คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มีความเห็นว่า ชื่อมลายูที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในหลักฐานของจีนในจามบี สุมาตราฝั่งตะวันออก เซอญาเราะห์มลายู (ตำนานมลายู) หมายถึง ดินแดนที่อยู่ใกล้ๆ แม่น้ำแถบภูเขาบูกิตสกุนตังในปาเล็มบัง ในเซอญาเราะห์มลายู มีความหวายชัดว่า เป็นกลุ่มคนที่มากับ “ปราเมศวร” คือที่ข้ามจากสุมาตรามาอยู่มะละกา ชาติพันธุ์มลายู ประกอบด้วย คนหลากหลายมากเหมือนคำว่า ไทย คำว่า จีน ฯลฯ ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ในทางวิชาการ ชื่อมลายูเป็นชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบด้วย วัฒนธรรมที่หลากหลายในตัวของมันเอง ประกอบด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติ วัฒนธรรมมลายูเป็นวัฒนธรรมที่สูงส่งที่สุดในยุคนั้น เราไม่ควรมองวัฒนธรรมมลายูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มันมีความสลับซับซ้อนอยู่ภายในวัฒนธรรมค่อนข้างมาก
รัฐมลายูต่างๆ ในแถบนี้ทั้งหมดมันแข่งกันเองด้วยซ้ำไป แข่งกันเป็นเป็นผู้สืบทอดมรดกของมะละกา แข่งกันว่าใครคือศูนย์กลางของวัฒนธรรมมลายู แต่ละแห่งมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแตกต่างกันไป สิ่งเดียวที่รวมกันได้คือ ยังใช้วัฒนธรรมและภาษามลายูอยู่ มีความสัมพันธ์ผ่านศาสนาอิสลาม ผ่านการค้า การแต่งงานของผู้ปกครองต่างๆ และการอพยพโยกย้ายของพลเมือง
ในมาเลเซียมีวัฒนธรรมมลายูเหนือกับวัฒนธรรมมลายูใต้ เหนือค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ใต้เปิดตัวเองกับการค้าการเปลี่ยนแปลงมากกว่า
คนมุสลิมส่วนใหญ่เป็นคนมลายู ๘๐% อยู่ในภาคใต้สุด ๒๐% อยู่ในภาคอื่นๆ มุสลิมที่ไม่ใช่มลายู ประกอบด้วย เชื้อชาติไทย อินเดีย ปากีสถาน จีน อาหรับ ชวา จามและอื่นๆ
“มลายู” ใช้ระบุถึงคนมลายูที่อยู่ในมลายา ส่วน “แขก” ใช้เรียกคนมลายูมุสลิมสมัยรัชกาลที่ ๕
รัฐมลายูในอดีตก่อนการเข้ามาของนักล่าอาณานิคม เป็นรัฐเล็ก กระจัดกระจาย มีความเป็นท้องถิ่นสูง และเชื่อมโยงอย่างหลวมๆ ด้วยศาสนาอิสลาม คาบสมุทรมลายูและกลุ่มเกาะ ประกอบด้วยภูเขา ที่ราบสูงอยู่ตรงกลางหรือด้านหนึ่ง มีแม่น้ำสายสั้นๆ ทอดจากภูเขาลงทะเล เกิดเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเล็กๆ และมีที่ราบติดทะเลที่แคบ ยาว จึงเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมที่รองรับชุมชนขนาดใหญ่ แต่จะมีผืนป่าและผืนน้ำที่กว้างใหญ่
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ทำเลที่ตั้งและผู้คนที่เข้ามาตั้งหลักแหล่ง ทำให้ชุมชนในบริเวณคาบสมุทรมลายูมีลักษณะเด่นคือ ๑) ประกอบด้วยศูนย์อำนาจแบบรัฐชายฝั่งทะเลที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก กระจัดกระจายและเป็นอิสระต่อกัน ๒) มีลักษณะของชุมชนที่เปิดออกสู่ทะเลและการเจริญเติบโตของศูนย์อำนาจในบริเวณนี้ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการอพยพย้ายถิ่น ๓) ความกระจัดกระจายของชุมชนและศูนย์อำนาจ ทำให้วัฒนธรรมมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นปัจจัยเชื่อมโยงชุมชนต่างๆ เข้าด้วยกัน
พื้นฐานทางเศรษฐกิจของรัฐชายฝั่งทะเล มักจะมีกำเนิดและพัฒนาการที่ผันแปรตามบริบทการค้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกระบวนการค้าของโลก
การก่อตัวของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของเส้นทางการค้าจาก overland route สู่เส้นทางทะเล เส้นทางการเดินเรือทางทะเลระยะแรกจะเดินเลียบชายฝั่งของเวียดนาม ตัดข้ามอ่าวไทย และข้ามไปฝั่งมหาสมุทรอินเดียที่บริเวณคอคอดกระ
การเปลี่ยนแปลงเส้นทางการค้าช่วงที่ ๒ เกิดเส้นทางการค้าผ่านช่องแคบมะละกา เพิ่มเติมจากเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร เมืองท่าชายฝั่งที่ก่อตัวขึ้นมีลักษณะเป็นศูนย์อำนาจแบบ riverine coastal หรือเรียกว่ารัฐค้าขายชายฝั่งทะเล (Marinetime State) เช่น กลุ่มเมืองท่าที่รู้จักกันในนาม “อาณาจักรศรีวิชัย”
ศูนย์อำนาจที่รู้จักกันในนาม “อาณาจักรศรีวิชัย” แท้จริงไม่ได้มีลักษณะเป็นศูนย์อำนาจแบบรัฐเกษตรกรรมอย่างเช่น อังกอร์ หรือพุกาม คำที่ให้ภาพชัดกว่าคือ “สมาพันธรัฐทางการค้า” (faderation of trading port) คือเป็นเมืองท่ากึ่งอิสระจำนวนมากรวมตัวกัน โดยยอมรับอำนาจของศูนย์กลางใดศูนย์กลางหนึ่งในแบบของรัฐบรรณาการ ซึ่งหมายความว่าอาจยอมรับอำนาจของศูนย์กลางมากกว่าหนึ่งศูนย์กลางได้
เมืองท่าเหล่านี้จะมีความไม่มั่นคง จะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางการค้าและการเติบโตของรัฐคู่แข่ง แต่ขณะเดียวกันหากล่มสลายก็อาจจะฟื้นตัวได้โดยการย้ายถิ่นฐาน ดังเช่นกรณีของรัฐศรีวิชัย-ปาเล็มบังกับมะละกา