ไฟดับทั้งภาคใต้ ไฟฟ้าถ่านหินหัวไทร “ปรากฏการณ์เผาป่าล่าเนื้อ”
โดย... นักข่าวชายขอบ
“โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน” ถูกพูดถึงมากขึ้นเป็นทวีคูณหลังจากปรากฏการณ์ไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้ ดับลงเมื่อหลายวันก่อน จะดับอย่างไร... เป็นเพราะขัดข้องทางเทคนิค บกพร่องโดยสุจริต หรือเป็นเพราะลมฟ้า ลมฝน ฟ้าดินจะพิโรธอย่างไร สุดแท้แต่จะมีเหตุผลมาอ้างจากผู้ที่รับผิดชอบ แต่ยังไม่เห็นความรับผิดชอบจากผู้ใด เสนาบดีผู้ดูแลพลังงานของบ้านเมืองนี้มีหน้าที่บริหารกำกับดูแลควรที่จะรับผิดชอบ ยังหาความรับผิดชอบไม่ได้ หากเป็นประเทศญี่ปุ่นไม่แคล้วทำฮาราคีรีตัวเอง เพื่อแสดงความรับผิดชอบให้สมชายชาติซามูไร หรือประเทศที่สำนึกไม่หนาเขาคงลาออกรับผิดชอบที่เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางไปค่อนประเทศ
แต่นี่บังเอิญอยู่ในประเทศไทย จึงไม่รู้จะหาความรับผิดชอบจากไหนได้ นอกจากประชาชนที่ต้องรับผิดรับชอบกันเอาเอง หรือหากจะถามหา คงต้องไปถามหากับสากกะเบือในครัวคงจะได้คำตอบอยู่บ้างกระมัง
โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ดูเหมือนว่าจะเป็นอีกหนึ่งแหล่งที่ถูกพูดถึง ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระเหี้ยนกระหือรือที่จะสร้างโรงไฟฟ้าที่นี่ให้ได้ โดยอ้างถึงประโยชน์ของส่วนรวม ประโยชน์ของชาติ ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย แต่คำตอบที่ชาวบ้านในพื้นที่ถามกลับไม่เคยได้คำตอบ
ตามแผนพัฒนาพลังงาน 2010 หรือ PDP.2010 ปัจจุบันน่าจะโยกแผนไปที่แผน PDP.2012 แต่เนื้อหาสาระไม่ได้หนีกันไปมากมาย ยังคงพูดถึงแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าผ่านโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินมากกว่า 10 โรง โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อีกราวอย่างน้อย 2 โรง หนึ่งในนั้นคงจะเป็นที่จังหวัดชุมพร ที่จะโชคดีมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในพื้นที่ แต่ทั้งหมดทั้งมวลยังคงอยู่ในกระดาษ ขณะที่นายช่าง กฟผ.รุ่นแล้วรุ่นเล่าที่เข้าอบรมเรื่องนิวเคลียร์ เกษียณไปแล้วก็มาก โรงไฟฟ้านี้ยังไม่เห็นหน้าเห็นหลัง
แต่ที่แน่ๆ ไฟฟ้าถ่านหินง่ายที่สุด อย่างน้อยในตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ลำดับแรกๆ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หมายมั่นจะปักเสาเข็มก่อสร้างให้ได้ในอนาคตอันใกล้ พร้อมๆ กับโรงไฟฟ้าในจังหวัดกระบี่ แม้ว่าชาวประมงพื้นบ้านที่ทำมาหากินอยู่ในแถบชายฝั่งเกาะเพชร ทำมาหากินสืบทอดวิถีชีวิตและภูมิปัญญามาหลายชั่วอายุคน จะเป็นกำลังหลักในการต่อต้านคัดค้าน รวมทั้งแนวร่วมชาวหัวไทรอีกไม่น้อยที่จะเห็นพลังของพวกเขาในอีกไม่ช้าไม่นาน
เขาต้องการเพียงแค่สิทธิในการเลือกใช้ชีวิตเช่นบรรพบุรุษกับธรรมชาติท้องทะเลที่มีทรัพยากรหลากหลายหล่อเลี้ยงชีวิตมายาวนาน พวกเขาต้องการเช่นนี้ ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่จะมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเขา แล้วเอาประโยชน์ไปใช้เพื่อใคร คนเหล่านี้อาจไม่มีนามสกุลใหญ่โต ร่ำรวยหมื่นล้าน แสนล้าน ที่สั่งได้ทุกอย่าง แต่ในเมื่อพวกเขาเป็นมนุษย์ เป็นพลเมืองไทย มีชุมชนที่อยู่อาศัยมาแต่บรรพบุรุษ เขาควรที่จะมีสิทธิในการเลือกสิทธิในการดำรงชีวิต
ส่วนทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่มีกองหน้าหัวหมู่ทะลวงฟันในนามศูนย์ข้อมูลการพัฒนาพลังงานไฟฟ้านครศรีธรรมราช กองหน้าที่จะมาเตรียมการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ พยายามที่จะสร้างความเข้าใจด้วยการให้ข้อมูลถึงข้อดีของโรงไฟฟ้าถ่านหินชนิดนี้ที่นับว่าเป็นพลังงานสะอาด ไร้มลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีผลกระทบ ขั้นตอนการทำงานของเขายังคงยืนยันแค่ 7 ขั้นตอน และทุกอย่างยังอยู่ในขั้นตอนแรก และขั้นตอนที่ 2 คือ การให้ข้อมูลความรู้ และกำลังเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 คือ การเข้าศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จากการเสนอของผู้นำท้องที่ จำนวน 38 คน ที่ได้ยกขบวนไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ชุมชนสัมผัสได้โดยตรงแม้ว่าโรงไฟฟ้าจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม คือ ความแตกแยกของชาวบ้าน ของชุมชน ด้วยวิธีการแบ่งแยกชุมชนให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสนับสนุนให้มีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นในพื้นที่ และฝ่ายที่ต่อต้าน
กลวิธีที่สำคัญคือ การสอดแทรกเป้าหมาย วิธีคิด และบางสิ่งบางอย่างที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ฝ่ายสนับสนุน ลดแลกแจกแถม หรือตอบแทนด้วยการศึกษาดูงานในหลายประเทศ ทั้งแถบเอเชีย หรือแม้กระทั่งในยุโรป ต่างกรรมต่างวาระกันไป ที่ดูแล้วเกรดต่ำต้อยด้อยค่าลงมาหน่อยโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โรงไฟฟ้าจะนะ จะกลายเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานของกลุ่มนี้ แล้วแต่จะปะเหมาะช่วงไหน ด้วยจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีกับโรงไฟฟ้าถ่านหินหินสะอาด!!
