ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ตื่นไปทั้งชายแดนใต้! คณะกลั่นกรองข้อเสนอบีอาร์เอ็นเรียกประชุมด่วนที่ ศอ.บต.เพื่อกำหนดท่าที ชี้ยื่น 7 เงื่อนไขกับ 4 ข้อย่อยใหม่ เหมือนต้องการหาทางลง ไม่อยากเจรจาต่อเพราะสั่งพวกปฏิบัติการในพื้นที่ไม่ได้ แต่ก็เขกกะโหลกรัฐไทยให้โลกดูว่าเป็นฝ่ายทำไม่ได้เอง
นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ในฐานะเลขาคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต ซึ่งตั้งขึ้นโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยกับ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ถึงกรณีนายฮาซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็นได้ยื่นข้อเสนอชุดใหม่ให้แก่รัฐบาลไทยด้วย 7 เงื่อนไขหลัก กับอีก 4 เงื่อนไขประกอบว่า เรื่องนี้ถือเป็นการทำผิดเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้บนโต๊ะพูดคุยสันติภาพอีกครั้งหนึ่งของกลุ่มบีอาร์เอ็น
ตามที่มีการตกลงกันไว้บนโต๊ะพูดคุยสันติภาพนั้น ฝ่ายบีอาร์เอ็นจะต้องทำข้อเสนอส่งให้แก่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในสัปดาห์หน้า ไม่ใช่การทำคลิปแล้วนำเสนอผ่านยูทิวบ์เมื่อคืนวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งการทำผิดข้อตกลงของฝ่ายบีอาร์เอ็นในครั้งนี้ ก็ซ้ำรอยเหมือนกับการยืนเงื่อนไข 5 ข้อให้แก่รัฐบาลไทยพิจารณาหนก่อนนั่นเอง นอกจากนี้แล้ว ยังผิดข้อตกลงในประเด็นว่า ฝ่ายไหนจะยื่นเงื่อนไข หรือข้อเสนออะไรต้องแจ้งให้อีกฝ่ายทราบ และที่สำคัญต้องให้มาเลเซียในฐานะผู้ประสานงานทราบเรื่องก่อนด้วย แต่บีอาร์เอ็นทำอะไรทั้งรัฐบาลไทย และมาเลเซียไม่ได้รับรู้มาก่อนเลย
นายไชยงค์ ซึ่งยังมีตำแหน่งเป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า จากกรณีที่เงื่อนไขใหม่ทั้ง 7 ข้อ ถูกนำเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรีวันนี้ (25 มิ.ย.) ผู้นำรัฐบาลต่างรับเงื่อนไขของบีอาร์เอ็นไม่ได้นั้น ส่งผลให้นายอาซีส เบ็ญหาวัน ประธานสภา สปต.ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับขบวนการบีอาร์เอ็น จึงต้องเรียกคณะทำงานประชุมเร่งด่วนเป็นพิเศษที่ห้องประชุม ศอ.บต.ที่ จ.ยะลา ช่วงบ่ายของวันนี้เช่นกัน เพื่อประเมินสถานการณ์ และกำหนดท่าทีว่าในฐานะตัวแทนชาวชายแดนใต้จะคิดเห็นอย่างไรกัน
“ความจริงคณะทำงานเราก็เพิ่งพิจารณาข้อเสนอเก่าของบีอาร์เอ็น 5 ข้อเสร็จ กำลังจะส่งให้ ศอ.บต.กับ สมช. นำไปดำเนินการต่ออยู่พอดี กลับมีเงื่อนไขใหม่ออกมาอีกแล้ว ในความเห็นส่วนตัวนะ ผมว่าเงื่อนไขที่บีอาร์เอ็นเสนอออกมาเหมือนต้องการปิดทาง หรือปิดกั้นเราไม่ให้เดินหน้าต่อ หรือมองในอีกทางคือไม่อยากเจรจาต่อไปแล้ว การเสนอเงื่อนไขแบบที่รัฐบาลไทยทำไม่ได้ก็เพื่อหาทางลงอย่างสวยงามให้แก่ตัวเอง เพราะจริงๆ แล้ว บีอาร์เอ็นไม่สามารถสั่งฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ได้ ทำแบบนี้บีอาร์เอ็นไม่เสีย แต่รัฐบาลไทยเสีย เพราระสามารถอ้างต่อโลกได้ว่า รัฐบาลไทยไม่ต้องการทำตามเงื่อนไขที่เขาเสนอไว้” นายไชยยงค์กล่าว