xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านกังวลดินขุดลอกทะเลสาบสงขลากว่า 18 ล้าน ลบ.ม.เอาไปไว้ไหน? ค้านทิ้งทะเล!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ประชาชนยังกังวลที่ทิ้งดินตะกอนหลังขุดลอกทะเลสาบสงขลา มีถึงกว่า 18 ล้าน ลบ.ม. ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยทิ้งในทะเล หวั่น 9 ปี โครงการเสร็จจะพัดกลับมาทำให้ตื้นเขินอีก ด้านผลการวิจัยระบุขุดลอกแล้วน้ำเค็มจะเข้าสู่ทะเลสาบ นำพันธุ์สัตว์น้ำเข้ามามากขึ้น เป็นผลดีแก่ชาวประมง

วันนี้ (20 พ.ค.) กรมเจ้าท่า ร่วมกับกลุ่มที่ปรึกษา (สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัท ซี สเปคตรัม จำกัด, มหาวิทยาลัยทักษิณ, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และบริษัท เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอลซัลแตนท์ จำกัด) ได้จัดการประชุมประชาคมระดับจังหวัด รับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน อ.เมืองสงขลา อ.สิงหนคร อ.หาดใหญ่ อ.บางกล่ำ และ อ.ควนเนียง จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลา เพื่อร่วมพิจารณาการจัดทำแผนแม่บทการขุดลอกเพื่อพัฒนา และฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาตอนล่าง และนำข้อสรุปจากการประชุมในวันนี้ดำเนินการขุดลอกอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

นายวิโรจน์ ทัฬหะวาสน์ ปลัดจังหวัดสงขลา ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ขอขอบคุณกรมเจ้าท่าที่เป็นเจ้าภาพหลักในการขุดลอกทะเลสาบสงขลา เราต้องยอมรับว่า เรื่องทะเลสาบสงขลาที่ผ่านมามีคณะวิจัยหลายชุด ซึ่งมีแนวทางในการวิจัยคล้ายๆ กัน ทั้งในเรื่องการระบายน้ำในทะเลสาบของสู่ทะเลอ่าวไทยเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม การรักษาระดับน้ำในทะเลสาบ โดยระดมความคิดเห็นจากประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบทะเลสาบสงขลา

“ทะลสาบสงขลาเหมือนกะละมังใบใหญ่ ที่มีคน 3 คนยืนอยู่ริมกะละมัง คือ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช โดยคนทั้ง 3 คนนี้ใช้ประโยชน์จากน้ำในกะละมังเดียวกัน ก่อเกิดวิถีชีวิตริมลุ่มน้ำทะเลสาบคล้ายคลึงกัน มีวัฒนธรรมประเพณีเหมือนกัน แต่ทั้ง 3 คนนี่ไม่ได้ช่วยดูแลน้ำในกะละมัง จึงเกิดปัญหาเน่าเสีย ตื้นเขิน และส่งผลกระทบต่ออาชีพ และวิถีชีวิต ชื่อทะเลสาบสงขลา แต่จริงๆ แล้วมีประชากรใน 3 จังหวัด คือ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ใช้ประโยชน์จากทะเลสาบนี้ คนในพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าวจึงต้องร่วมมือกันดูแล และแก้ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับทะเลสาบ” นายวิโรจน์ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการจัดเวทีย่อยเกี่ยวกับการจัดทำแผนแม่บทการขุดลอกเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาตอนล่าง ในพื้นที่ 5 อำเภอ รอบทะเลสาบสงขลา ผลปรากฏว่าประชาชนใน 5 อำเภอ มีความเห็นตรงกันว่า ควรจะมีการขุดลอกทะเลสาบสงขลา แต่ในรายละเอียดเรื่องการขุดลอกนั้น แต่ละอำเภอมีความต้องการแตกต่างกัน เนื่องจากการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน

ผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า สาเหตุและปัญหาของการตื้นเขินเนื่องจากการพัดพาตะกอนที่มาจากลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา คลองภูมี และคลองอื่นๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินบริเวณต้นน้ำไปใช้ในการเกษตร และการก่อสร้าง ทำให้ตะกอนผิวดินถูกชะล้าง และไหลลงสู่ทะเลสาบมากขึ้น การใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ซึ่งวางกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณทะเลสาบสงขลาตอนล่าง ทำให้กีดขวางการไหลของน้ำ ทำให้ความเร็วกระแสน้ำลดลง ส่งผลให้เกิดตะกอน นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำขวางทิศทางการไหลของน้ำด้วย

จากปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้น้ำในทะเลสาบสงขลาตื้นเขิน การระบายน้ำและตะกอนออกสู่ทะเลอ่าวไทยลดลง ทำให้พื้นที่ทะเลสาบลดลงตามไปด้วย อีกทั้งมีปัญหาในเรื่องคุณภาพน้ำที่แย่ลง ส่งผลทำให้พันธุ์สัตว์น้ำลดลง ทรัพยากรประมงลดลง ซึ่งกระทบต่ออาชีพของประชากรใน 5 อำเภอ ที่อาศัยอยู่ริมทะเลสาบสงขลา ความหลากหลายด้านชีวภาพในทะเลสาบสงขลามีน้อย ตัวอ่อนสัตว์น้ำน้อยลง จึงจำเป็นจะต้องฟื้นฟูอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ จากผลการวิเคราะห์พบว่า หากขุดลอกทะเลสาบสงขลาแล้วจะระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกัน เวลาที่น้ำขึ้น น้ำในทะเลก็ไหลเข้ามาได้มากเช่นเดียวกัน ดังนั้น การขุดลอกร่องน้ำจึงช่วยเรื่องการระบายน้ำได้ไม่มาก แต่การที่มีน้ำเค็มจากทะเลเข้ามาสู่ทะเลสาบมากขึ้นจะส่งผลดีต่ออาชีพประมง เพราะพันธุ์สัตว์น้ำต่างๆ จะเข้ามาสู่ทะเลสาบพร้อมๆ กับน้ำเค็มที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น เป็นการเพิ่มพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่ทะเลสาบ

โดยแบ่งพื้นที่การขุดลอกออกเป็น 4 แห่ง คือ
1.ร่องกลางทะเลสาบ ความลึกก้นร่องน้ำ 4 เมตร กว้าง 120 เมตร มีตะกอนกว่า 8 ล้านลูกบาศก์เมตร
2.ร่องรอบทะเลสาบ ร่องบน ความลึกก้นร่องน้ำ 3 เมตร กว้าง 60 เมตร มีตะกอนกว่า 3 ล้านลูกบาศก์เมตร
3.ร่องรอบทะเลสาบ ร่องล่าง ความลึกก้นร่องน้ำ 3 เมตร กว้าง 60 เมตร มีตะกอนกว่า 6 ล้านลูกบาศก์เมตร
4.ร่องรอบเกาะยอ ความลึกก้นร่องน้ำ 2 เมตร กว้าง 30 เมตร มีตะกอนกว่า 7 แสนลูกบาศก์เมตร

รวมตะกอนทั้งสิ้นกว่า 18 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยทั้ง 4 ร่องใช้เวลาขุดลอก 9 ปี จึงจะแล้วเสร็จ ส่วนลำดับในการขุดลอก จะขุดลอกร่องกลางทะเลสาบก่อนเป็นอันดับแรก โดยใช้เวลาประมาณ 3 ปี จากนั้นจะขุดลอกรอบทะเลสาบ ร่องล่าง เป็นระยะเวลา 2 ปี ส่วนทะเลสาบร่องบน และรอบเกาะยอ จะดำเนินการขุดไปพร้อมๆ กัน

โดยระหว่างการขุดลอกจะติดตั้งม่านดักตะกอน เพราะในทะเลสาบมีอุปกรณ์ประมงจำนวนมาก เพื่อป้องกันไม่ให้ตะกอนรบกวนอาชีพประมง สำหรับตะกอนที่ได้จากการขุดลอกนั้น จะนำมาทิ้งในที่สาธารณะบนบกประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนที่เหลืออีกกว่า 15 ล้านลูกบาศก์เมตร จะนำไปทิ้งกลางทะเล ในบริเวณที่ลึกกว่า 15 เมตร ขนานกับชายฝั่งทางทิศเหนือของเกาะหนู ให้ตะกอนดินกองรวมกันแล้วสูงขึ้นมาไม่เกิน 2 เมตร ป้องกันปัญหาเรือวิ่งแล้วชนตะกอนดิน ซึ่งจะสามารถกองตะกอนจากการขุดลอกได้กว่า 20 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ระหว่างการขุดลอกจะมีการสร้างท่าเรือชั่วคราวเพื่อขนส่งตะกอนด้วย โดยจะมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการขุดลอก เพื่อปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ตะกอนดินที่ได้จากการขุดลอก พบว่ามีความอุดมสมบูรณ์อยู่ในระดับปานกลาง เอาไปใช้ปลูกพืชได้ แต่จะมีความเค็ม สำหรับมลพิษจากตะกอนต่ำกว่าค่ามาตรฐาน คือ ปลอดภัย และโอกาสในการฟุ้งกระจายน้อย

