xs
xsm
sm
md
lg

“ไอแบงก์” เจาะสหกรณ์อิสลาม ขยายฐานธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “ไอแบงก์” ขยายพันธมิตรทางธุรกิจ จับมือเครือข่ายสหกรณ์อิสลามเกือบ 40 แห่งทั่วประเทศ โดยมีพันธกิจหลักคือ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน พร้อมสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน และเงินลงทุนในระยะยาวแก่ลูกค้าของสหกรณ์

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ขยายพันธมิตรทางธุรกิจ จับมือเครือข่ายสหกรณ์อิสลาม ในงานเสวนา “ทิศทางความร่วมมือระหว่างธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กับสหกรณ์อิสลามภาคใต้” โดยได้รับเกียตริจาก ดร.วรวิทย์ บารู สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปัตตานี ประธานเครือข่ายสหกรณ์มุสลิมภาคใต้ นายเด่น โต๊ะมีนา ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ปัตตานี จำกัด และผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งประธานสหกรณ์อิสลามเกือบทั่วประเทศ เข้าร่วมหารือถึงแนวทางทางการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวมุสลิมทั่วประเทศ
นายธานนินทร์ อังสุวรังษี กรรมการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (แฟ้มภาพ)
 
นายธานินทร์ อังสุวรังษี กรรมการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2556 นี้ ธนาคารได้ปรับวิสัยทัศน์ และพันธกิจเพื่อมุ่งเน้นการให้บริการทางการเงินแก่พี่น้องมุสลิม ให้สามารถเข้าถึงระบบการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้ามุสลิม

และหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของธนาคารในปีนี้ คือ การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ เพื่อค้นหาโอกาสในการร่วมทุนกับพันธมิตรธุรกิจ ซึ่งเครือข่ายสหกรณ์อิสลามถือเป็นองค์กรที่ธนาคารให้ความสำคัญมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน มีสหกรณ์มุสลิมทั่วประเทศกว่า 40 สหกรณ์ มีสมาชิกรวมกันกว่า 200,000 คน จึงนับเป็นช่องทางสำคัญในการให้บริการทางการเงินอีกรูปแบบหนึ่งที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม และสามารถเข้าถึงพี่น้องชาวมุสลิมได้เป็นอย่างดี

โดยประเด็นสำคัญของการหารือถึงความร่วมมือระหว่างธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และเครือข่ายสหกรณ์อิสลามในครั้งนี้ มี 4 ประเด็นหลัก คือ

1.การพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างธนาคาร และเครือข่ายสหกรณ์อิสลาม โดยธนาคารพร้อมให้ความรู้เรื่องหลักการดำเนินงานด้านการเงินต่างๆ ให้แก่เครือข่ายสหกรณ์ และขณะเดียวกัน ธนาคารก็พร้อมที่จะเรียนรู้วิธีการดำเนินของเครือข่ายสหกรณ์อิสลาม เพื่อพัฒนาการให้บริการของธนาคารต่อไป

2.การเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนสหกรณ์อิสลาม และวิสาหกิจชุมชน

3.การเป็นฐานการลงทุนหมุนเวียนของสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์อิสลามสามารถนำเงินมาร่วมลงทุนกับธนาคารได้

4.การเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวสำหรับสมาชิกสหกรณ์ เช่น ในกรณีที่สมาชิกสหกรณ์มีความจำเป็นต้องการใช้สินเชื่อเพื่อการลงทุนเป็นระยะเวลาอันยาวนานเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป ซึ่งเกินขีดความสามารถของสหกรณ์ที่จะสนับสนุนเงินทุนแก่สมาชิกได้ ธนาคารก็พร้อมที่จะสนับสนุนสินเชื่อดังกล่าว

“ธนาคารอิสลามฯ ไม่เพียงมุ่งหวังแค่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อร่วมผลักดันกิจการสหกรณ์มุสลิมของประเทศไทยให้ก้าวหน้าเท่านั้น หากแต่ความร่วมมือในครั้งนี้ จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่สังคมมุสลิม และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องชาวมุสลิมทุกคน” นายธานินทร์กล่าวทิ้งท้าย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น