การลงนามสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็นของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อปูทางสู่การเจรจาแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยมีมาเลเซียเป็นตัวกลาง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คดีปราสาทพระวิหารงวดเข้ามาโดยจะมีการแถลงปิดคดีในเดือนเมษายน 2556 ที่จะถึงนี้ ถูกตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นหมากกลของขบวนการช่วงชิงแหล่งผลประโยชน์พลังงานในภูมิภาคนี้ที่มีชาติมหาอำนาจยืนทะมึนอยู่เบื้องหลัง และน่าสงสัยว่าจะมีนายหน้ากลุ่มทุนพลังงานตะวันตก ชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมากน้อยเพียงใด หรือไม่
เรื่องราวที่เกิดขึ้นกลายเป็นเรื่องที่สอดคล้อง เชื่อมโยงกันได้อย่างไร ในช่วง 5 - 6 ปี ที่ผ่านมาและล่าสุดรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ ” เมื่อคืนวันที่ 1 มีนาคม 2556 นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ และผู้ก่อตั้งเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ ได้ตั้งประเด็นข้อสงสัยให้สังคมไทยได้ขบคิดและตระหนักถึงการวางยุทธศาสตร์ยึดครองแหล่งพลังงานของชาติมหาอำนาจที่ส่งผลสะเทือนถึงอธิปไตยของไทย
เป็นเรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไปและเห็นได้ชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์ของโลกตะวันตก ตลอดจนยุทธศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจเกิดใหม่อย่างจีนหรืออินเดียที่ต้องการใช้น้ำมันขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล จะวางยุทธศาสตร์พลังงานเอาไว้เป็นแผนแม่บทในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ดังเช่น การเข้ายึดครองหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ของจีน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่หน่วยงานสหประชาชาติสำรวจ พบว่ามีก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจำนวนมหาศาล
หรือการที่สหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลังการสนับสนุนระบอบซูฮาร์โต้ ยึดครองติมอร์ตะวันออกในนามของการสกัดการเติบโตของคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียในอดีต แต่แท้จริงคือเพื่อเข้าไปตักตวงผลประโยชน์ทางธุรกิจพลังงาน ก่อนที่ติมอร์ตะวันออกจะต่อสู้จนได้รับเอกราช กระทั่งรัฐบาลอินโดนีเซียต้องถอยทัพกลับไป แต่กลุ่มทุนพลังงานของสหรัฐอเมริกา ยังได้สัมปทานขุดเจาะน้ำมันรายใหญ่ในแหล่งน้ำมันที่ดีที่สุดของติมอร์ตะวันออก ไม่นับการทำสงครามอ่าวเปอร์เซีย หรือการบุกยึดอิรัก ก็ล้วนแต่เพื่อเข้าครอบครองแหล่งพลังงานในตะวันออกกลางของมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา ทั้งสิ้น
แน่นอน กลุ่มทุนพลังงาน คือกลุ่มอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังผลักดันให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศเช่นนั้น โดยกลุ่มพลังงานเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินให้นักการเมืองเพื่อการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นพรรคดีโมแครตหรือรีพับลิกัน จากนั้นรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ก็มีนโยบายสนับสนุนและเอื้อประโยชน์ให้บริษัทพลังงานเข้าไปทำมาหากินในประเทศต่างๆ เป็นการตอบแทน