นายศิริ ทองพูน ชาว อ.บางกล่ำ กล่าวว่า ระยะเวลาที่ใช้ในการขุดลอกซึ่งนานถึง 9 ปี อาจจะทำให้ตะกอนที่ขุดลอกไปแล้วถูกพัดพากลับมาอีก ส่วนที่ทิ้งตะกอนอยากเสนอให้นำไปทิ้งที่เหมืองร้างใน ต.ท่าช้าง อ.บางกล่ำ ซึ่งคิดว่าเพียงพอต่อการทิ้งตะกอน โดยตนไม่เห็นด้วยกับการนำตะกอนไปทิ้งในทะเล ที่สำคัญที่สุดคือ ควรประหยัดค่าใช้จ่ายระหว่างการขุดลอก

นายสถาพร อดีตอัยการกล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ เรื่องของการจ่ายค่าเวียนคืน อย่าปล่อยให้บุคคลที่ไม่มีสิทธิมาแอบอ้างขอค่าเวนคืน ต้องตรวจสอบให้รอบคอบ เพราะการวัดที่ดินบนบกนั้นทำได้ง่าย แต่ในทะเลทำได้ค่อนข้างยาก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ จึงจะสามารถช่วยจัดการเรื่องดังกล่าวนี้ให้สะดวกขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไพโรจน์ อินทรศิริสวัสดิ์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า สิ่งที่จะเสนอแนะเพิ่มเติมคือ เครื่องมือจักรกลล้าสมัย เช่นเดียวกับที่หลายท่านให้ความเห็นว่า ใช้วิธีการแบบนี้ยังไม่แล้วเสร็จ ตะกอนก็จะพัดกลับมาอีก ทางกรมเจ้าท่าต้องกล้าลงทุนใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย อีกประเด็นคือ เรื่องตะกอนที่ได้จากการขุดลอก ขอเสนอให้ประสานงานกับ อบต.ในพื้นที่ 5 อำเภอ นำดินตะกอนดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และอยากฝากคณะทำงานว่า อย่าคิดจะแก้ปัญหาความตื้นเขินของทะเลสาบเพียงอย่างเดียว แต่ต้องแก้ปัญหาทั้งระบบ บูรณาการกันทั้งหมด เวลานำเสนอให้คิดถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่จะต้องคงอยู่ด้วย

นายไพฑูรย์ ศิริลักษณ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า มีความเป็นห่วงในเรื่องของการรุกเข้ามาของน้ำเค็ม เพราะพื้นที่ตอนบนบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลาทำนาข้าว และต้องการน้ำจืดเพื่อใช้ทำนา

อ.นพรัตน์ กล่าวว่า จากการคำนวณพบว่า อีก 170 ปีต่อจากนี้ ถ้าไม่ขุดลอกตะกอน ทะเลสาบสงขลาจะกลายเป็นเนินดินเหมือนสนามฟุตบอล คำถามที่ว่าจะเอาดินตะกอนไปทิ้งที่ไหน ทั้งกรมเจ้าท่า และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งประชาชน จะต้องร่วมมือกัน ช่วยกันคิด ถ้าขุดลอกตะกอนในช่วงน้ำเค็ม ดินจะกลายเป็นดินเค็ม ผมเคยขุดลอกตะกอนที่ จ.ปัตตานี เอาดินตะกอนขึ้นมาผสมกับอย่างอื่น เพื่อให้เปลี่ยนสภาพจากดินเค็ม จากนั้นก็มีหญ้าขึ้น มีพืชอื่นๆ ขึ้น เป็นการปรับสภาพดินไปเรื่อยๆ จากนั้นพืชยืนต้นหลายชนิดขึ้น จึงอยากชี้ให้เห็นว่าตะกอนที่ขุดลอกขึ้นมาจากทะเลสาบนั้นนำเอาไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ต้องรอเวลา

นายรอเฉด โต๊ะอิหม่าม บ้านหัวเขา หมู่ 4 อ.สิงหนคร กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ใน อ.หาดใหญ่ ขุดคลองระบายน้ำขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อระบายน้ำออกจาก อ.หาดใหญ่ ส่งผลให้น้ำจืดไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาจำนวนมาก เกิดผลกระทบต่อพันธุ์สัตว์น้ำต่างๆ ที่เมื่อน้ำจืดมาก็พากันหนีออกจากทะเลสาบไป

