สุราษฎร์ธานี - หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ร่วมจัดกิจกรรม 3 สภา สร้างความร่วมมือกับพันธมิตร หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนเอสเอ็มอีเสริมสภาพคล่องในธุรกิจ ด้านหอการค้าสุราษฎร์ฯ เป็นห่วงปัญหาขาดแคลนน้ำ กระทบการเติบโตของเมือง
วันนี้ (2 ก.ค.) ที่โรงแรมแก้วสมุย อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี บสย.ได้จัดกิจกรรม 3 สภา สร้างความร่วมมือกับพันธมิตร หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนเอสเอ็มอีเสริมสภาพคล่องในธุรกิจ โดย นายนภดล ศรีภัทรา กรรมการหอการค้า จ.สุราษฎร์ธานี นายพงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนเข้าร่วมจำนวนมาก
นายนภดล ศรีภัทรา กรรมการหอการค้า จ.สุราษำร์ธานี กล่าวว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการขึ้นโครงการหมู่บ้านจัดสรร ในรอบรัศมี 10 กิโลเมตร จำนวนหลายโครงการ ส่วนคอนโดมิเนียม ผุดขึ้นอีกมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะที่ถนนศรีวิชัย เส้นเดียวมีถึง 9 แห่ง แต่ปัญหาที่จะตามมาในระยะเวลาอันใกล้ 2-3 ปีนี้ คือ ระบบน้ำประปาขาดแคลน ปัญหาวิกฤตการจราจรที่หนาแน่นเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงปัญหาน้ำเสีย เป็นต้น ถ้าไม่มีการวางแผนรองรับการขยายตัวที่ดีพออนาคตเมืองสุราษฎร์ธานีจะน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
สำหรับด้านการท่องเที่ยวนั้น ธุรกิจการโรงแรมขยายตัวทั้งบนบก และชายทะเลเพื่อรองรับลูกค้าหลากหลายระดับ และรองรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอีกด้วย ขณะที่ธุรกิจโรงแรมบนบก เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ในตัว อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโรงแรมระดับกลางที่เน้นจุดขายความเป็นธรรมชาติกำลังเปิดตัวแล้วหลายแห่ง เป็นการดึงลูกค้าระดับกลาง และลูกค้าที่ต้องการความเป็นธรรมชาติมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ก่อนที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวต่อเกาะสมุย และเกาะพะงัน
ด้าน นายพงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า รายได้หลักของชาว จ.สุราษฎร์ธานี คือ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อาหารทะเลแปรรูป และการท่องเที่ยว ขณะนี้ราคายาง และปาล์มน้ำมันมีราคาตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน เชื่อได้ว่าราคาปาล์มน้ำมันจนถึงปลายปีนี้น่าจะไม่เกิน 4 บาทต่อ กก. ส่วนราคายางถ้าจะให้ถึง 90-100 บาทต่อ กก. คงจะยาก เพราะสาเหตุจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อ ปกติแล้วไทยจะมุ่งส่งออกยางไปที่ผู้ซื้อ และผู้ผลิตจากจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา หากความต้องการยางจากประเทศเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นก็จะส่งผลให้ราคายางในประเทศไทยสูงขึ้นตามไปด้วย เชื่อว่าในอนาคตนี้ราคายางจะตกต่ำเหลือประมาณ กก.ละ 60 บาท จึงเตือนให้ชาวสวนยางหันมากรีดยางเองเหมือนในอดีตแทนที่จะจ้างชาวพม่า เพราะจะต้องแบ่งถึงร้อยละ 40 แทนที่จะได้เต็มๆ รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าเกินไปในภูมิภาคนี้ เป็นต้น ส่วนอาหารทะเลแปรรูป ก็มีปัญหาจากค่าเงินบาทที่แข็งตัวแต่ก็มีผลกระทบไม่มาก ส่วนทางด้านการท่องเที่ยวยังคงไปได้ดี