xs
xsm
sm
md
lg

สวย แต่วิบัติ / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เรื่องมันเกิดขึ้นตอนที่มีใครในยุคก่อนดันกำหนดให้พยัญชนะของไทยตัวนั้นใช้แทนพยัญชนะในภาษาอังกฤษตัวนี้ แถมไม่ใส่วรรณยุกต์ แล้วอนุโลมให้อ่านออกเสียงตามที่ตนได้เรียนรู้มา ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย เพราะภาษาไทยก็เหมือนกับภาษาอื่นๆที่ไม่ได้มีอุปกรณ์ครบถ้วนจนสามารถใช้ได้กับทุกภาษาทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น คนที่คิดผลิตคำเขียนก็ไม่ได้มีความรู้หรือเข้าใจภาษาต่างประเทศมากเพียงพอ ซ้ำร้ายการกำหนดคำยืมที่ดำเนินการมานานมากแล้วกลับสร้างความขัดแย้งอย่างชัดเจนต่ออักขรวิธีของภาษาไทย ทำให้ภาษาไทยวิบัติ

ในวงการกีฬาก็มีคำในภาษาต่างประเทศ ไม่เฉพาะแต่ภาษาอังกฤษ มากมายเสียด้วย บุคลากรในวงการกีฬาต่างต้องร่วมประชุมในระดับนานาชาติ นักกีฬาต้องไปแข่งกับชาติอื่นๆ คนไทยต้องเสพข่าวและชมการแข่งขันกีฬาที่เป็นสากล แต่ล้วนต้องเรียนรู้อย่างผิดๆไป แล้วเวลาสื่อสารกับเขาก็ไม่อาจกระทำได้ เพราะสำเนียงที่เรียนรู้มามันแตกต่างกัน ยิ่งบางคำมันไม่ได้ใกล้เคียงเลย พูดไม่รู้เรื่อง ฟังก็ไม่เข้าใจ จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมเราเคยมีนักเรียนที่เดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศแล้วเกิดความเครียดถึงกับฆ่าตัวตายมาแล้ว

ผมขอยกตัวอย่างคำในวงการกีฬาเล็กๆพอเป็นเหตุสะเทือนใจว่าภาษาไทยนั้นถูกกระทำให้วิบัติมานานแล้ว ก็ในเมื่อคำยืมจากภาษาอังกฤษที่ถูกกำหนดขึ้นนั้นดันเขียนผิดมาตั้งแต่ต้น ไพล่ไปใช้ตัวอักษรที่ต้องอ่านอย่างหนึ่ง แต่บอกให้อ่านอีกอย่าง เช่น ขอร์ทเท็นนิส ลูกพี่ไม่ให้เขียนอย่างผม แม้ว่ามันจะถูกต้อง แต่มันคงไม่สวย จึงให้เขียนว่า คอร์ตเทนนิส อันนี้คงต้องการให้ ค แทนตัว C ซึ่งหากเขียน คอร์ต ตามหลักภาษาไทยก็น่าจะออกเสียงเหมือน คอคอดกระ

ในขณะที่คำว่า แชมป์ ถ้าเขียนอย่างนี้ น่าจะออกเสียงสามัญแบบ แซม ยุรนันท์ โน่น จะทะลึ่งให้อ่านเป็นเสียงตรีได้อย่างไร อย่างนี้ภาษาไทยของผมก็วิบัติหมด ควรจะเขียนว่า แช้มป์ หรือ แช้มพ์ ซะด้วยซ้ำ เรื่องการกำหนดอักษรไทยแทนอักษรต่างประเทศ เลยส่งผลต่อยอดไปถึงคำอื่นๆอีกมากมายโดยไม่ได้ดูว่าเจ้าของภาษาเขาเรียกว่าอย่างไร

ความวิบัติมันลุกลามไปทั่วมานานแล้ว ก็ดูอย่าง เบียร์ยี่ห้อหนึ่ง ครับ จ้าวนี้เขาให้การสนับสนุนวงการกีฬามานาน และมีขายในต่างประเทศด้วย ซึ่งเมื่อฝรั่งมาเที่ยวเมืองไทยต่างก็เรียกหาเบียร์ไทยยี่ห้อนี้มาดื่ม ชื่อยี่ห้อของเขาคือ สิงห์ ก็ควรจะเขียน “ Sing ” ซึ่งอ่านว่า “ สิง ” หรือ “ ซิง ” แต่ดันเขียนชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “ Singha ” ซึ่งต้องออกเสียงว่า “ ซิงฮา ” หรือ “ ซิงคา ” แล้วยังบังคับให้ฝรั่งออกเสียงว่า “ สิง ” คือเขียนภาษาของเขาอย่างหนึ่ง แต่บังคับให้ฝรั่งออกเสียงอีกอย่างหนึ่ง นั่นแน่ ทำภาษาอังกฤษวิบัติได้อีก ถ้าเราคิดว่าภาษาไทยก็คือภาษาไทย แม้จะมีที่มาจาก บาลี สันสกฤต แต่ในเมื่อมันเป็นภาษาไทยไปแล้ว เวลาเขียนเป็นภาษาอังกฤษก็อย่ามามัวขุดรากเหง้าให้มันซับซ้อนอีกเลย เดี๋ยวฝรั่งจะงง

ผมค่อนข้างจะเห็นด้วยกับ อาจารย์กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตสาขาวิชาภาษาไทย ที่พยายามปรับปรุงการเขียนเสียใหม่ โดยคำในภาษาต่างประเทศนั้นถ้าจะมาผลิตในภาษาไทยก็คงได้แต่เสียงเท่านั้น ดังนั้นต้องคำนึงเรื่องการออกเสียงเป็นหลัก เอาให้ใกล้เคียงกับการออกเสียง ไม่ใช่มัวแต่อยากให้ใช้ตัวอักษรสวยๆแต่ผิดเสียงและยังไปทำลายหลักภาษาของตัวเองอีก

หลายเสียงแสดงความไม่เห็นด้วย พวกเขาคงไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็ต้องยอมให้ภาษาไทยวิบัติต่อไป อันนี้ผมว่า ถ้าอย่างนั้นก็อย่าไปสะแอ๋งกับภาษาต่างประเทศสักคำเลยจะดีกว่า เพราะผมว่าในปัจจุบันราชบัณฑิตยสถานซึ่งมีราชบัณฑิตสาขาวิชาต่างๆ 84 คน ภาคีสมาชิกสาขาวิชาต่างๆ 80 คน และมีคณะกรรมการวิชาการในสาขาวิชาการต่างๆกว่า 90 คณะยังมีเรื่องที่ต้องถกเถียงกับผมอีกเยอะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น