xs
xsm
sm
md
lg

รพ.หาดใหญ่แตกแถว! ออกโรงหนุน P4P แจงเป็นธรรม และดีต่อบุคลากรทั้งระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผอ.โรงพยาบาลหาดใหญ่ ออกโรงหนุนนโยบายจ่ายค่าตอบแทน P4P ท่ามกลางการคัดค้านของชมรมแพทย์ชนบท และโรงพยาบาลชุมชน 7 จังหวัดใต้ตอนล่าง แจงส่งผลดีต่อบุคลากรสาธารณสุขทั้งระบบ ยันเป็นธรรม และส่งผลดีกว่าระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย

เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นพ.กุลเดช เตชะนภารักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ นำทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรออกมาแสดงพลังสนับสนุนนโยบายจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือ “P4P” (Pay for Performance) ตามประกาศฉบับที่ 8 และ 9 ของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้กับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

นพ.กุลเดช เตชะนภารักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ กล่าวว่า การจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือ P4P เป็นการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่บุคลากรของโรงพยาบาลที่ผันแปรตามผลการปฏิบัติงาน ทั้งในด้านปริมาณ และคุณภาพของงาน ซึ่งถือว่ามีความเป็นธรรมแก่บุคลากรในทุกตำแหน่งงาน และดีกว่าการใช้ระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแบบเก่าตามประกาศฉบับที่ 4 และ 6 ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลชุมชนที่ปริมาณงานมีไม่เท่ากัน

สำหรับการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่บุคลากรของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตามนโยบาย P4P นั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ เงินเดือน และเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งจ่ายตามประสบการณ์การทำงาน และความเชี่ยวชาญของกำลังคน ต่อมา เป็นเงินสำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ และวิชาชีพขาดแคลนและจำเป็น เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้มีกำลังคนทำงานในพื้นที่พิเศษ และอยู่ในระบบราชการ สุดท้ายเป็นเงินค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือ P4P ซึ่งจะจ่ายให้ตามผลการปฏิบัติงานจริงของบุคลากร ทั้งปริมาณ และคุณภาพ เพื่อเป็นการสร้างขวัญ และกำลังใจให้มากยิ่งขึ้น

ส่วนกรณีที่ชมรมแพทย์ชนบท และโรงพยาบาลชุมชน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ออกมาคัดค้านนโยบายดังกล่าวนั้น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ กล่าวว่า เป็นสิทธิที่จะกระทำได้ แต่โดยส่วนตัวคิดว่านโยบาย P4P น่าจะมีความเป็นธรรม และส่งผลดีกว่าระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแบบเก่า เนื่องจากสามารถที่จะกระจายรายได้ออกไปให้แก่โรงพยาบาลชุมชน และแพทย์ชนบทได้มากขึ้น ลดปัญหาการกระจุกตัวของบุคลากรทางการแพทย์ที่แย่งกันเข้าทำงานในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในตัวเมือง อีกทั้งยังส่งผลดีต่อประชานที่มารับบริการของโรงพยาบาล จากการที่แพทย์ฝีมือดีจะกระจายตัวออกไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่รอบนอก รวมทั้งในพื้นที่เสี่ยงอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มากขึ้น

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น