xs
xsm
sm
md
lg

ซ้อม ARF DiREx 2013 ที่เพชรวันที่สองคึกคัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เพชรบุรี - การซ้อม ARF DiREx 2013 ที่เพชรบุรี วันที่ 2 ภาคสนามคึกคัก “อนุสรณ์ แก้วกังวาล” รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เผยประเทศไทยได้ประโยชน์มากเพราะได้เรียนรู้จากเครื่องมือ และยุทโธปกรณ์ที่ไม่เคยใช้มาก่อน

วันนี้ (8 พ.ค.) เป็นวันที่ 2 ของการฝึกซ้อมแผนบรรเทาภัยพิบัติ ประจำปี 2556 ภายใต้กรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ARF DiREx 2013 (ASEAN Regional Forum Diaster Relief Exercise ARF DiREx 2013) ไทย -สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 7-10 พ.ค.56 ณ โรงแรมดุสิตธานี ค่ายพระราม 6 ค่ายนเรศวร อำเภอชะอำ และสนามกีฬาเทศบาลตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมการฝึกซ้อมแผน

ในภาคเช้า นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แถลงถึงรูปแบบการฝึกซ้อมแบ่งเป็น 2 ลักษณะด้วยกัน โดยที่โรงแรมดุสิตธานี เป็นการฝึกซ้อม Table Top Exercise ทดสอบแผนปฏิบัติการบนโต๊ะร่วมกันระหว่าง 22 ประเทศและ 5 องค์กรระหว่างประเทศ เป็นการทดสอบเชิงนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ ตั้งแต่การเข้าสู่ประเทศ ทดสอบใช้แผนปฏิบัติการ การนำระเบียบ หรือข้อตกลงที่กลุ่มประเทศอาเซียน หรือประเทศคู่เจรจาอาเซียนมีร่วมกัน และที่ค่ายพระรามหก มีการฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise) มี 27 ประเทศเข้าร่วมปฏิบัติ โดยกระทรวงกลาโหมรับผิดชอบดำเนินการ เน้นการประสานระดับปฎิบัติการตอบโต้สถานการณ์ มี 7 สถานีฝึก

การฝึกในลักษณะนี้ประเทศไทยได้ประโยชน์มาก เพราะได้เรียนรู้จากเครื่องมือ และยุทโธปกรณ์ที่ไม่เคยใช้มาก่อน ก็จะได้เรียนรู้ร่วมกัน การฝึกดังกล่าวมีการสมมติสถานการณ์เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ นอกชายฝั่งตะวันตกเหนือเกาะสุมาตราที่ระดับความลึก 17 กิโลเมตร เกิดคลื่นสึนามิ พบพื้นที่ปนเปื้อนสารเคมี และวัตถุอันตราย คนไร้ที่อยู่ต้องต้องอาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราว หินถล่ม อาคารถล่ม เรือล่ม รัฐบาลไทยประกาศภัยพิบัติระดับ 4 นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ มีการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อรับมือเหตุฉุกเฉิน รัฐบาลไทยได้ขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศผ่านกลไก และขั้นตอนที่มีอยุ่ในระดับชาติ ภูมิภาค และกลไกระหว่างประเทศ

โดยการฝึกในวันที่ 2 จำนวน 7 สถานีนั้น ได้แก่ 1.ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้า (EOC : Emergency Operation Center) ทุกประเทศที่เข้าร่วมปฏิบัติเข้ารายงานตัว 2.เหตุหินถล่ม (Rock Slide) เมื่อเกิดแผ่นดินไหว มีหินจำนวนมากถล่ม บ้านเรือนเสียหายจำนวนมาก ซึ่งได้มีการฝึกตั้งแต่ช่วงเช้าที่บริเวณบริษัทชลประทานซีเมนต์ และปรากฏว่า ทีมของประเทศออสเตรียป่วยระหว่างการซ้อม เนื่องจากอากาศที่ร้อนจัด จำนวน 2 ราย ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล มีการลำเลียงผู้บาดเจ็บจากบริเวณหินถล่ม และใช้ชุดสุนัขดมกลิ่นเพื่อตามหาผู้บาดเจ็บ 3.เหตุแผ่นดินไหวทำให้เกิดเหตุอาคารถล่ม (Building Collapse) มีการจำลองเหตุการณ์อาคารถล่ม

4.การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล (Maritime) 5.การตั้งศูนย์พักพิง (Evacuation Camp) 6.เหตุสารเคมีรั่วไหล (Chemical Leakage) เหตุแผ่นดินไหวทำให้สารเคมีรั่ว ซึ่งทีมงานที่เข้าฝึกจากสาธารณรัฐเกาหลีได้ร่วมฝึกในช่วงเช้า และทีมงานได้รับผลกระทบจากอากาศที่ร้อนจัด เนื่องจากชุดป้องกันสารเคมีที่สวมใส่ และ 7.การปฏิบัติการทางอากาศ (Air Operation)

การจัดการฝึกซ้อม ARF DiREx 2013 เป็นการแสดงเจตนารมณ์ และความมุ่งมั่นของไทยที่จะพัฒนาศักยภาพในด้านการจัดการภัยพิบัติ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายกับประเทศและองค์การระหว่างประเทศซึ่งมีความก้าวหน้าด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม จัดขึ้นทุก 2 ปี โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2552 โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศสมาชิก ARF นอกภูมิภาคผลัดกันเป็นเจ้าภาพร่วม

“การฝึกซ้อมมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการประสานงาน ระหว่างฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหารในการบรรเทาภัยพิบัติ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญ และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการจัดการ และบรรเทาภัยพิบัติระหว่างผู้เข้ารร่วม 26 ประเทศ สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ประเทศคู่เจรจาอาเซียน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค” นายอนุสรณ์กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น