรุ่นใหม่ๆ น้อยคนที่จะชอบ จะรักของเหล่านี้ ช่างฝีมือใหม่ๆ หาได้น้อยมาก จริงๆ แล้วรายได้ดีไม่ทราบเป็นเพราะอะไร บางคนจบมาโดยเฉพาะก็ไม่เอาไม่ทำ ส่วนช่างฝีมือชั้นครูในปัจจุบันคงเหลือเพียงไม่ถึง 5 คนแล้วกระมัง” ช่างแอ๊ดสะท้อน
ส่วน ครูนิคม นกอักษร อดีตครูช่างบอกว่า “ผมว่าเด็กมันคิดผิด ปัจจุบันนี่แหละมันคิดผิดเห่อ (ถอนหายใจ) วิชาที่แข่งขันกันสูงในวิชาเครื่องถม เป็นวิชาที่สำคัญกับบ้านเมืองมาก คนทำอยู่ไม่เคยว่างงาน งานมีมากทั้งๆ ที่วัสดุมีราคาสูงขึ้น ทั้งเนื้อเงิน เนื้อทอง เป็นหนึ่งในวิชาศิลปะเชิงช่างชั้นสูงวิชานี้ไม่ต้องเป็นห่วงว่าไม่มีงานทำ มีงานแน่นอน
ขณะที่ผู้ค้าเครื่องเงิน และเครื่องถมเช่น นาบีน สุดวิไล เจ้าของร้าน “นาบีน” ย่านการค้าเครื่องถมถนนท่าช้าง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช บอกว่า เครื่องถมเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงมาก มีราคาแพง ราคามีตั้งแต่ชิ้นละไม่กี่ร้อยบาท ไปจนถึงหลายแสนบาท แม้ว่ามีราคาแพงตลาดยังคงต้องการเป็นอย่างมาก เพราะเป็นงานที่มีคุณค่าในตัวเองจากโลหะที่มีค่า เช่น เงิน และทอง และเมื่อผนวกกับศิลปะที่วิจิตรบรรจง มีความสลับซับซ้อนด้วยภูมิปัญญา ราคาแม้จะแพงจึงไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้ซื้อ
“ปัจจุบัน งานที่ได้มาจากกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรมมีมากขึ้น แม้ว่าราคาจะถูกลง แต่เป็นงานที่ไม่ได้มีคุณค่าเหมือนกับงานฝีมือที่ทำด้วยมือล้วนๆ แน่นอนว่าคุณค่าของงานมันต่างกันอยู่แล้ว เป็นห่วงมากเช่นกัน ห่วงว่างานถมชั้นสูงของเราจะหายไป ในอนาคตจะไม่มีคนสืบทอด ไม่มีช่างฝีมือจัดจ้านเช่นในอดีต” นาบีน แสดงความเป็นห่วง
ความหวาดวิตกในวงการช่างเครื่องถม เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตการณ์ของการขาดแคลนช่างฝีมือ เช่น ครอบครัวศิลปินแห่งชาติสาขาเครื่องถม เหลือเพียงสูตร “ยาถม” ที่เป็นสูตรลับเฉพาะประจำตระกูลผลิตออกมาขายเป็นหลัก ส่วนงานถมจากลูกหลานที่ออกมานั้นน้อยมาก ในทางกลับกัน พบว่าช่างถมชั้นสูงในตลาดฝีมือมีแนวโน้มที่จะเป็นวิกฤตการขาดแคลนในอนาคต แต่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช กลับเป็นแหล่งฝึกฝนช่างมือถมชั้นสูงเพียงแห่งเดียวในโลกที่มีสาขาวิชานี้เปิดสอน
นายสุรพล โชติธรรมโม ผอ.วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช บอกว่า เราพยายามรณรงค์ให้เยาวชนรุ่นใหม่สนใจเครื่องถมมากขึ้น เป็นศิลปะโบราณ ตลอด 100 ปีที่ผ่านมา มีเพียงวิทยาลัยแห่งนี้เท่านั้นที่มีการเปิดการเรียนการสอน เราต้องการอนุรักษ์เครื่องถมนครศรีธรรมราชมาโดยตลอด เวลานี้มีนักเรียนเข้าเรียนใหม่ในชั้น ปวช.มี 11 คน ที่น่าดีใจคือ 3-4 คนในจำนวนนี้ ครอบครัวเขาทำเครื่องถม วิทยาลัยพยายามที่จะรักษาไว้ให้ได้ และแม้ว่าจะมีนักเรียนเข้าเรียนวิชานี้เพียง 1 คน เราจะยังเปิดสอน จะไม่มีการปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชานี้อย่างเด็ดขาด
“วิทยาลัยจะต้องรักษาวิชาช่างแขนงนี้ไว้ให้ได้ และคณาจารย์ในอดีตมาจนถึงปัจจุบันต่างอัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมวิทยาลัยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2508 ความว่า “จงรักษาศิลปะของชาติอันนี้ไว้ให้ดี” ข้อความพระราชดำรัสนี้ ได้ถูกบันทึกไว้ในแผ่นป้ายขนาดใหญ่ ติดตั้งอยู่ในแผนกวิชาเครื่องถม จะเป็นแนวปฏิบัติของชาวศิลปหัตถกรรมทุกคน” ผู้อำนวยการวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราชแห่งนี้กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง “วิกฤตช่างถม”งานศิลป์ชั้นสูงคู่เมืองนครศรีธรรมราชกำลังขาดคนสืบทอด ตอน 1