ระนอง - ขุดพบเหล็กรางรถไฟโบราณ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อายุไม่ต่ำกว่า 70 ปี ที่ อ.ละอุ่น จ.ระนอง ที่ทหารญี่ปุ่นได้สร้างเส้นทางต่อจากสถานีชุมพร หรือที่รู้จักชื่อว่าทางรถไฟสายคอคอดกระ ที่สร้างพร้อมๆ กับรถไฟสายกาญจนบุรีในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา
ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดระนองได้รับแจ้งว่า โครงการก่อสร้างทางหลวง หมายเลข 4 สายชุมพร-ระนอง ได้ขยายถนนเพชรเกษม จาก 2 ช่องทางเป็น 4 ช่องทางการจราจร ขณะกำลังตักดินไหล่ทางลงไประยะ 1 เมตร เพื่อขยายถนน ได้ขุดพบเหล็กรางรถไฟโบราณ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อายุไม่ต่ำกว่า 70 ปี
ผู้สื่อข่าวจึงรุดเข้าพื้นที่เพื่อตรวจสอบ บริเวณถนนเพชรเกษม ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ช่วง อำเภอกระบุรี-อำเภอละอุ่น พบว่า กำลังมีการปรับเส้นทางเพื่อขยายถนน จาก 2 ช่องทางการจราจร เป็น 4 ช่องทางการจราจร โดยมีกรมทางหลวงเป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้าง ในจุดที่พบเป็นไหล่ทางข้างถนนที่มีการขุดดินโดยรถตักดิน บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 579+800 พบกองเหล็กที่มีลักษณะสภาพคล้ายรางรถไฟ ซึ่งอยู่ในลักษณะบิดเบี้ยว และโค้งงอ บางท่อนมีสภาพฉีกขาดคล้ายถูกระเบิด และถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่บริเวณอาคารที่ทำการโครงการขยายทางหลวงหมายเลข 4 สายชุมพร-ระนอง
นายภคินัย ภักดี นายช่างโยธาปฎิบัติการ กรมทางหลวง กล่าวว่า รางรถไฟสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเป็นเหล็กหล่อ ขนาดความยาว 4 เมตร ประมาณ 8 ท่อน มีลักษณะบิดงอ และฉีกขาด จุดที่พบน่าจะถูกนำมากองทิ้งไว้ตามแนวเส้นทางรถไฟสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะบางท่อนมีรอยฉีกขาด และโค้งงอ คาดว่าน่าจะเสียหายจากการทิ้งระเบิด จึงถูกทิ้งไว้ตรงจุดที่ไปพบ ซึ่งบางท่อนที่อยู่ในลักษณะโค้งงอ เราจะเห็นปลายด้านหนึ่งถูกตีเป็นเหล็กแบนคู่สำหรับเป็นเดือย และเจาะเพื่อใส่นอตสกรูเหล็ก ส่วนปลายอีกด้านก็จะมีการเจาะรูไว้ เพื่อรับเดือย และขันนอตสกรูเพื่อง่ายต่อการสวมต่อเป็นรางรถไฟเป็นเส้นทางยาว
ซึ่งที่หมู่ที่ 4 ตำบลบางแก้ว อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง ริมแม่น้ำละอุ่น จะมีอาคารพิพิธภัณฑ์เชิงประวัติศาตร์ สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สร้างไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึก ว่าในอดีตเป็นจุดสถานีปลายทางที่ทหารญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อมาจากจังหวัดชุมพร เป็นระยะทางรวม 90 กิโลเมตร มี 7 สถานีย่อย เช่น สถานีวังไผ่ สถานีท่าสาร สถานีปากจั่น สถานีทับหลี สถานีกระบุรี สถานีคลองลำเลียง สถานีเขาฝาชี เพื่อเดินขบวนรถไฟลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังปลายทางสถานีเขาฝาชี แล้วถ่ายสิ่งของลงเรือล่องไปตามคลองละอุ่นออกไปบรรจบคลองกระบุรี ประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วล่องต่อไปเกาะสองประมาณ 2 ชม. เพื่อส่งต่อไปยังประเทศพม่า
เส้นทางรถไฟสายชุมพร-กระบุรี-คลอง ละอุ่น หรือที่รู้จักชื่อว่าทางรถไฟสายคอคอดกระนี้ โดยทหารญี่ปุ่นใช้เส้นทางรถไฟลำเลียงอยู่ประมาณ 11 เดือน จนเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2487 เครื่องบินพันธมิตรขนาด 4 เครื่องยนต์ ประมาณ 20 ลำได้ทำการบินโจมตีทิ้งระเบิดทำลายหัวรถจักรทางรถไฟ เรือเสบียง และเรือบรรทุกอาวุธที่รับขนถ่ายจากขบวนรถไฟ ถูกระเบิดจมน้ำที่คลองละอุ่น จนกระทั่งเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2488 ระหว่าง 14.00-18.00 น. เครื่องบินพันธมิตรก็ได้ปฏิบัติการทิ้งระเบิด และกราดยิงด้วยปืนกลบริเวณสถานีรถไฟ รางรถไฟสายชุมพร-ละอุ่นซ้ำอีกระลอก ค่ายทหารญี่ปุ่นที่เขาฝาชี จึงได้รับความเสียหายมาก
ก่อนระยะที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม (กองทัพญี่ปุ่นเสนอยอมแพ้สงครามเมื่อ 10 สิงหาคม 2488) ในวันที่ 15 มิถุนายน 2488 ทหารญี่ปุ่นได้ทำการรื้อถอนทางรถไฟสายนี้ เริ่มตั้งแต่ท่าเรือเขาฝาชีตอน กม.30 ถึง กม.18 โดยแจ้งต่ออนุกรรมการฝ่ายไทยว่า เพื่อนำรางไปซ่อมแซมทางรถไฟบางตอนที่ถูกระเบิดเสียหายทางใต้ ครั้งเมื่อสงครามยุติทหารสหประชาชาติได้เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทย เมื่อ 19 สิงหาคม 2488 ต่อจากนั้นทหารอังกฤษจึงได้รื้อทางรถไฟสายนี้ต่อจากญี่ปุ่น ปัจจุบัน จึงไม่มีทางรถไฟสายนี้ให้เห็นดังเช่นทางรถไฟสายไทย-พม่า ด้านจังหวัดกาญจนบุรี
เส้นทางรถไฟสายชุมพร-ละอุ่น ได้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับทางรถไฟสายกาญจนบุรีในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพาตั้งแต่ต้นจนสงครามยุติลง แต่ปรากฏว่ามีคนไทยน้อยมากที่รู้จักเส้นทางรถไฟสายชุมพร-กระบุรี-คลองละอุ่น หรือที่รู้จักชื่อว่าทางรถไฟสายคอคอดกระ