นางพิชญา แก้วขาว กล่าวว่า จากผลการวิจัยไม่ได้ระบุว่าทะเลสาบสงขลาตื้นเขินจากการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก แต่จริงๆ แล้วท่าเรือน้ำลึกเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ทะเลสาบตื้นเขิน การขุดลอกทะเลสาบสงขลามีวัตถุประสงค์อะไรเป็นหลัก อะไรเป็นรอง ถ้าถามคนที่อยู่รอบๆ ทะเลสาบสงขลา เขาต้องการให้เอื้อประโยชน์ต่ออาชีพประมงเป็นหลัก

การขุดลอกแต่ละวิธี และเอาตะกอนไปทิ้งแต่ละที่ จะต้องชี้ให้เห็นว่าใช้ต้นทุนเท่าไหร่ มีจุดคุ้มทุนไหม แต่ละวิธีจะต้องศึกษาให้ชัดเจน ก่อนจะมาทำประชาพิจารณ์ครั้งต่อไป รวมทั้งข้อจำกัด และอุปสรรคของระบบนิเวศ จะต้องศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน และต่อยอดจากงานวิจัยที่มีผู้ศึกษาเรื่องประมงในบริเวณทะเลสาบสงขลามาก่อนแล้ว เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และคุ้มค่าต่อการขุดลอกทะเลสาบมากที่สุด เพราะทะเลสาบเป็นเรื่องของวิถีชีวิตของผู้คน เพราะฉะนั้นจึงอยากฝากไว้ว่า ผู้จัดทำโครงการจะต้องคิดเผื่อ และต้องการที่จะไปต่อสู้เพื่อนำงบประมาณมาพัฒนาทะเลสาบสงขลาด้วย ไม่ใช่แค่วิจัยให้เสร็จๆ ไปตามงบประมาณที่มี

นอกจากนี้ ยังมีผู้เสนอแนะว่า ต้องศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเครื่องมือประมงในทะเลสาบให้ละเอียด เพราะในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีแค่ไซนั่ง และโพงพาง แต่ยังมีอีกหลายชนิด รวมทั้งการเยียวยาระหว่างการขุดลอกนั้น กรมเจ้าท่าจะต้องหาอาชีพให้ชาวประมงได้ทำในระหว่างที่ขุดลอกด้วย และปราบปรามอวนรุนอย่างจริงจัง เพราะทำลายทรัพยากรในทะเลอย่างแท้จริง

ด้าน รองอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าการขุดลอกทะเลสาบสงขลาไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมด จะต้องทำเป็นระยะๆ ซึ่งต้องทำแผนแม่บทขึ้นมาก่อนว่าจะทำอะไรก่อนหลัง ทำอะไรตรงไหนบ้าง เพื่อให้เข้าใจตรงกัน และการขุดลอกนี้ไม่ได้ขุดลอกเพื่อเดินเรือ แต่เพื่อให้น้ำไหลเวียนได้ดีขึ้น และพันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มจำนวนขึ้น ดีกว่าปล่อยให้ทะเลสาบสงขลาตื้นเขินตายไปเฉยๆ สำหรับท่าเรือน้ำลึกสงขลานั้น คงมีส่วนทำให้ทะเลสาบสงขลาตื้นเขินบ้าง แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด

โครงการนี้แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ จัดทำแผนแม่บทให้ตรงกัน แล้วจัดทำรายละเอียดว่าทำอะไร อย่างไร ซึ่งมองเห็นแล้วว่าจะต้องบูรณาการกัน และดำเนินการขุดลอก

ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ผู้จัดการโครงการจัดทำแผนแม่บทฯ กล่าวว่า ถ้าไม่มีกระบวนการที่จะทำให้ 15 ตำบล ใน 5 อำเภอรอบทะเลสาบสงขลา มีจุดประสาน และเข้ามาช่วยกันดูแลตรวจสอบ ทั้งเรื่องน้ำขุ่นข้น ดินโคลนตกบนถนน หรือเรื่องเรือประมงไปชนโพงพาง เราจะทำงานได้ลำบาก ปัญหาทั้งหมดต้องการความร่วมมือของทุกฝ่ายเข้ามาร่วมมือกัน ถ้ามีการร่วมมือกันของภาคประชาชนแล้ว ภาครัฐก็จะเข้ามาให้การช่วยเหลือโดยดี ทุกเรื่องมีทางออก แต่ต้องประชุมคุยกันให้เข้าใจ

 
 


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไพโรจน์ อินทรศิริสวัสดิ์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ
รองอธิบดี กรมเจ้าท่าฯ
ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย
กำลังโหลดความคิดเห็น