ไปๆ มาๆ ฝ่ายที่สนับสนุนกลับตราหน้าฝ่ายที่เห็นต่างไปถึงข้อเสียของโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นคนนอกพื้นที่ ค้านทุกเรื่อง ไม่ต้องการพัฒนา กลายเป็นศัตรูกันไป ทั้งที่เห็นหน้าค่าตากันอยู่ตั้งแต่วัยเด็ก จนบางคนแก่กันจวนจะล้มหายตายจากกันไปแล้วก็ตาม
หลายครั้งที่มีการถามเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ บนเวทีต่างๆ เพียงแค่ไม่กี่คำถามจากความจริงใจที่พอมีภูมิรู้อยู่บ้างของชาวบ้าน และชาวประมงที่กังวลถึงวิถีชีวิตจะเปลี่ยนไปชั่วลูกชั่วหลาน เขาเป็นห่วงว่าโรงฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตถ์ จะต้องใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ฝั่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ตอบไม่ได้ หรือไม่อยากตอบ เป็นอาการที่อธิบายความได้อยู่ในที
“บังหมาด” ผู้เฒ่าชาวประมงคร่ำหวอดกับทะเลมาตลอดทั้งชีวิตบอกว่า “บังเคยถามเขาว่าถ่านหินหลายหมื่นตัน หรือนับแสนตัน ที่รอเข้าสู่กระบวนการเผาที่มีอยู่ตลอดเวลานั้น จะกองอย่างไร? ตากฟ้าตากฝนหรือไม่? ต้องรดน้ำวันละครั้งใช่หรือไม่? ฝนที่ตกลงมา น้ำที่รดลงไปจำนวนมหาศาล พาตะกอน พาสารในถ่านหินออกมาจะไหลไปไหน? คำตอบที่ได้บ้างก็เงียบ บ้างก็บอกว่ากำลังศึกษา บางคนถึงกับตอบไม่ถูกไปเลย ผมตอบแทนได้เลย มันจะไหลไปได้ 2 ทางคือ ทะเล หรือไม่ก็ทุ่งนา!!!”
แล้วผมยังถามว่า สะพานที่ยื่นไปรับถ่านหินจากเรือในทะเลนั้น มันหมุนเข้ามาหาฝั่งที่กองถ่านหินตลอดทาง 5 กิโลเมตร 7 กิโลเมตร ฝุ่นผงที่มากับถ่านหินจะทำอย่างไร มันจะไปไหน? เขาเงียบ ผมตอบให้อีกว่ามันก็ลงทะเลนั่นแหละ!! ไม่นับรวมกับผลกระทบอีกสารพัด
“แล้วทีนี้ชาวบ้าน ชาวประมง คนจนๆ เช่นพวกเราจะทำอย่างไร อาหารการกิน ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์หน้าอ่าวที่นี่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ หากินได้ทุกวัน ทะเลเป็นแหล่งทำกินที่เดียวของเรา เราจะทำอย่างไร
เขาก็หาคำตอบมาให้ไม่ได้ พูดได้แค่ว่าเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ผมคิดว่ามันไม่เป็นธรรม ไปสร้างโรงไฟฟ้าข้างบ้านผู้ว่าการไฟฟ้าฯ ไม่ก็บ้านนายกรัฐมนตรี ไปเลยจะเอาไหม!!” เป็นการสะท้อนจากผู้เฒ่าพรานแห่งท้องทะเลหัวไทร
นอกจากเสียงสะท้อนจากพื้นที่แล้ว อย่าลืมว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้ามีมหาศาลตามมา นอกจากทฤษฎีการพัฒนาแบบข้างๆ คูๆ เมื่อมีการลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่เข้ามาคือ “พัฒนา สร้างงานสร้างอาชีพ สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ” แต่สิ่งที่เป็นเงาอยู่ด้านหลังมีมากกว่าหลายเท่า
เหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย ของใครบ้างหนอไปเปิดสัมปทานไว้รอท่า บินไปบินมาออกจะบ่อย!!!
ผลประโยชน์เรื่องที่ดินของใครหนอ!!! ที่แน่ๆ ชาวประมงพื้นบ้าน ชาวตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร ไม่ได้รับแน่ๆ แต่ที่แน่ๆ ไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้ เขากำลังเผาป่าล่าเนื้อกันต่างหาก พี่น้องเอ้ยยย!!!