ยะลา - อดีตนักการเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขานรับพูดคุยสันติภาพต่อเนื่อง พร้อมเสนอ 5 ข้อการทำงานพูดคุย เพื่อลดเหตุรุนแรง ส่งเสริมสันติสุขในพื้นที่
วันนี้ (27 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมโรงแรมปาร์ควิว อ.เมือง จ.ยะลา นายมุข สุไลมาน อดีต ส.ส.ปัตตานี พร้อมด้วยนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย พรรคมาตุภูมิ พรรคความหวังใหม่ พรรคเพื่อนเกษตรไทย พรรคดำรงไทย พรรคชาติไทย พรรคภูมิใจไทย และนักการเมืองไม่สังกัดพรรค ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมแถลงผลการสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหา และทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสถาบันสิทธิมนุษยชนและศูนย์สันติวิธี จชต.มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ดร.โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดลจัดขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหา และหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรง และส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยสรุปเนื้อหา และข้อเสนอ ข้อแรก ผู้เข้าร่วมเสวนาสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพในประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะพัฒนาไปสู่ขั้นตอนการเจรจาสันติภาพต่อไป ข้อ 2 ในขั้นตอนการเจรจาสันติภาพต่อไปนั้น ที่ประชุมขอยืนยันข้อเสนอเมื่อวันที่ 14 ม.ค.56 ความว่า ฝ่ายรัฐ และฝ่ายขบวนการควรทำความตกลงกันในเบื้องต้นที่จะหาประเทศ หรือองค์กรที่มีความเป็นกลาง มีทักษะการเป็นคนกลาง และได้รับความไว้วางใจจากทั้ง 2 ฝ่าย มาทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจา ข้อที่ 3 ความไม่เป็นธรรมเป็นต้นเหตุหนึ่งของความขัดแย้ง ความเป็นธรรมเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง โดยขณะนี้ประเทศไทยกำลังโหยหาความเป็นธรรมอยู่ ในเรื่องนี้นโยบายการบริหาร และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ได้กำหนดวัตถุประสงค์ข้อ 2 (3) ความว่า เร่งรัดการคลี่คลายเหตุการณ์ที่เป็นข้อสงสัยของประชาชน และต่างประเทศให้กระจ่างชัด
โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในกระบวนการตรวจสอบค้นหาความจริง มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนได้รับทราบ และนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว เพื่อปลดเงื่อนไขของความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งรัฐพึงดำเนินการให้เกิดผลโดยเร่งด่วน ข้อที่ 4 ที่ประชุมขอสนับสนุนการดำเนินงานของ ศอ.บต.ในส่วนที่เป็นความพยายามเข้าถึง และรับฟังเสียงของประชาชนทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และลดความหวาดระแวงในพื้นที และข้อที่ 5 การสานเสวนา พูดคุยสันติภาพเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อสังคมไทยโดยรวม ตลอดจนสังคมในพื้นที่ ควรได้รับข่าวสารข้อมูลอย่างรอบด้าน ซึ่งควรมีพื้นที่การแสดงออก โดยผ่านสื่อมวลชน และการจัดเวทีทั้งในพื้นที่ และในส่วนกลาง โดยเฉพาะเวทีสำหรับชาวมุสลิม และชาวพุทธในพื้นที่ ได้นำเสนอปัญหา ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะอย่างต่อเนื่อง