มิหนำซ้ำ นักการเมืองกับผู้บริหารบริษัทน้ำมัน ก็อาจเป็นคนๆ เดียวกัน เพียงแต่สวมบทบาทแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา เช่น นายดิก เชนีย์ อดีตผู้บริหารบริษัทฮารีเบอร์ตัน ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา ซึ่งไม่แตกต่างจากประเทศไทย เพราะอดีตผู้ว่าฯ ปตท. เช่น นายวิเศษ จูภิบาล ก็มีโอกาสสวมบทบาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เช่นกัน
ดังนั้น หากมองในมุมของการเมืองเรื่องพลังงาน คดีปราสาทพระวิหารนอกจากจะส่งผลต่อการกำหนดเส้นเขตแดนระหว่างประเทศไทย-เขมรทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งยังเป็นข้อพิพาทไม่สามารถตกลงปักปันเขตแดนกันได้แล้ว ผลแห่งคดียังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-เขมร แหล่งพลังงานสำคัญที่จะทำให้เรื่องน้ำมันในอ่าวไทยและเขมร กลายเป็นอีกจุดยุทธศาสตร์การเมืองเรื่องพลังงานโลก ที่มีมหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวชัดเจนทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน
ในขณะเดียวกันจุดที่ตั้งของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีชัยภูมิคุมปากอ่าวไทย-เขมรพอดี ที่สำคัญเขตพื้นที่เศรษฐกิจทางทะเลของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะกินไปถึงแหล่งพลังงานในอ่าวไทยเกือบทั้งหมด และยังคุมคอคอดกระ และแลนด์บริดจ์ อีกด้วย
คดีเขาพระวิหารและการลงนามสันติภาพกับบีอาร์เอ็นเพื่อแก้ปัญหาไฟใต้ จึงมองได้อีกมิติหนึ่งว่านี่เป็นคนละเรื่องเดียวกัน ซึ่งจะโยงไปถึงประลองของมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา-จีน ในอ่าวไทย - เขมร และในพม่า การเข้ามายึดครองสัมปทานพลังงานของยักษ์ใหญ่เชฟรอนในอ่าวไทยและเขมร โดยมีกลุ่มบริษัทไชน่า เนชั่นแนล ออฟชอร์ ออยล์ คอร์ป (CNOOC) บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งธุรกิจพลังงานของจีนหายใจรดต้นคอ รวมทั้งโครงการคอคอดกระ และแลนด์บริดจ์ เส้นทางขนส่งพลังงานในฝันที่ถูกปลุกผีขึ้นมาเป็นระยะๆ
“ 3 ปีที่แล้วตนพูด แล้วดูว่าสิ่งที่พูดนั้นมันมาโยงกับบีอาร์เอ็นและเขาพระวิหารไหม มันเป็นเรื่องเดียวกัน แหล่งพลังงานที่อยู่กลางทะเลมันจะมีผลจากพื้นที่เขาพระวิหาร แผนที่ 1 ต่อ 2 แสน เมื่อลากไปยังจังหวัดตราด มันจะไปลงผิดที่ แล้วเมื่อลากเส้นเข้าทะเลแล้วถ้าแผนที่ 1 ต่อ 5 หมื่น พื้นที่พลังงานที่เขาพิสูจน์ว่ามีแล้วจะเป็นของเราเศษ 2 ส่วน 3 แต่ถ้าเป็นแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน จะเป็นของเขมร เศษ 2 ส่วน 3 ของไทย 1 ส่วน 3
“พอมาวันนี้กรณีบีอาร์เอ็นสามารถเชื่อมโยงได้หมด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปเซ็นเจรจาสันติภาพกับตัวแทนบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นตัวแทนปลอม แท้ที่จริงแล้วคือกระบวนการที่เขาวางเอาไว้ เพื่อให้เลื่อนสถานภาพโจรแบ่งแยกดินแดนให้เป็นที่ยอมรับ มีความชอบธรรม เพราะฉะนั้นจากนี้ไปเขาก็จะจับจุดแห่งความชอบธรรมตรงนี้ที่จะเดินเกมเข้าไปสู่เวทีสากล จะเป็นตัวจริงตัวปลอมไม่สำคัญ เพราะว่าเครื่องมันเริ่มเดินแล้ว ได้ถูกยกระดับมาเรียบร้อย
