ตรัง - พบแม่วัยเยาว์ของจังหวัดตรัง สูงเป็นอันดับ 1 ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง แถมบางคนยังมีอายุแค่ 10 ปี ศูนย์สุขภาพจิตจัดสื่อ และกิจกรรมลงไปยังกลุ่มวัยรุ่นหวังช่วยแก้ปัญหา
นางศุภวรรณ นิลรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ประมาณ 10 ล้านคน โดยเป็นชายหญิงในสัดส่วนที่เท่ากัน และเป็นวัยรุ่นที่อยู่นอกระบบการศึกษาประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งจากสถิติสาธารณสุขพบว่า การคลอดของวัยรุ่นในปี 2552 มีจำนวนมากถึง 122,736 คน หรือร้อยละ 16.0 ของการคลอดทั้งหมด นั่นคือ ประมาณ 336 คนต่อวัน และพบว่าอัตราการเจริญพันธุ์ของวัยรุ่นหญิงเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 31.1 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 50.1 รายต่อประชากรหญิง 1,000 คน ในปี 2552
ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากงานวิจัยหลายแห่งยังได้บ่งชี้ถึงปัจจัยหลายประการที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพของเด็กที่คลอดจากแม่วัยรุ่น นอกจากนี้ วัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย และมีคู่หลายคนจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ และการตั้งครรภ์ไม่พร้อม พร้อมทั้งยังพบเยาวชนมีแนวโน้มการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 23.74 ต่อแสนประชากร เป็นร้อยละ 34.8 ต่อแสนประชากร
สำหรับจังหวัดตรัง อัตราการคลอดบุตรของแม่วัยเยาว์ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี พบว่าในปี 2548 มีแม่วัยเยาว์ร้อยละ 12.63 และในปี 2554 มีแนวโน้มของการมีแม่วัยเยาว์เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16.30 อีกทั้งยังพบข้อมูลว่า มีอายุต่ำกว่าเพียง 10 ปีเท่านั้น ทำให้จังหวัดตรังเป็นอันดับ 1 ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ที่มีการคลอดบุตรของแม่วัยเยาว์ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี
ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์สุขภาพจิตจังหวัดตรัง เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพจิต และป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ได้เห็นความสำคัญของปัญหา และเพื่อเป็นการสร้างแกนนำในการสร้างค่านิยมด้านเพศที่เหมาะสม ทั้งแกนนำวัยรุ่นในสถานศึกษา และแกนนำอาจารย์ จึงได้จัดทำกิจกรรมสื่อสารผ่านกลุ่มวัยรุ่นที่มีวัยใกล้เคียงกัน จำนวน 12 รุ่นๆ ละ 60 คน โดยใช้สื่อ และกิจกรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตทางเพศของวัยรุ่น เพื่อสร้างการถกเถียงตั้งคำถาม และเรียนรู้ถึงบริบทอันนำไปสู่การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์