xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐเร่งแก้ค่าเงินบาทแข็ง ยาง-ปาล์มแย่ ราคาร่วงหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตรัง - ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตรัง จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็ง เพราะทำให้สินค้าภาคการเกษตรในภาคใต้ ทั้งยางพารา และปาล์มน้ำมันราคาตกต่ำมาก โดยราคายางอยู่ที่ กก.ละ 65-70 บาท จากราคาสูงสุด 110 บาท แนะควรแทรกแซงราคาในระยะสั้น และดูแลกล้าพันธุ์ และปุ๋ยให้ราคาถูกลง

นายวิถี สุพิทักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า จากสภาวะค่าเงินบาทของประเทศไทยที่แข็งตัวขึ้นอย่างมากนั้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าภาคการเกษตร โดยเฉพาะในภาคใต้ มีการปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญจำนวนมาก รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท นับตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี 2556 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ สูงขึ้นมาก จึงจำเป็นต้องรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรกรในราคาที่ต่ำลง เพื่อที่จะสามารถประคับประคองกิจการให้อยู่ต่อไปได้ แต่ได้สร้างความเดือดร้อนมาถึงเกษตรกรเพราะมีรายได้ลดลงอย่างมาก

ทั้งนี้ เนื่องจากล่าสุดราคายางพาราได้ปรับตัวลดลงเหลือเพียงกิโลกรัมละ 65-70 บาท จากที่เคยมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 105-110 บาท เมื่อปี 2555 ส่วนราคาไม้ยางพาราปรับตัวลดลงเหลือเพียงไร่ละ 2-4 หมื่นบาท จากที่เคยมีราคาสูงถึงไร่ละ 5 หมื่นบาท เมื่อปี 2555 และราคาปาล์มน้ำมันก็ปรับตัวลดลงเหลือเพียงกิโลกรัมละ 3-4 บาท จากที่เคยมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 5-6 บาท เมื่อปี 2555
น้ำยางพาราซึ่งเป็นสินค้าเศรษฐกิจของภาคใต้ ราคาต่ำลงเกือบครึ่งหนึ่งของปีที่แล้ว
 
ซึ่งจากการคาดการณ์เชื่อว่าสภาวะค่าเงินบาทจะไม่กลับมาอ่อนตัวอีกแล้ว ทำให้ราคาสินค้าทางการเกษตรยังคงตกต่ำเช่นนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการส่งออก และเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้จะต้องรีบเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์

ขณะเดียวกัน ภาครัฐบาลจะต้องออกมาตรการทั้งระยะสั้น และระยะยาว เป็นการช่วยเหลือประชาชนมิให้เกิดผลกระทบมากไปกว่านี้ แต่จะต้องดำเนินการด้วยความจริงใจ และยั่งยืน เช่น การส่งเสริมให้นำสินค้าภาคการเกษตรมาใช้ประโยชน์ภายในประเทศมากขึ้น หรือการลดภาษี ส่วนการประกันราคา หรือการแทรกแซงราคาควรทำแค่ในช่วงสั้นๆ เท่านั้น พร้อมทั้งเข้าไปดูแลกล้าพันธุ์ และปุ๋ยที่ใช้สำหรับยางพารา รวมทั้งปาล์มน้ำมันให้มีราคาถูกลง

อย่างไรก็ตาม เฉพาะยางพารา และไม้ยางพารายังพอมีลู่ทางส่งออกได้ดี โดยเฉพาะในประเทศจีน หลังจากเริ่มจะมีคำสั่งซื้อเข้ามา แม้ต้องเจอกับสภาวะค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นอย่างมากก็ตาม
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น