xs
xsm
sm
md
lg

“ปภ.” จับมือ “ไจก้า” จัดซ้อมแผนจัดการภัยพิบัติบนโต๊ะให้ อปท.เมืองคอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
นครศรีธรรมราช - “ปภ.” จับมือ “ไจก้า” ซ้อมแผนบนโต๊ะพัฒนาการจัดการภัยพิบัติให้ อปท.ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช
 
 
วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่โรงแรมเมืองลิกอร์ นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานเปิดการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ หรือ TTX ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ขยายผล ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพในการจัดการภัยพิบัติของประเทศไทย ระยะที่ 2 โดยความร่วมมือระหว่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น หรือไจก้า (JICA)
 
ทั้งนี้ เพื่อให้ความรู้ สร้างความตระหนัก และเตรียมความพร้อมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดำเนินงานเพื่อการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งทดสอบแผนปฏิบัติการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งเพื่อทดสอบการประสานงาน การแก้ไขปัญหา การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งในการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญจากไจก้าเป็นวิทยากร มีเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10 แห่ง และหน่วยงานภาคีเครือข่ายเข้าร่วมฝึกซ้อมแผน 140 คน ใช้ระยะเวลา 2 วัน 
 
นายทรงพล กล่าวว่า การฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะเป็นการจินตนาการว่าจะเกิดภัยอะไรขึ้นบ้าง แล้วจะแก้ไขอย่างไร โดยมีบทบาทสมมติว่าจะเล่นกันอย่างไร ในอดีตที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง มีปัญหาอะไรบ้าง 
 
ซึ่งแต่เดิมเราเคยมีความเชื่อว่า ภัยพิบัติบางอย่างไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของจินตนาการ ในภาพยนตร์ต่างประเทศ แต่หลังจากเกิดดินโคลนถล่ม เกิดคลื่นสึนามิ เป็นการทำลายความเชื่อเดิมๆ เหล่านั้นไป ซึ่งช่วงแรกที่เกิดภัยพิบัติทำให้เราตั้งหลักไม่ทัน เกิดความสูญเสียจำนวนมาก การสั่งการ การช่วยเหลือมีความสับสน” นายทรงพล กล่าวและว่า
 
การที่ทางประเทศญี่ปุ่นเข้ามาให้คำแนะนำในด้านต่างๆ ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะญี่ปุ่นเคยเผชิญเหตุภัยพิบัติที่หนักมากๆ มาแล้วหลายครั้ง มีระบบบริหารจัดการที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และที่สำคัญ เราต้องเรียนรู้ทัศนคติ ความมุ่งมั่น ความมีระเบียบวินัย และความพร้อมที่จะฝ่าฟันภยันตรายให้ผ่านพ้นไปให้ได้เหมือนกับคนญี่ปุ่น
 
นายทรงพล ระบุอีกว่า ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ เมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติคลื่นสึนามิ เราจะไม่เห็นคนญี่ปุ่นแย่ง หรือเวียนกันรับของบริจาค ถือว่าเขามีระเบียบวินัยมาก ซึ่งต่างจากบ้านเราเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจะมีคนเข้ามามุงดูเหตุการณ์จำนวนมาก และด้วยความที่สังคมไทยมีความเอื้ออาทร ต่างคนเอาของไปมอบให้กันและกัน ทำให้รถติด เจ้าหน้าที่เข้าไปทำงานได้ยากมากๆ ทำอย่างไรที่จะจัดระบบเหล่านี้ให้ดี
 
ขณะที่นายโนบูรุ จิดซูฮีโร่ หนึ่งในคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการจัดการภัยพิบัติของไจก้า กล่าวว่า ระยะแรกเมื่อปี 2004-2006 ทางไจก้าได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านการจัดการภัยพิบัติในพื้นที่ภาคเหนือที่ จ.ลำปาง และ จ.ลำพูน ส่วนในระยะที่ 2 ปี 2010-2104 ได้เลือกพื้นที่ภาคใต้คือ จ.นครศรีธรรมราช เพราะจากการศึกษาข้อมูลพบว่า เป็นพื้นที่ที่เคยเกิดภัยพิบัติแล้วมีความเสียหายมาก ซึ่งถือเป็นพื้นที่นำร่องเพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
 
สำหรับการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะในครั้งนี้ มีความคาดหวังให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพในการรับมือกับภัยพิบัติ ทั้งก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัยและหลังเกิดภัยพิบัติ  ซึ่งหลังจากฝึกอบรมแล้วขอให้กลับไปฝึกซ้อมแผนนี้เป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อรักษาระดับมาตรฐาน และเพิ่มพูนความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่




กำลังโหลดความคิดเห็น