ตรัง - จังหวัดตรัง จัดประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก เพื่อแก้ปัญหาจราจรภายในเขตเทศบาลนครตรัง หลังได้รับการร้องเรียนจากหลายฝ่าย พบแค่ในปีเดียว มีรถทุกประเภทจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 20,000 คัน ส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัด
วันนี้ (17 มิ.ย.) นายไชยยศ ธงไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก จ.ตรัง ร่วมกันประชุมแก้ไขปัญหาจราจรภายในเขตเทศบาลนครตรัง หลังจากได้รับร้องเรียนจากหลายฝ่าย จนส่งผลกระทบให้ผู้ใช้รถใช้ถนน และประชาชนที่อาศัยในบริเวณดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน
โดยที่ผ่านมา แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามแก้ปัญหาทุกวิถีทางแล้ว แต่ไม่สามารถแก้ได้หมด ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ที่ส่งผลให้เกิดสภาพการจราจรติดขัด มาจากพฤติกรรมการใช้รถ รองลงมาคือ คนเดินเท้า และเครื่องหมายจราจรบางจุดที่ไม่ชัดเจน ทั้งนี้ ควรดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อที่จะทำให้พฤติกรรมการใช้ถนนที่ไม่ดีของคนบางส่วนลดลงไป และเชื่อว่าอาจจะทำให้การจราจรดีขึ้นมาในระดับหนึ่ง
ร.ต.อ.ภูริทัศน์ ไชยศร สว.งานจราจร สภ.เมืองตรัง เปิดเผยว่า สถานการณ์การจราจรในพื้นที่ จ.ตรัง ในปี 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 พบว่า มีรถยนต์จดทะเบียนเพิ่มขึ้น 3,1903 คัน และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น 7,000 คัน โดยเพียงแค่ในปีเดียว มีรถทุกประเภทจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 20,000 คัน ส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัด โดยเฉพาะบริเวณหน้าโรงเรียน รวมทั้งในช่วงเวลาเร่งด่วนระหว่าง 07.30-07.50 น. และ 16.00-18.00 น. ยิ่งหากในฤดูฝน การจราจรจะวิกฤตจนเป็นอัมพาต ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการจอดรถรับส่งบุตรหลานของผู้ปกครองที่จอดรถซ้อนคัน โดยมีทั้งกรณีที่คนขับลงไปจากรถ และคนขับอยู่ในรถ แต่จอดรถกีดขวางการจราจร ซึ่งทางตำรวจจราจรได้แก้ไขด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำจุดที่มีปัญหาจุดละ 3 นาย และมีการวางกรวยจราจรยาวตลอดแนว
ส่วนที่บริเวณตลาดนัดทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย ตลาดสะพานวังยาว ตลาดควนปริง ตลาดกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และตลาดท่ากลาง ทางเจ้าหน้าที่ได้เชิญเจ้าของตลาดนัดมาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยในส่วนของตลาดนัดห้องเย็นควนปริง มีการจัดระเบียบจราจร โดยขอความร่วมมือจากเจ้าของตลาดใช้ที่ดินว่างด้านหลังเพื่อจัดทำลานจอดรถประมาณ 50 คัน ซึ่งส่งผลให้การจราจรไม่ติดขัด แต่ผู้ใช้รถอาจต้องเดินไกลหน่อย ส่วนที่ยังมีปัญหาขณะนี้คือ ตลาดกองทุนฯ แม้จะทำลานจอดรถด้านหลังแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการนำรถไปจอด เนื่องจากไม่สะดวก ทำให้มีการนำรถมาจอดในทางโค้งซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่เจ้าของรถยนต์ก็จะเลื่อนรถไปจอดที่อื่น แต่พอลับหลังก็นำมาจอดที่เดิมอีก
สำหรับที่บริเวณถนนห้วยยอด ซึ่งเป็นย่านการค้า โรงแรม และสถาบันการเงิน จนมีการจราจรติดขัด ที่ผ่านมา ได้มีการนำกรวยไปตั้งกึ่งกลางถนนเพื่อทดลองเดินรถประมาณ 1-2 วัน แต่กลับมีประชาชนร้อยละ 80 ยื่นหนังสือลงชื่อคัดค้าน พร้อมได้รื้อถอนกรวยและป้ายประกาศออก จึงทำให้การแก้ปัญหาจราจรไม่สำเร็จ
และนอกจากสาเหตุหลักข้างต้นที่ทำให้การจราจรติดขัดแล้ว ยังมีภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม 5 สาเหตุด้วย คือ
1.การเคลื่อนไหวทางการเมือง
2.การประท้วงคัดค้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.กันตัง
3.การประท้วงปัญหาพื้นที่ทำกินเทือกเขาบรรทัด
4.การประท้วงราคายางพาราตกต่ำ
5.ภัยจากธรรมชาติ