"ทั้งหมดนี้ มันจะโยงกลับเข้าไปสู่น้ำมัน พลังงาน ถ้าเจรจาแล้วเขาบอกว่า ขอไม่ต้องเป็นรัฐอิสระ ขึ้นกับไทยก็ได้ ทหารไทยยังอยู่ที่นั่นได้ แต่การก่อการร้ายเดี๋ยวผมจะทำให้สงบได้ แต่ว่าผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งบนดินและในทะเลนั้น จะต้องแบ่งกันระหว่างรัฐบาลกลางประเทศไทย และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะมีอีกสถานภาพหนึ่ง อาจจะเป็นมณฑลอะไรก็ตาม แต่ในสถานภาพขึ้นอยู่กับประเทศไทย แต่สิทธิประโยชน์เขาขอแบ่งครึ่งๆ" นายสนธิ ลิ้มทองกลุ แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวในรายการคุยทุกเรื่องกับสนธิ เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา
หากย้อนกลับไป กรณีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-เขมรนั้น ชัดเจนว่า มีรากเหง้าปัญหามาจากการเข้ามาแสวงหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของกลุ่มทุนพลังงานข้ามชาติ โดยการประกาศเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาสมัยรัฐบาลลอนนอล เมื่อปี 2515 นั้น พลเรือเอกถนอม เจริญลาภ ได้บันทึกไว้ในบทความเรื่อง “การเจรจาปัญหาการอ้างเขตไหล่ทวีปทับซ้อนในอ่าวไทยของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน” บางตอนว่า
“…. ลอนนอลเรียนท่าน (จอมพลประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการเจรจาสิทธิและขอบไหล่ทวีป) ว่า เส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศเป็นไปตามการเสนอของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและบริษัทเอกชนที่เสนอขอรับสัมปทานแสวงประโยชน์จากปิโตรเลียมในเขตไหล่ทวีปกัมพูชา…”
นั่นเป็นหลักฐานที่ชี้ชัดถึงอิทธิพลของทุนพลังงานที่อยู่เบื้องหลังปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย - กัมพูชา เพราะการประกาศเขตไหล่ทวีปของรัฐบาลลอนนอล ในปี 2515 ทำตามความต้องการของบริษัทน้ำมัน โดยไม่มีหลักกฎหมายระหว่างประเทศรองรับ ขณะที่การประกาศเขตไหล่ทวีปของไทยในปี 2516 นั้น เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กระทั่งทำให้เกิดปัญหาการอ้างสิทธิพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนกันขึ้นระหว่างไทย-กัมพูชา เป็นพื้นที่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม เขตพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว เวลานี้ทั้งไทยและกัมพูชาต่างได้ให้สัมปทานสำรวจแก่บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ โดยฝ่ายไทย ให้สัมปทานแก่บริษัทเชฟรอน, ยูโนแคล (ควบรวมกิจการกับเชฟรอนเมื่อปี 2548) แห่งสหรัฐอเมริกา เป็นหลัก ส่วนกัมพูชาให้สัมปทานแก่บริษัท Conoco, Shell ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานสัญชาติอเมริกัน, บริติชแก๊สแห่งอังกฤษ และบริษัท Idemitsu แห่งญี่ปุ่น รวมทั้งบริษัท BHP จากออสเตรเลีย และมี Total จากฝรั่งเศส เข้ามาอีกในภายหลัง
เรียกได้ว่า พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ต่างเป็นพื้นที่จับจองของยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของโลกที่เรียกว่า "supermajor" ซึ่งประกอบด้วย 6 กลุ่มใหญ่ คือ 1.ExxonMobil (เอสโซ่) 2.Royal Dutch Shell (เชลล์) 3.BP (BP) 4.Total S.A. 5.Chevron Corporation 6.ConocoPhillips (COP) เกือบทั้งสิ้น และทุนพลังงานที่แสวงหาผลประโยชน์เหล่านี้นี่เองคือผู้กำหนดนโยบายและอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของรัฐบาล นับแต่การขีดเส้นไหล่ทวีป ไปจนถึงการเร่งรัดเจรจาตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างสองชาติ
โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลทักษิณ เมื่อปี 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปกัมพูชาหลายครั้ง และมีนโยบายให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งรัดการเจรจาปักปันเขตแดนที่ค้างคามานาน โดยเปลี่ยนนโยบายยื่นข้อเสนอกับกัมพูชาว่า ให้รวมการเจรจาเขตแดนที่ทับซ้อนกันบริเวณเขาพระวิหารกับเขตทับซ้อนทางทะเลพร้อมกันไป การเจรจาเกือบจะตกลงกับรัฐบาลฮุนเซนเป็นผลสำเร็จ หากไม่เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ขึ้นเสียก่อน กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ขณะที่คดีปราสาทพระวิหารยังอยู่ในการพิจารณาของศาลโลก ฮุนเซน ก็แบไต๋อยากให้มีการเปิดเจรจาตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่เขตทับซ้อนทางทะเลกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์อีกครั้ง
ส่วน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น มีภูมิรัฐศาสตร์พิกัดที่ตั้ง เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของการเมืองว่าด้วยพลังงานในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเป็นที่สนใจของมหาอำนาจโลกมากขึ้นเรื่อยๆ นับจากกรณีโด่งดังระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานในเอเชียและอ่าวไทย ก็คือ การขายกิจการยูโนแคล บริษัทอเมริกันที่ได้สัมปทานในพม่า อินโดนีเซีย และอ่าวไทย แรกทีเดียวบริษัทน้ำมันแห่งชาติจีนหรือ ซีนุค (CNOOC) เสนอซื้อยูโนแคล 18,500 ล้านดอลลาร์ หากเป็นการซื้อขายโดยเสรียูโนแคลจะตกเป็นของจีน แต่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองเรื่องพลังงานระดับโลก หากจีนได้ยูโนแคลไป เท่ากับจะมีดุลต่อรองด้านพลังงานในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เหนือกว่าอเมริกา เมื่อเรื่องนี้ไปถึงสภาคองเกรส ในที่สุด เชฟรอน ก็เข้ามาซื้อยูโนแคลในปี 2548
กล่าวสำหรับพื้นที่ยุทธศาสตร์ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น อยู่ตรงกันข้ามกับปลายแหลมญวนพอดี ลากเส้นขนานจากตะวันตกไปตะวันออกจะสามารถปิดอ่าวไทยและทะเลเขมรทั้งหมด และยังเป็นจุดควบคุมการเดินเรือ หากว่ามีการขุดคอคอดกระหรือแลนด์บริดจ์ขนส่งน้ำมันเส้นทางใหม่ที่หวังแข่งกับช่องแคบมะละกา-ลอมบ็อก ซึ่งก่อนหน้านั้นจีนเคยให้ความสนใจโครงการนี้มาก
หากจำลองเหตุการณ์ สมมุติว่าสามจังหวัดใต้ถูกแบ่งแยกออกไปจะเกิดอะไรขึ้นกับเส้นพรมแดนทางทะเล โดยยึดเอาเขตแดนที่สากลยอมรับ เช่น สันปันน้ำหรือปากแม่น้ำเป็นหลัก กรณีนี้สมมุติว่ามีการแยกปัตตานีออกไป ดังนั้นแม่น้ำเล็กๆ ระหว่างปัตตานีกับสงขลา จะเป็นเส้นพรมแดน
ที่น่าสนใจคือ ชายฝั่งระหว่างหาดใหญ่กับปัตตานีไม่เหมือนกับชายฝั่งทะเลอ่าวไทยที่เริ่มจากทิศเหนือสู่ใต้เป็นแนวฉาก หากแต่ชายฝั่งตรงเขตนั้นตั้งขนานกับอ่าวไทย เริ่มจากตะวันตกไปสู่ตะวันออก และแม่น้ำบริเวณดังกล่าวไหลจากใต้ขึ้นเหนือ จากปากแม่น้ำขีดเส้นขึ้นไป ผ่าอ่าวไทยออกเป็นสองเสี่ยงทันที ซึ่งหมายถึงว่า เขตพื้นที่เศรษฐกิจทางทะเลของสามจังหวัดจะกินไปถึงแหล่งพลังงานในอ่าวไทยเกือบทั้งหมดด้วย
นี่เป็นประเด็นที่ควรตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในยุคการเมืองเรื่องพลังงานระดับโลกเข้ามามีอิทธิพลทุกซอกทุกมุมทั่วโลก
ความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของพื้นที่ 3 จังหวัด ซึ่งมีพื้นที่รวมกันประมาณ 10,900 ตร.กม. นอกจากจะอยู่ที่ทำเลที่ตั้งอย่างเหมาะสมบนคาบสมุทรมลายู หากประกาศตนเป็นอิสระและมีนานาชาติรับรอง จะสามารถอ้างสิทธิ์เหนือน่านน้ำไทย (ประกาศเขตน่านน้ำและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ) ที่คาดว่าจะกินครึ่งหนึ่งของอ่าวไทย และยังครอบคลุมไปถึงเขตพัฒนาร่วมในทะเล ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม เนื้อที่ประมาณ 32,000 ตร.กม. ไม่เพียงเท่านั้น ยังอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) เดิมด้วยแล้ว ยังมีความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เป็นจุดควบคุมพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางทะเล ในทางการทหารสามารถครอบคลุมภูมิภาคอาเซียนได้ทั้งหมด และที่สำคัญเป็นปากทางออกของเส้นทางคอคอดกระและแลนด์บริดจ์ที่จีนสนใจลงทุน
หากเจาะลึกลงไปในรายละเอียด จะพบว่า ภูมิรัฐศาสตร์ทำเลที่ตั้งของจังหวัดปัตตานีมีความสำคัญยิ่ง เพราะ 1. ปัตตานีซึ่งเป็นจังหวัดเหนือสุดของสามจังหวัด มีไหล่ทวีปที่โผล่ยื่นเข้ามาในอ่าวไทย หากยึดตามอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยเขตไหล่ทวีปปี ค.ศ. 1958 พื้นที่ดังกล่าวเป็นทำเลที่ได้เปรียบมาก โดยปกติแล้ว การแบ่งเขตแดนมักจะยึดแนวแม่น้ำ หรือสันปันน้ำเป็นหลัก ปรากฏว่า ธรรมชาติของกระแสน้ำในอ่าวไทยนั้นหมุนตามเข็มนาฬิกา ม้วนจากชายทะเลตะวันออกขึ้นไปบนอ่าวไทย แล้วย้อนลงมาทางด้านประเทศกัมพูชา ลักษณะดังกล่าวทำให้ ปากแม่น้ำทางชายทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันออกส่วนมาก จะเฉียงขึ้นไปทางทิศเหนือ
2. ปากแม่น้ำที่อยู่ในข่ายเป็นเส้นแบ่งดินแดนคือ ปากน้ำสะกอม และ ปากน้ำนาทับ จุดใดจุดหนึ่ง ทั้งสองแห่งมีลักษณะเหมือนกันคือ เฉียงขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ดังนั้นผู้ที่ครองดินแดนสามจังหวัดสามารถขีดเส้นอ้างสิทธิ์ เฉียงขึ้นมากินแดนเขตของไทยในอ่าวไทยได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง
จากการไหลเวียนของกระแสน้ำในอ่าวไทยดังกล่าวจะส่งผลให้ตามแนวชายฝั่งทะเล หากเกิดมีปากแม่น้ำ หรืออ่าว หรือแหลม จะส่งผลให้เกิดการทบถมของทราย หรือเกิดเป็นแผ่นดินในลักษณะที่เป็นแหลมพุ่งขึ้นไปทางทิศเหนือตามแนวของการไหลเวียนของกระแสน้ำ และที่สำคัญปลายแหลมส่วนใหญ่จะงองุ้มไปทางทิศตะวันตกเสียด้วย สิ่งนี้ยืนยันได้จากบริเวณอ่าวปัตตานี หรือบริเวณปากทางเข้าสู่ทะเลสาบสงขลา ซึ่งปลายแหลมจะงองุ้มชี้เข้าสู่แผ่นดินไทยอย่างชัดเจน
จากปรากฏการทางธรรมชาติดังกล่าว สิ่งนี้จะส่งผลให้การใช้ “แนวปากน้ำสะกอม” หรือ “แนวปากน้ำนาทับ” เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับรัฐปัตตานี แนวกึ่งกลางสายน้ำที่จะถูกลากโยงเข้าสู่เส้นแบ่งแนวน่านนำในท้องทะเลนั้น แนวนี้ก็จะถูกชี้ขึ้นไปทางทิศเหนือและที่สำคัญจะเอียงซ้ายกินเขตแดนเข้าหาแผ่นดินของประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้น่านน้ำในอ่าวไทยอันเป็นเขตแดนไทย และเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทยหายไปเกือบจะทั้งหมด
3. พรมแดนไทยตอนล่างที่ ตากใบ นราธิวาส ใช้แม่น้ำโก-ลก เป็นเส้นแบ่ง จุดดังกล่าวเคยเป็นปัญหาใหญ่ระหว่างไทย-มาเลเซีย มาแล้ว กล่าวคือ บริเวณปากแม่น้ำโก-ลกที่จุดแบ่งเขตแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย ในสมัยก่อนเคยเกิดปัญหาแนวปากแม่น้ำชี้ขึ้นเหนือและเอียงซ้ายเข้าไปกินดินแดนประเทศไทย ว่ากันว่า หากยึดเอาตามนั้นเส้นแนวเขตแดนไทย-มาเลเซียจะพุ่งตรงจากปากแม่น้ำโก-ลก สู่แผ่นดินไทยบริเวณจังหวัดเพชรบุรีเลยทีเดียว
แต่ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้มีพระราชดำริให้รัฐไทยสร้างแนวกั้นกระแสน้ำบริเวณปากแม่น้ำโกลกในพื้นที่ฝั่งไทยขึ้น ปรากฏว่า หลังจากนั้นได้เกิดการเหของแนวการทับถมของทรายและเกิดแผ่นดินงอกขึ้นใหม่ ส่งผลให้แนวเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย เบี่ยงจากไปทางซ้ายมือ เป็นเอียงกลับมาทางขวามือ ทำให้ไทยเราไม่สูญเสียทั้งเขตแดนและทรัพยากรในทะเลจำนวนมากมายมหาศาลจวบจนปัจจุบัน
จะทำให้เห็นว่า เส้นเขตแดนทางทะเลที่มาเลเซียอ้างสิทธิ์ จนกระทั่งมีข้อตกลงจนทำให้เกิด JDA นั้นเฉียงชี้ขึ้นกินแดนเลยเส้นระนาบแนวนอนขึ้นมาอย่างชัดเจน นี่เป็นเพราะลักษณะธรรมชาติของแม่น้ำในเขตนี้
4. ในมิติของการทหาร ปัตตานี อยู่ส่วนล่างของคาบสมุทรมลายู ที่ตรงกับส่วนปลายของแหลมญวน จุดดังกล่าวสามารถอ้างสิทธิ์น่านน้ำครึ่งหนึ่งต่อแดนกับเวียดนาม ทำให้สามารถปิดปากอ่าวไทยได้โดยปริยาย
อ่าวไทยนั้น ถือเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญ โดยแหล่งพลังงานที่สำคัญในอ่าวไทยต่อเนื่องกับมาเลเซีย มีแอ่งพลังงานสำคัญ 2 แหล่งใหญ่ คือ แอ่งมาเลย์ (Malay Basins) และแอ่งปัตตานี (Pattani Basins) โดยแอ่งมาเลย์ มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตประเทศมาเลเซีย มีเพียงส่วนตอนเหนือที่เรียกว่า “แอ่งมาเลย์ตอนเหนือ” เท่านั้นที่ยื่นล้ำเข้ามาในเขตของประเทศไทย และจุดดังกล่าวก็คือพื้นที่พัฒนาร่วม JDA นั่นเอง
ส่วนแอ่งปัตตานี เป็นแหล่งพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของไทย ในภาพเริ่มต้นจากบริเวณปัตตานี ขึ้นมาทางเหนือถึงบริเวณจังหวัดเพชรบุรี และบางส่วนอยู่ในเขตพัฒนาร่วม 3 ประเทศ ไทย กัมพูชา เวียดนาม ซึ่งการวิเคราะห์ของ Greg Croft Inc. บอกว่า แอ่งปัตตานีเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ดีที่สุด โดยเฉพาะแหล่งอาทิตย์ และแหล่งบงกช และยังมีน้ำมันดิบรวมอยู่ด้วย ขณะที่แอ่งมาเลย์ มีปริมาณน้ำมันดิบมากกว่า
แหล่งพลังงานในอ่าวไทย ซึ่งถือเป็นประมาณ 30% ที่ใช้กันอยู่ (ที่เหลือมาจากบนบก) มีการผลิตพลังงานโดยประมาณ ดังนี้ 1.ก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 8 แสนล้าน ลูกบาศก์ฟุต/ปี 2.น้ำมันดิบ 3.5 ล้านบาร์เรล/ปี มูลค่าของปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในประเทศ ประมาณ 1 ล้านล้านบาท/ปี, ภาษีเงินได้และค่าภาคหลวง ประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท/ปี
นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่แกนนำพันธมิตรฯ พยายามต่อจิ๊กซอร์ให้เห็นว่า ปัญหาชายแดนใต้และเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา ที่มีอธิปไตยของชาติเป็นเดิมพันนั้น อย่าว่าแต่ไทยจะเสียดินแดนให้เขมรไม่ได้ กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เสียดินแดนไม่ได้เช่นกัน เพราะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวโยงถึงแหล่งพลังงานสำคัญ ทรัพยากรทางทะเลซึ่งเป็นสมบัติของคนทั้งชาติ